มะกันสะดุ้งลงทุนพม่าสะดุดคว่ำบาตร ตามหลังคู่แข่ง

28 กุมภาพันธ์ 2556

ส่งสัญญาณพร้อมลงทุนในพม่าอย่างเต็มที่ สำหรับชาติมหาอำนาจอันดับ 1 ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองของโลกอย่างสหรัฐ

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ส่งสัญญาณพร้อมลงทุนในพม่าอย่างเต็มที่ สำหรับชาติมหาอำนาจอันดับ 1 ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองของโลกอย่างสหรัฐ ซึ่งยืนยันได้จากความเคลื่อนไหวล่าสุดของกระทรวงการคลังในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประกาศผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรต่อ 4 ธนาคารใหญ่ในพม่า

ไล่เรียงตั้งแต่ธนาคารเพื่อเศรษฐกิจพม่า (เมียนมาร์ อีโคโนมิก แบงก์) ธนาคารเพื่อการค้าและการลงทุนของพม่า (เมียนมาร์ อินเวสต์เมนต์ แอนด์ คอมเมิร์ซ แบงก์) ธนาคารเอเชีย กรีน เดเวลอปเมนต์ และธนาคารอิรวดี โดยอนุญาตให้ธนาคารเหล่านี้เข้าถึงระบบการเงินของสหรัฐได้

เรียกได้ว่า นอกจากจะช่วยให้บริษัทสัญชาติสหรัฐลดการเผชิญหน้ากับสารพัดข้อจำกัดต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจในพม่าแล้ว ยังช่วยให้เข้าถึงท้องถิ่น บริษัท และระบบการเงินการธนาคารของพม่าได้อีกด้วย

ขณะที่สัญญาณกระตือรือร้นพร้อมลงทุนของสหรัฐต่อมาก็คือการที่หอการค้าสหรัฐจัดทีมผู้บริหารบริษัทธุรกิจสหรัฐชั้นนำจำนวน 50 คน รวมถึงยักษ์ใหญ่อย่าง เชฟรอน เจเนอรัล มอเตอร์ส ยัม แบรนด์ส โคโนโค ฟิลลิปส์ และแคทเธอร์พิลลาร์ เดินทางเยือนพม่าเพื่อสำรวจลู่ทางโอกาสด้านการค้าการลงทุน

เพราะนับเป็นครั้งแรกที่สหรัฐส่งทีมผู้บริหารธุรกิจชุดใหญ่ไปพม่าอย่างเป็นทางการ หลังจากการเดินทางเยือนประเทศดังกล่าวครั้งประวัติศาสตร์ของประธานาธิบดี บารัก โอบามา แห่งสหรัฐเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังไม่นับรวมกับกรณีก่อนหน้าในช่วงเดือน พ.ค.ปีที่แล้ว ที่กระทรวงการคลังของสหรัฐเพิ่งจะผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรบางส่วนต่อพม่า เพื่อให้พม่าสามารถทำธุรกรรมทางการเงินเพื่อสนับสนุนโครงการด้านมนุษยธรรมและการพัฒนา ก่อนตามด้วยการประกาศผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมในเดือน ก.ค. โดยอนุญาตให้บริษัทของสหรัฐดำเนินกิจการและลงทุนในพม่าในภาคส่วนต่างๆ ได้ รวมทั้งน้ำมันและก๊าซด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น แม้จะไม่มีปริมาณเงินลงทุนที่แน่ชัด แต่เป็นที่แน่นอนแล้วว่า 8 ยักษ์ธุรกิจสหรัฐ คือ แคทเธอร์พิลลาร์, ซิตี้แบงค์, คราฟท์ ฟู้ดส์, เจเนอรัล อิเล็กทริก, ฟอร์ด มอเตอร์, เบลล์ เฮลิคอปเตอร์, ฮิวเลตต์แพคการ์ด คอร์ปอเรชั่น และ แอร์โรว์ เทคโนโลยี มีการทำสัญญาเบื้องต้นเรียบร้อยแล้วกับเอกชนของพม่า แถมครอบคลุมไปแทบจะทุกธุรกิจ ไล่เรียงตั้งแต่ด้านการบริการ พลังงาน ไฟฟ้า การคมนาคม การสื่อสาร การสาธารณสุข และภาคการผลิตพม่า

อย่างไรก็ตาม แม้สหรัฐจะออกตัวได้ค่อนข้างเร็วกว่า และแรงกว่าหลายๆ ประเทศ ในการเข้าไปหาลู่ทางโอกาสในพม่า ทว่าบรรดานักธุรกิจชั้นนำแดนลุงแซมกลับรู้สึกว่าการเข้าไปลงทุนดำเนินธุรกิจของตนเองยังคงล่าช้าและล้าหลังกว่าประเทศอื่นๆ

เช่น ในภาคการบริการอย่างโรงแรมและการท่องเที่ยวในปีที่ผ่านมา ประเทศที่เข้าไปลงทุนมากที่สุดก็คือสิงคโปร์ที่มูลค่ารวม 598 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การลงทุนจากไทยมาเป็นอันดับ 2 ที่ 236 ล้านเหรียญสหรัฐ ญี่ปุ่น 183 ล้านเหรียญสหรัฐ ฮ่องกง 77 ล้านเหรียญสหรัฐ และอังกฤษ 3 ล้านเหรียญสหรัฐ

หรือภาคโทรคมนาคม ที่เทคโนโลยีของสหรัฐไม่เป็นสองรองใคร กลับกลายเป็นว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย และนอร์เวย์ ต่างเตรียมเข้าไปจับจองขอใบอนุญาตเช่าคลื่นความถี่ของพม่าภายในปีนี้แล้ว

หรือกรณีธุรกิจโฆษณา สหรัฐก็ยังไม่ทัน เดนท์สุ บริษัทโฆษณาที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นเข้าไปเปิดสำนักงานในนครย่างกุ้ง เมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โดยยังไม่รวมกับกรณีก่อนหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ลงนามกับกระทรวงวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจพม่า เพื่อร่วมพัฒนาพื้นที่ชานเมืองย่างกุ้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา ทำให้บริษัท อิโตชู มารูเบอินิ มิตซุย และสุมิโตโม เตรียมตั้งสำนักงานเพิ่มในย่างกุ้ง และเนย์ปิดอว์

ขณะที่ภาคการเกษตรที่พม่าเปิดสัมปทานให้นักลงทุนต่างชาติเช่าพื้นที่ทำการเกษตรในตะนาวศรี และพื้นที่ทางใต้นับล้านไร่ ซึ่งมาเลเซียได้ขอสัมปทานปลูกปาล์มบริเวณชายแดนติดกับ จ.ระนองแล้วถึง 2 แสนไร่

กระทั่งกิจการที่สหรัฐเป็นเจ้าตลาดอย่างอาหารฟาสต์ฟู้ด เช่น เคเอฟซี แมคโดนัลด์ ก็ยังก้าวไม่ทัน ธุรกิจร้านอาหารที่ไม่โด่งดังมากนักของสิงคโปร์อย่าง ชูวี จูเนียร์ ครีม พัฟ ที่ได้เข้าไปตั้งร้านในพม่าเรียบร้อย

ทามิ โอเวอร์บาย รองประธานหอการค้าสหรัฐฝ่ายกิจการเอเชียระบุว่า อุปสรรคสำคัญที่ทำให้นักลงทุนสหรัฐรู้สึกโดนทิ้งไว้เบื้องหลังเป็นเพราะรัฐบาลสหรัฐยังคงกฎหมายคว่ำบาตรต่อพม่าบางส่วนเอาไว้ ก็เพื่อให้สหรัฐสามารถดำเนินการได้ทันทีหากพม่าไม่มีการปฏิรูปประเทศไปสู่ประชาธิปไตย

ขณะที่อุปสรรคชิ้นใหญ่อีกชิ้นหนึ่งก็คือบัญชีรายชื่อประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษของกระทรวงการคลังสหรัฐ เนื่องจากมีนักธุรกิจหรือผู้มีอิทธิพลชาวพม่ามากกว่า 100 คนติดโผอยู่ในบัญชีดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถติดต่อเจรจาธุรกิจกับเอกชนสหรัฐได้เต็มที่

ทั้งนี้ ข้อติดขัดต่อมาตรการคว่ำบาตรข้างต้น ทำให้นักธุรกิจสหรัฐไม่สามารถเข้าถึง หรือร่วมมือกับเอกชนท้องถิ่นได้ เพราะแน่นอนว่าหากทำเมินไม่สนใจ บริษัทกิจการของตนก็มีเหตุให้ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล เสื่อมเสียชื่อเสียงเอาได้อย่างง่ายดาย

ในที่สุดต้องยอมปล่อยให้ประเทศอื่นๆ ช่วงชิงไขว่คว้าความได้เปรียบแซงหน้าสหรัฐกันทั่วหน้า จนกระทั่ง โฮเซ เฟอร์นันเดซ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศด้านกิจการเศรษฐกิจและธุรกิจต้องให้กำลังใจด้วยการสนับสนุนให้บรรดาบริษัทต่างๆ ระดมแสดงความเห็นให้มากขึ้นเพื่อให้รัฐบาลกลางสหรัฐเข้าใจและตระหนักได้ในที่สุด ว่า มาตรการคว่ำบาตรที่ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่นี้เป็นอันตรายร้ายแรงเพียงใด

และให้ดำเนินการแก้ไขก่อนที่สหรัฐจะไม่สามารถไล่ตามประเทศอื่นๆ ได้ทัน เพราะโดนหนามที่ถือไว้เพื่อหวังกำราบพม่าตำเข้าตัวเสียเอง

Thailand Web Stat