posttoday

จีนส่อฟื้นตัวระยะสั้นส่งออกซบ หนี้นอกระบบสกัดโต

22 มกราคม 2556

หลังตามลุ้นชนิดไม่ให้คลาดสายตาอยู่หลายเดือน ในที่สุดนักลงทุนทั่วโลกก็เริ่มยิ้มออกอีกครั้ง

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

หลังตามลุ้นชนิดไม่ให้คลาดสายตาอยู่หลายเดือน ในที่สุดนักลงทุนทั่วโลกก็เริ่มยิ้มออกอีกครั้ง เมื่อ “จีน” ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก แสดงให้เห็นสัญญาณการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง โดยที่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายคาดหวังว่าเศรษฐกิจจีนน่าจะกลับมาโตได้ถึง 8%

หลักฐานก็คือตัวเลขการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งบ่งชี้ถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ 7.9% จากระดับ 7.4% ในไตรมาสก่อนหน้า และยังเป็นตัวเลขที่ดีกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์หลายสำนักก่อนหน้านี้ที่คาดการณ์ว่าจีดีพีในไตรมาสสุดท้ายของปี 2555 ของจีนจะโตเพียง 7.8%

ขณะเดียวกัน ยอดค้าปลีกในเดือน ธ.ค. ยังเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 15.2% จาก 14.9% ในเดือน พ.ย.ก่อนหน้า โดยแสดงให้เห็นว่ากำลังการบริโภคภายในประเทศจีนเริ่มจะฟื้นกลับมาแข็งแกร่งขึ้นอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม สัญญาณบวกทางเศรษฐกิจข้างต้นกลับไม่ช่วยให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์เบาใจได้มากสักเท่าไรนัก เนื่องจากสัญญาณการเติบโตดังกล่าวของแดนพญามังกรแห่งนี้ยังคงแฝงไว้ด้วยความเคลือบแคลง

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ เหล่านักเศรษฐศาสตร์ยังคงกังขาว่าสัญญาณการกระเตื้องขึ้นของการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนที่เกิดขึ้นนี้ จะเป็นของจริงที่ยั่งยืนยาวนานหรือเป็นเพียงแค่ของชั่วครั้งชั่วคราวที่เป็นผลมาจากแรงผลักดันจากภาครัฐ

เพราะปริมาณความต้องการสินค้าของจีนในตลาดต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำจากภาวะซบเซาของตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐและยุโรป ทำให้ภาคส่งออกซึ่งเป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจจีนไม่น่าจะดีกว่าปีก่อนหน้า ขณะที่รัฐบาลจีนเองก็ยังไม่มีการปฏิรูปเพื่อพึ่งพาการบริโภคภายในมากนัก

เพราะปริมาณการลงทุนซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 50% ของจีดีพีประเทศจีน ยังคงมาจากภาครัฐมากกว่าภาคเอกชน ทำให้น่าวิตกว่าหากแผนอัดฉีดของรัฐบาลซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดในปีนี้ยุติลง อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังชะลอตัวลงได้

และเพราะรัฐบาลจีนมีแนวโน้มเผชิญหน้ากับข้อจำกัดในการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ เนื่องจากปัญหาหนี้นอกระบบและหนี้ในรัฐบาลท้องถิ่น รวมถึงปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้รัฐบาลจำเป็นต้องหันมาใช้นโยบายคุมการเงินอย่างเข้มงวดมากขึ้น เพื่อระวังปัญหาเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ยอมรับว่า ภาคการส่งออกของจีนซึ่งคิดเป็น 1 ใน 4 ของจีดีพีจีนยังคงเผชิญหน้ากับความเสี่ยงที่ตลาดส่งออกหลักอย่างยุโรปและสหรัฐยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่

เฟรยา บีมิช นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทวิจัยลอมบาร์ด สตรีต ระบุว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของทั้งสองภูมิภาคที่เงียบเชียบทำให้เศรษฐกิจจีนปี 2556 เต็มไปด้วยความเสี่ยงและความไม่แน่นอน แม้ว่าตัวเลขส่งออกในไตรมาสสุดท้ายของปี 2555 จะเพิ่มขึ้นมากถึง 14% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และเหนือกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ก่อนหน้าว่าการส่งออกปีที่แล้วของจีนจะเพิ่มขึ้นจากปี 2554 เพียง 4% เท่านั้น

สำหรับด้านการลงทุนของจีนนั้น บรรดาผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักต่างเห็นตรงกันว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจจีนส่วนใหญ่ในขณะนี้ล้วนมาจากการขับเคลื่อนของรัฐบาลส่วนกลางเป็นหลัก ทำให้อัตราการขยายตัวในปีนี้ของจีนไม่น่าจะเกินครึ่งปีแรกของปี 2556 นี้

เสียนฟาง เหริน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากไอเอชเอส โกลบอล อินไซต์ แสดงความเห็นผ่านสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี ว่า เมื่อพิจารณาจากดัชนีต่างๆ ที่บ่งชี้ถึงการขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน เช่น ตัวเลขค้าปลีก การส่งออก ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (พีเอ็มไอ) หรือดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ตัวเลขทั้งหมดไม่ได้แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างแท้จริงของจีนแม้แต่น้อย

ความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากไอเอชเอสข้างต้นสอดคล้องกับความเห็นของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่ระบุว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนค่อนข้างอู้ฟู่ในระยะสั้นๆ โดยที่การฟื้นฟูโดยรวมตลอดทั้งปี 2556 นี้จะไม่หนักแน่นแข็งแกร่งเพียงพอที่จะฉุดเศรษฐกิจของจีนให้เติบโตได้อย่างมั่นคงยั่งยืน

หรือสรุปได้ว่า หากหมดโปรโมชันหรือถึงกำหนดสิ้นสุดแผนกระตุ้นของรัฐบาลเมื่อไร การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะลดลงทันที

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือกรณีนโยบายอัดฉีดเงินของรัฐบาลจีนที่ประกาศใช้เมื่อเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว ด้วยปริมาณเงินที่สูงถึง 1.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 45 ล้านล้านบาท) โดยมุ่งลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทั้งหลาย

ทั้งนี้ แน่นอนว่าด้วยจำนวนเงินมหาศาลที่อัดฉีดลงไป ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างของจีนย่อมลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้ แต่โครงการที่หายใจได้โล่งส่วนใหญ่ก็คือโครงการก่อสร้างที่ดำเนินการไปแล้ว ขณะที่โครงการใหม่ๆ มีแนวโน้มว่าจะหยุดชะงัก เพราะรัฐบาลจีนไม่มีความสามารถที่จะให้ทุนสนับสนุนเพียงพอ

การคาดการณ์ข้างต้นไม่ได้เกินเลยจากความเป็นจริงแม้แต่น้อย เพราะในขณะนี้ธนาคารกลางจีน (พีบีโอซี) ได้เริ่มจำกัดการให้เงินกับบรรดารัฐบาลท้องถิ่นภายในประเทศเรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ปล่อยให้รัฐบาลท้องถิ่นกู้ยืมเงินเพิ่มมากขึ้นในปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นถึง 148% หรือคิดเป็นมูลค่า 1.02 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.06 ล้านล้านบาท) เมื่อเทียบกับปี 2554

นอกจากประเด็นเรื่องของปัจจัยการเติบโตที่การลงทุนไม่ได้มาจากภาคเอกชนแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นความไม่ยั่งยืนของเศรษฐกิจจีนก็คือปัญหาการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินนอกระบบ ซึ่งปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยข้อมูลจากบริษัทวิจัยบีบีวีเอ แสดงให้เห็นว่ากิจการของสถาบันการเงินนอกระบบหรือธนาคารเงาเหล่านี้ขยายตัวมากขึ้นในปี 2555 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการที่บริษัทด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และรัฐบาลท้องถิ่นหันมาใช้บริการมากขึ้น

จางจื้อเหว่ย หัวหน้านักวิเคราะห์จากธนาคารโนมูระ คาดการณ์ว่า สถานการณ์ข้างต้นจะกลายเป็นข้อจำกัดให้รัฐบาลจีนไม่สามารถใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างดุเดือดมากนักในปีนี้ เนื่องจากต้องยกระดับนโยบายทางการเงินให้เข้มงวดมากขึ้น เพื่อควบคุมความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อและจากหนี้ของธนาคารเงาเหล่านี้

ยิ่งไปกว่านั้น ยังไม่นับรวมปัจจัยเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในหมู่ประชากรจีน ซึ่งยังคงถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน โดยความเหลื่อมล้ำดังกล่าวเป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์มองว่าอาจส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้ได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับแผนการของภาครัฐที่พยายามจะลดการพึ่งพาการส่งออก

เรียกได้ว่า แม้จะมีข่าวดีสัญญาณบวกรับต้นปี แต่ปัจจัยแนวโน้มภาคการส่งออกที่ยังไม่กระเตื้อง การลงทุนจากภาคเอกชนไม่คืบ และปัญหาหนี้นอกระบบจำนวนมหาศาล การเติบโตของจีนในระยะยาวจึงยังคงเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังและจับตามองต่อไปอย่างใกล้ชิด