สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สมเด็จครูของบรรดาศิษย์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไป
โดย...สมาน สุดโต
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปตำหนักปลายเนิน ถนนพระราม 4 คลองเตย วันที่ 28 เม.ย 2556 เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันประสูติ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
กรมศิลปากร จัดงาน สรรพศิลปสิทธิวิทยาธร : สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เทิดพระเกียรติสมเด็จครู โดยจัดสัมมนาทางวิชาการขึ้นที่สำนักหอสมุดแห่งชาติในวันที่ 2930 เม.ย 2556
ทายาทในสมเด็จฯ โดยได้รับความกรุณาจากทายาทท่านผู้ใหญ่ จะนำผลงานลายเส้นดินสอ ที่พระองค์ทรงร่างงานต่างๆ ที่เป็นต้นฉบับจริงๆ ที่ยังไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน มาจัดพิมพ์รวมเล่ม และจัดแสดงให้ชม โดยจะเปิดตำหนักปลายเนินวันที่ 2829 เม.ย ให้ประชาชนทั่วไปชม โดยเฉพาะตอนเย็นวันที่ 28 เม.ย จะมีการแสดงละครสมัครเล่นบ้านปลายเนิน ดังที่เคยแสดงมาทุกปีอีกด้วย
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงพรรณราย ประสูติเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2406 พระนามเดิม พระองค์เจ้าจิตรเจริญ ทรงเป็นต้นราชสกุลจิตรพงศ์
สมเด็จฯ ทรงศึกษาเบื้องต้น ทั้งภาษาไทย ภาษามคธ และภาษาเขมร แล้วทรงผนวชอยู่หนึ่งพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อพุทธศักราช 2427
ทรงรับราชการนับแต่เป็นนักเรียนนายร้อยในกรมทหารมหาดเล็ก เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาแล้วทรงรับราชการ และทรงพระปรีชาสามารถในหลายด้าน ดังพระเกียรติคุณปรากฏแก่คนไทย และชาวโลก ถึงขณะนี้
พระองค์เคยทรงดำรงตำแหน่งสำคัญในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ นับแต่กระทรวงกลาโหม กระทรวงโยธาธิการ กระทรวงวัง จนถึงพุทธศักราช 2452 ทรงลาออกจากราชการเนื่องจากประชวรด้วยโรคพระหทัยโต แต่ก็มิได้ทรงละทิ้งงานเสียทั้งหมด ทรงปฏิบัติงานช่างอยู่เสมอ และทรงรับเป็นกรรมการฝ่ายต่างๆ เช่น กรรมการสภาการคลัง กรรมการตรวจร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ งานของหอพระสมุดและวรรณคดีสโมสร
ต่อมาทรงกลับเข้ารับราชการอีกครั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรีทำหน้าที่ปรึกษาราชการแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นสมาชิกสภาการคลัง และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อพุทธศักราช 2476 โปรดให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ทรงสละราชสมบัติในพุทธศักราช 2477 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ก็ทรงลาออกจากราชการ
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงปฏิบัติหน้าที่ทั้งด้านการบริหารและด้านการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมอย่างยอดเยี่ยมจนได้รับการยกย่อง เป็นนายช่างใหญ่แห่งสยาม ผลงานการออกแบบที่แสดงพระอัจริยภาพของพระองค์อย่างยิ่งคือ การออกแบบพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พระอุโบสถวัดราชาธิวาส พระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ รวมทั้งอนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 และแบบพระเมรุเจ้านายหลายพระองค์ เช่น พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเมรุมาศสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระเมรุสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นต้น
งานด้านเขียนภาพต่างๆ ที่ทรงคุณค่า เช่น ภาพมัจฉาชาดกที่หอพระคันธารราษฎร์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาพร่างเรื่องเวสสันดรชาดก ที่พระอุโบสถวัดราชาธิวาส ภาพประกอบพระราชพงศาวดารสมัยอยุธยา และยังทรงออกแบบสิ่งของต่างๆ เช่น แบบธง แบบพระราชลัญจกร เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญที่ระลึก ตาลปัตรพัดรอง เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังทรงมีความรู้ความสามารถด้านดนตรี ทั้งดนตรีไทยและดนตรีสากล โดยเฉพาะดนตรีไทย ทรงเล่นเครื่องดนตรีได้หลายชนิด ทรงพระนิพนธ์เพลงไว้หลายเพลง ที่มีชื่อเสียงมากคือเพลงเขมรไทรโยค และยังมีเพลงออกทะเล เพลงมหาชัย พระนิพนธ์บทละครดึกดำบรรพ์เรื่องสังข์ทอง เรื่องคาวี เรื่องสังข์ศิลป์ชัย เป็นต้น
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพระนิพนธ์งานวรรณกรรมไว้จำนวนมากที่สำคัญ เช่น โคลงประกอบภาพจิตรกรรมพระราชพงศาวดาร โคลงประกอบเรื่องรามเกียรติ์ คราวฉลองพระนครครบร้อยปี
พระนิพนธ์ที่นักประวัติศาสตร์ต้องอ่านคือ หนังสือสาส์นสมเด็จ (1 ชุด 27 เล่ม) ที่เป็นจดหมายเวรตอบโต้กับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นหนังสือที่บรรจุไว้ด้วยสรรพวิทยาการต่างๆ ทั้งขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์
นอกจากนี้ ยังทรงมีลายพระหัตถ์ประทานความรู้แก่บุคคลต่างๆ เช่น จดหมายตอบโต้กับพระยาอนุมานราชธน ลายพระหัตถ์กราบทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่องรามเกียรติ์ เป็นต้น
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2490 พระชนมายุ 84 ชันษา ทรงเป็นต้นราชสกุลจิตรพงศ์ ต่อมาในพุทธศักราช 2506 ในโอกาสครบร้อยปีแห่งวันประสูติ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ยกย่องพระองค์เป็นบุคคลสำคัญของโลก
สุรีย์รัตน์ วงศ์เสงี่ยม รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวถึงโครงการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “สรรพศิลปสิทธิวิทยาธร : สมเด็จเจ้าฟ้าฯ นริศ” ว่าเป็นงานเทิดพระเกียรติที่สำคัญยิ่งที่ได้ประมวลสาระหัวข้อกาสัมมนาที่สะท้อนให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพด้านศิลปกรรมของพระองค์ท่านให้ครอบคลุมมากที่สุด โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านเป็นวิทยากรเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติจะอ่านบทกวีเทิดพระเกียรติสมเด็จครู ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ เลขาธิการมูลนิธินริศรานุวัดติวงศ์ ในฐานะผู้แทนราชสกุลจิตรพงศ์ จะปาฐกถาพิเศษเรื่องสมเด็จครู โดยท่านบอกแก่ผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 24 เม.ย ว่าท่านจะนำเรื่องที่เก็บไว้เป็นความลับซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัวที่เก็บไว้ในราชสกุลมาเปิดเผยด้วย
วันที่ 28 เม.ย. 2556 เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ศิษย์สมเด็จครู และผู้ที่รักในความเป็นไทยจะลืมไม่ได้ เพราะเป็นวันประสูติสมเด็จครู นายช่างใหญ่แห่งสยาม ที่ยูเนสโกยกย่องว่าเป็นบุคคล สำคัญของโลก