อุกฤษเสนอนายกฯเร่งคลอดกม.นิรโทษ
ประธานคอ.นธ. ย้ำการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ต้องออกเป็น พ.ร.บ. เตรียมเสนอ นายกฯ-ครม.เป็นเจ้าภาพให้แล้วเสร็จในสมัยประชุมนี้
ประธานคอ.นธ. ย้ำการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ต้องออกเป็น พ.ร.บ. เตรียมเสนอ นายกฯ-ครม.เป็นเจ้าภาพให้แล้วเสร็จในสมัยประชุมนี้
เมื่อเวลา 10.00 น. นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนินธรรมแห่งชาติ หรือ คอ.นธ. แถลงว่า คอ.นธ.ได้เสนอแนวทางการ ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งการนิรโทษกรรม ใน พ.ร.บ. ฉบับที่ คอ.นธ.เสนอนี้ จะไม่เกี่ยวรวมกับกลุ่มแกนนำทุกกลุ่มทุกสี ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง และ คอ.นธ.เคยเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไปยังสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า ดังนั้น คอ.นธ.จึงได้ทำหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี ให้นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยเป็นเจ้าภาพนำเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการของรัฐสภาเป็นวาระเร่งด่วน แล้วพิจารณา 3 วาระในคราวเดียวกัน โดยจะเสนอให้ตั้ง คณะกรรมาธิการ ทั้งรัฐสภาเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า ในกระบวนการแปรญัตติ ซึ่งในขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน ก่อนที่จะส่งไปยัง วุฒิสภาพิจารณา ต่อภายใน 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะลงมติ ในวาระ 3 ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้จะใช้เวลาทั้งสิ้น 30-45 วัน ก่อนกำหนดปิดสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติในวันที่ 19 เมษายน นี้ ก็จะสามารถประกาศใช้ พรบ.ฉบับนี้ได้
ขณะเดียวกัน ในการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร จะต้องมีการประกาศรายชื่อของ แกนนำกลุ่ม สี ต่าง ๆ ที่จะไม่ได้รับผลจากการนิรโทษกรรม ของ พรบ.ฉบับนี้ด้วย ทั้งนี้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ คอ.นธ.มีด้วยกัน 6 มาตรา
นอกจากนี้ ประธาน คอ.นธ. ยังแสดงความเห็น ในข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ ที่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้ว บรรจุแนวทางนิรโทษกรรม เข้าไปในรัฐธรรมนูญฉบับ ดังกล่าว โดยเห็นว่า สามารถทำได้ แต่กระบวนการจะล่าช้า มีหลายขั้นตอนกว่า รัฐธรรมนูญ จะประกาศใช้ ส่วน ร่าง พรก.นิรโทษกรรมของ กลุ่มนิติราษฎร์ เห็นว่า แกนนำควรเสนอเป็น พ.ร.บ.จะรวดเร็วกว่า เพราะ รัฐบาลสามารถดำเนินการได้ทันที แต่หาก ออกเป็น พ.ร.ก.นั้น จะต้องผ่านขั้นตอน การลงพระปรมาภิไธยซึ่งจะใช้เวลานาน ดังนั้นเห็นว่า ทางกลุ่ม นปช.ควรต้องกลับไปทบทวน อีกครั้ง ทั้งนี้เชื่อว่า ในร่าง ของ กลุ่มนปช. ก็จะมีคนที่ไม่เห็นด้วย ออกมาคัดค้าน และส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความ ตาม ม.184 ซึ่งตนเองในฐานะที่เคยเป็น ตุลาการมาก่อน เชื่อว่า ร่าง ของ กลุ่มนปช.ก็จะไม่ผ่าน เนื่องจาก ขณะนี้อยู่ระหว่างสมัยการประชุมนิติบัญญัติ ไม่สามารถพิจารณา ออก พ.ร.บ.ได้ อย่างแน่นอน