posttoday

รถรางของเรา เขาเหมาระบบ

29 เมษายน 2556

แม้จะยังไม่เป็นการแน่ชัดว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงที่รัฐบาลกำลังปลุกปั้นกันอย่างเอาเป็นเอาตายจะเกิดขึ้นได้ทันตามเวลาที่กำหนดหรือไม่

แม้จะยังไม่เป็นการแน่ชัดว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงที่รัฐบาลกำลังปลุกปั้นกันอย่างเอาเป็นเอาตายจะเกิดขึ้นได้ทันตามเวลาที่กำหนดหรือไม่ แต่ ณ เวลานี้ ต้องบอกว่าคนไทยเริ่มรู้จักรถไฟความเร็วสูงมากขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุด ก็รู้ว่ารถไฟประเภทนี้จะมีอัตราความเร็วที่แตกต่างอย่างสุดขั้วกับรถไฟไต่รางธรรมดาในปัจจุบัน ที่วิ่งแบบถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง

แต่เชื่อแน่ว่าหลายคนคงไม่ทันได้นึกว่า ใครหนอจะเป็นโชเฟอร์ขับรถไฟไฮโซที่รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือจะใช้งบกว่า 7.8 แสนล้าน หรือราว 39% จากกรอบวงเงินใน พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน เพื่อผุดโครงการนี้ และเนื่องจากประเทศไทยยังไม่เคยมีรถไฟความเร็วสูงมาก่อน การจะหาคนขับรถดังกล่าวจะทำได้ง่ายเหมือนหาคนขับรถเมล์หรือไม่?

วันก่อน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ชี้แจงกับนักลงทุนและนายแบงก์ญี่ปุ่นในงานลันช์ ทอล์ก ที่จัดโดยสมาคมไทยญี่ปุ่น ว่า กระทรวงคมนาคมได้วางแผนที่จะฝึกบุคลากรในประเทศขึ้นมาเพื่อรองรับกับโครงการ ซึ่งคาดว่าจะมีความต้องการบุคลากรจำนวนมหาศาล ทั้งคนขับรถ คนซ่อมบำรุง และคนดูแลระบบ โดยได้ส่งบุคลากรส่วนหนึ่งไปอบรมอยู่ในประเทศญี่ปุ่นและจีน

อย่างไรก็ตาม ในการเดินรถนั้น ไทยจำเป็นต้องให้บริษัทต่างชาติที่มีประสบการณ์มาเป็นผู้ดำเนินการ โดยคาดว่าจะเปิดให้ต่างชาติผู้เชี่ยวชาญระบบรถไฟความเร็วสูงที่สนใจ เข้ามาเสนอเงื่อนไขในปลายปีนี้ และจะพิจารณาคัดเลือกระบบใดระบบหนึ่งเพียงระบบเดียว เพื่อใช้กับรถไฟความเร็วสูงทั้ง 4 เส้นทาง

จะเห็นได้ว่า หากโครงการรถไฟความเร็วสูงสามารถคลอดออกมาได้จริงๆ แม้ตัวรถไฟ รางรถไฟ และสถานีรถไฟจะเป็นของไทย แต่การควบคุมการเดินรถยังต้องอาศัยจมูกคนอื่นหายใจอยู่ ดังนั้น แม้จะอาจจะมองว่าได้ว่าเป็นการกระจายความเสี่ยงให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามารับบริหารจัดการการเดินรถก็ตาม

จึงควรกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ผ่านการคัดเลือกต้องถ่ายทอดโนว์ฮาวการเดินรถให้ไทยเพื่อพัฒนาให้สามารถเดินรถได้เองในอนาคตที่อาจมีการขยายเส้นทางเพิ่มอีก

หากทำได้ดังนี้ จึงจะพอเบาใจได้เล็กน้อยว่า การลงทุนอาจมีความคุ้มค่าอย่างที่อ้างจริงๆ

รถรางของเรา เขาเหมาระบบ