posttoday

เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.วัดบารมี "โพล"

28 มกราคม 2556

ผ่านโค้งแรกไปแล้ว สำหรับศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทันทีหลังจากสมัครและได้เบอร์ไปใช้หาเสียงเลือกตั้ง

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

ผ่านโค้งแรกไปแล้ว สำหรับศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทันทีหลังจากสมัครและได้เบอร์ไปใช้หาเสียงเลือกตั้ง ผู้สมัครทั้งจากพรรคใหญ่และผู้สมัครอิสระ ต่างขับเคี่ยวตะลุยหาเสียงอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นการลงพื้นที่พบปะประชาชนในโซนต่างๆ พร้อมสร้างจุดสนใจด้วยการขับรถเมล์ ขี่จักรยาน ทำขนม ฯลฯ แบบไม่ยอมน้อยหน้ากัน

นอกจากนี้ ยังแข่งขันกันในด้านนโยบายที่ต่างฝ่ายต่างงัดเอาชุดนโยบายทั้งประชานิยม ไม่ประชานิยม ออกมาประกาศลด แลก แจก แถม ซื้อใจคนกรุงชนิดที่ไม่รู้ 4 ปีข้างหน้าจะทำกันได้หมดหรือไม่

แต่ที่น่าสนใจเวลานี้คือ “ผลโพล” ที่ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว “พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ” อดีตรอง ผบ.ตร. และอดีตเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่ลาออกมาสวมเสื้อ “เพื่อไทย” ท้าชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. มีคะแนนออกตัวนำ “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” แชมป์เก่าจากประชาธิปัตย์ ไปแบบเฉียดฉิวเป็นครั้งแรก ในขณะที่บางโพลขยับขึ้นมาหายใจรดต้นคอ จากที่ตกเป็นรองในช่วงเวลาก่อนประกาศตัวลงสมัครรับเลือกตั้ง

เริ่มตั้งแต่ผลสำรวจของเอแบคโพลล์เรื่อง “โค้งแรกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ใครนำใครตาม” ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน กทม. จำนวน 1,766 คน ระหว่างวันที่ 2223 ม.ค. โดยระบุว่า ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ 41.8% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนวันรับสมัครที่ได้ 32.1% ขณะที่เลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ 37.6% เพิ่มจากช่วงก่อนรับสมัครที่อยู่เพียง 31.7% ส่วน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์เตมียาเวส ได้ 14.3%

เมื่อพิจารณาในรายละเอียด ทั้งบุคลิกภาพ นิสัย รูปแบบการลงพื้นที่หาเสียง ผู้สมัครที่จะแก้ปัญหาจราจรได้ดีที่สุด พล.ต.อ.พงศพัศ ได้คะแนนนำ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ทุกด้าน

สอดรับกับ “กรุงเทพโพลล์” เรื่อง “คะแนนนิยมโค้งแรกสู่การชิงชัยผู้ว่าฯ กทม.” จากการสำรวจความเห็นจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1,607 คน ระหว่างวันที่ 2123 ม.ค. ที่ระบุว่า หากวันนี้เป็นวันเลือกตั้งจะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ 23.9% เฉือนเอาชนะ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ แบบฉิวเฉียด 23.6% พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ 6.5% ขณะที่กลุ่มตัวอย่าง 42.1% ยังไม่ตัดสินใจ

ขณะที่ผลสำรวจจาก “นิด้าโพล” เรื่อง“คนกรุงฯ กับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. โค้งที่ 1” สำรวจความเห็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ระหว่างวันที่ 1719 ม.ค. จำนวน 1,500 ตัวอย่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ มีคะแนนนำ 20.60%แต่ พล.ต.อ.พงศพัศ ไล่บี้ตามมาติดๆ ด้วยคะแนน 19.13% ส่วนผู้สมัครอิสระอย่าง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้คะแนน 4.93% “สุหฤท สยามวาลา” 1.13% “โฆสิต สุวินิจจิต” 0.27% และ 52.80% ระบุว่ายังไม่ตัดสินใจ

ผลโพลที่ออกเวลานี้ ถือเป็นสัญญาณการออกตัวที่ดีของผู้สมัครหน้าใหม่อย่าง “พล.ต.อ.พงศพัศ” ซึ่งแค่โค้งแรกก็อาศัยความสดใหม่ ไล่บี้เฉือนเอาชนะแชมป์เก่าได้สำเร็จ ทั้งที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการได้เพียงไม่นาน

แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องถือเป็นเรื่องน่าหนักใจสำหรับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และพลพรรคประชาธิปัตย์ ที่ต้องพยายามปรับกลยุทธ์ทำคะแนนให้หนักขึ้นในช่วงเวลาต่อจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นการโชว์ผลงานตลอดช่วง 4 ปีในตำแหน่งที่ได้ทำมาและนโยบายที่จะทำต่อไปในอีก 4 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะกับ 10 นโยบายเร่งด่วนและ 6 มาตรการที่ประกาศไว้ว่าจะทำในช่วงการปราศรัยใหญ่ที่ลานคนเมืองเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

แม้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” รวมไปถึงแกนนำหลายคนในพรรคประชาธิปัตย์ จะออกมาปฏิเสธว่าไม่หนักใจกับผลโพลที่ตกเป็นรองในเวลานี้แต่ในทางปฏิบัติดูจะไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อที่ประชุมคณะยุทธศาสตร์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปรับแผนการหาเสียงให้เข้มข้นขึ้น

เริ่มตั้งแต่การเปิดเวที “ปราศรัยย่อย”ทุกพื้นที่ใน กทม. และ “ปราศรัยใหญ่” ลักษณะดาวกระจาย 4 มุมเมืองทุกวันศุกร์ โซน กทม.เหนือ 10 จุด กทม.ตะวันออก 1 จุด โซนธนบุรี 1 จุด และ กทม.ชั้นใน 2 จุด โดยระดม สส.เข้าไปช่วยหาเสียงในพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่วันจันทร์นี้เป็นต้นไป

รวมทั้งการเร่งชี้แจงไปถึงเรื่องที่ถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตี ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างสนามฟุตซอลล่าช้าไม่ทันตามกำหนด การต่อสัญญาบีทีเอสที่อยู่ระหว่างการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ การแก้ปัญหาน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ผลโพลที่ออกมาใช่ว่าจะสะท้อนไปถึงผลการเลือกตั้งในวันที่ 3 มี.ค.นี้ เพราะประการนี้ยังเป็นเพียงแค่ช่วงเวลาโค้งแรกของการหาเสียง ซึ่งคะแนนของผู้สมัครจากสองพรรคใหญ่ยังเรียกว่าสูสีกันมาก และยังมีเวลาอีกเกือบเดือนกว่าให้ผู้สมัครสองพรรคใหญ่ รวมถึงผู้สมัครอิสระได้เร่งทำคะแนนได้อีกนาน

ยิ่งหากไปดูรายละเอียดแล้ว ผลการสำรวจส่วนใหญ่ยังมีทิศทางตรงกัน คือ กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร ซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญต่อผลการเลือกตั้งที่มีจำนวนมากถึง 50% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ที่หากเทน้ำหนักไปทางไหน ย่อมมีอิทธิพลต่อผลการเลือกตั้งที่จะออกมาอย่างมีนัยสำคัญ

อีกทั้งผลสำรวจที่ออกมาใช่ว่าจะสะท้อนความถูกต้องได้แม่นยำเสมอไป โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. เพราะหากยังจำเมื่อครั้งการเลือกตั้งทั่วไป 2554 ในส่วนของพื้นที่ กทม. ในช่วงโค้งสุดท้ายผลการหาเสียง หลายโพลให้ “เพื่อไทย” เป็นต่อ “ประชาธิปัตย์” แต่ผลสุดท้ายคะแนนออกมาชนิดหักปากกาเซียนกันเป็นแถว เมื่อ “ประชาธิปัตย์” เอาชนะ “เพื่อไทย” 23 ต่อ 10 ที่นั่ง

อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งที่ต้องพิจารณาลึกลงไปจากผลสำรวจที่ออกมาคือรายละเอียดของกลุ่มตัวอย่างที่จะต้องดูว่ากลุ่มสำรวจนั้นสะท้อนภาพรวมของ กทม.ได้ครอบคลุมหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพ รายได้ การศึกษา ซึ่งล้วนแต่มีผลต่อความแม่นยำที่จะออกมา

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ใช่ว่าโพลจะมีผลต่อการชี้นำผลการเลือกตั้ง เพราะ “สวนดุสิตโพล” ซึ่งได้ทำการสำรวจความคิดเห็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน กทม. จำนวน 1,270 คน ระหว่างวันที่ 2426 ม.ค. โดยกลุ่มตัวอย่าง 35.89% ระบุว่า ไม่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ กทม. กลุ่มตัวอย่าง 24.69% ระบุว่า ไม่ค่อยมีผล มีเพียงแค่ 29.60% ที่ระบุว่า ค่อนข้างมีผล

จะอย่างไรก็ตาม ผลโพลที่ออกมา ค่ายไหนจะแม่นกว่ากัน จะดังหรือจะดับ จะตัดสินกันสุดท้ายที่คูหาเลือกตั้งวันที่ 3 มี.ค.นี้