ทบ.ยันกองทัพสั่งระงับใช้GT200นานแล้ว
ทบ.ระบุกองทัพสั่งระงับการใช้งาน GT200 นานแล้วหลังศาลอังกฤษตัดสินคนผลิตฉ้อโกง-หลอกลวง ด้านดีเอสไอเผยผลสอบพบไม่มีประสิทธิภาพ-ไม่สามารถใช้งานได้จริง
ทบ.ระบุกองทัพสั่งระงับการใช้งาน GT200 นานแล้วหลังศาลอังกฤษตัดสินคนผลิตฉ้อโกง-หลอกลวง ด้านดีเอสไอเผยผลสอบพบไม่มีประสิทธิภาพ-ไม่สามารถใช้งานได้จริง
พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก (ทบ.) กล่าวว่า กรณี ศาลอาญากลาง กรุงลอนดอน ตัดสินว่า นายเจมส์ แม็คคอร์มิค นักธุรกิจชาวอังกฤษ มีความผิดฐานฉ้อโกง หลอกขายเครื่องมือตรวจจับวัตถุระเบิดขนาดมือถือ “ ADE 651” ให้แก่กองทัพและสำนักงานตำรวจหลายประเทศทั่วโลก และยังเป็นผู้ที่ผลิตเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัย GT 200 ขายให้กับกองทัพบกไทย ปัจจุบันเครื่องGT 200 ถูกสั่งระงับการใช้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปนานแล้ว หลังจากที่มีข้อสงสัยถึงประสิทธิภาพการใช้ว่าสามารถตรวจหาวัตถุระเบิดได้จริงหรือไม่
"ทางกองทัพบก โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ในขณะนั้นจึงมีคำสั่งให้ระงับการใช้จนกว่าจะมีการพิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์ ต่อมาเมื่อผลการพิสูจน์ออกมาว่าไม่สามารถใช้การได้ ทางกองทัพก็ยอมรับทุกอย่างทำตามกระบวนการทดสอบทางวิทยาศาสตร์"พ.อ.สรรเสริญกล่าว
พ.อ.สรรเสริญกล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก คนปัจจุบันได้สั่งการเน้นย้ำให้ยุติการใช้งานเครื่อง GT 200 อีกครั้งหนึ่ง พร้อมทั้งได้มีการดำเนินการ การจัดซื้อจัดหาเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด Fidoมาทดแทน GT 200 เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ด้าน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยความคืบหน้าการสอบสวนกรณีบริษัทเอกชนจำหน่ายเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัย GT200 และ ALPHA6 ให้กับหน่วยงานรัฐจำนวน 1,358 เครื่องมูลค่า 1.13 พันล้านบาท โดยระบุว่า พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้มีสอบสวนปากคำผู้กล่าวหา พยานคณะกรรมการจัดซื้อ/คณะกรรมการตรวจรับเครื่อง GT 200 และ ALPHA 6 และพยานผู้ใช้เครื่องในแต่ละคดีรวมจำนวนประมาณ 90 ปาก เชื่อว่าเครื่องดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพและไม่สามารถใช้งานได้จริง
ประกอบกับมีรายงานผลรายงานการดำเนินงานการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัยของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้ทำการทดสอบเครื่อง GT 200 และผลรายงานการตรวจวัดประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง พบเหตุอันน่าเชื่อว่า เป็นเครื่องที่ไม่มีคุณภาพตามที่บริษัทฯกล่าวอ้าง
นอกจากนี้ยังได้รับผลรายงานของ จากสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ในประเทศไทยได้แจ้งมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษว่าขณะนี้ทั้งผู้อำนวยการบริษัท ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัย Alpha 6 และผู้อำนวยการบริษัทฯผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัย GT 200 ในประเทศอังกฤษได้ถูกหน่วยงานตำรวจในประเทศอังกฤษ จับกุมและตั้งข้อหาฉ้อโกงขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินคดีในชั้นศาล ทำให้น่าเชื่อว่าเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัย GT 200 และ ALPHA 6 ที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศอังกฤษเป็นสินค้าที่ไม่มีคุณสมบัติและประสิทธิภาพตามที่ได้มีการกล่าวอ้าง
ผลการสอบสวนเบื้องต้นน่าเชื่อว่าเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัย GT 200 และ ALPHA 6 ที่บริษัทฯเอกชนได้ขายให้กับหน่วยงานของรัฐเป็นสินค้าที่ไม่มีคุณภาพตามที่บริษัทเอกชนกล่าวอ้าง
อย่างไรก็ตามคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้มีการประชุมร่วมกับทางเจ้าหน้าที่จากประเทศอังกฤษ จำนวน 2 ครั้ง โดยทางคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษและเจ้าหน้าที่จากประเทศอังกฤษเพื่อประสานงานเพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างประสานขอความร่วมมือตามพ.ร.บ. ความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ
สำหรับหน่วยงานรัฐที่จัดซื้อเครื่อง GT 200 และ ALPHA 6 มีทั้งสิ้น 13 หน่วยงาน คือ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จังหวัดพิษณุโลก กรมการปกครอง กรมศุลกากร กรมสรรพาวุธทหารบก ตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท ตำรวจภูธรจังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดยะลา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดเพชรบุรี องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กองบัญชาการกองทัพไทยโดยศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และกรมราชองครักษ์
อนึ่งก่อนหน้านี้ศาลอาญากลางในกรุงลอนดอนของ อังกฤษได้ตัดสินว่า นายเจมส์ แมคคอร์มิค นักธุรกิจชาวอังกฤษวัย 56 ปี เจ้าของบริษัท ATSC ผู้ผลิตเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัย หลายรุ่น รวมถึง GT200 ให้กับหลายประเทศรวมทั้งไทยมีความผิดฐานฉ้อฉล 3 กระทงจากการจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดที่ใช้งานไม่ได้จริงและไม่มีพื้นฐานของหลักวิทยาศาสตร์ และอาจต้องโทษจำคุกถึง 10 ปี
คำพิพากษาระบุว่า นายเจมส์ ทราบดีว่า อุปกรณ์หลายรุ่นใช้งานไม่ได้ แต่ก็อ้างประสิทธิภาพว่าสามารถตรวจจับวัตถุระเบิดได้ทุกชนิดไม่ว่าจะอยู่ลึกลงไปใต้ดิน 1 กม. เหนือพื้นดิน 5 กม. และลึกลงไปใต้น้ำลึก 31 ม. รวมทั้งตรวจหาวัตถุอื่นๆได้ เช่น ยาเสพติด งาช้าง หรือ แม้แต่ธนบัตร แต่ปรากฏว่าในความเป็นจริง ในอุปกรณ์มีเพียงเสาอากาศ ที่คล้ายเสาอากาศวิทยุ และไม่ได้เชื่อมต่อกับวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หรือมีแหล่งพลังงานใดๆในตัวเครื่อง ซึ่งนายเจมส์สามารถทำรายได้จากการขายอุปกรณ์เหล่านี้ให้กับอิรักเพียงประเทศเดียว 6,000 เครื่องคิดเป็นเงินกว่า 40 ล้านดอลลาร์ช่วงระหว่างปี 2551-2553 บาท