posttoday

หญิงไทยดันอังกฤษจ่ายเงินบำนาญพุ่ง

08 พฤษภาคม 2556

หนังสือพิมพ์เทเลกราฟ ในอังกฤษ รายงานอ้างการเปิดเผยจากแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่า การพบรักทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งทำให้มีชาวอังกฤษหันไปแต่งงานกับหญิงชาวต่างชาติ รวมถึงหญิงชาวไทยมากขึ้นนั้น อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐบาลต้องจ่ายเบี้ยบำนาญสูงขึ้น ทั้งที่หญิงต่างชาติดังกล่าวไม่เคยเสียภาษีหรืออาศัยอยู่ในอังกฤษมาก่อน

หนังสือพิมพ์เทเลกราฟ ในอังกฤษ รายงานอ้างการเปิดเผยจากแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่า การพบรักทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งทำให้มีชาวอังกฤษหันไปแต่งงานกับหญิงชาวต่างชาติ รวมถึงหญิงชาวไทยมากขึ้นนั้น อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐบาลต้องจ่ายเบี้ยบำนาญสูงขึ้น ทั้งที่หญิงต่างชาติดังกล่าวไม่เคยเสียภาษีหรืออาศัยอยู่ในอังกฤษมาก่อน

ความกังวลดังกล่าวส่งผลให้รัฐบาลกรุงลอนดอนเตรียมออกกฎหมายใหม่เพื่ออุดช่องโหว่และรับประกันว่า รัฐบาลจะจ่ายเบี้ยบำนาญให้เฉพาะบุคคลที่สนับสนุนระบบประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น

จากข้อมูลของทางการพบว่า ชาวอังกฤษต้องเสียภาษีในรูปของเบี้ยบำนาญให้กับคนราว 2.2 แสนคน ที่อาศัยอยู่นอกประเทศ ซึ่งครึ่งหนึ่งของคนจำนวนดังกล่าวไม่ใช่ชาวอังกฤษและไม่เคยอาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษ

ทั้งนี้ รัฐบาลจ่ายเงินบำนาญในอัตราสูงสุดคนละ 3,500 ปอนด์ (ราว 1.6 แสนบาท) ต่อปี จนกว่าบุคคลนั้นจะเสียชีวิต คิดเป็นเงินภาษีประชาชนปีละ 410 ล้านปอนด์ (ราว 1.88 หมื่นล้านบาท) ขณะที่ระหว่างปี 20022012 จำนวนผู้ขอรับเงินบำนาญในต่างประเทศจากการแต่งงานกับชาวอังกฤษได้เพิ่มสูงขึ้นถึง 17% แล้ว

แหล่งข่าวในรัฐบาลเปิดเผยว่า บริการหาคู่ทางเว็บไซต์ที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นปัจจัยสำคัญในเรื่องนี้ โดยมีคนจำนวนมากหันไปพึ่งบริการเช่นนี้กันมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อเรื่องเงินบำนาญไปด้วย

ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังระบุด้วยว่า จำนวนคู่สมรสชาวต่างชาติที่ได้เบี้ยบำนาญมากขึ้นนั้น ยังเป็นเพราะประชาชนมีอายุยืนขึ้นอีกด้วย ขณะที่ประเด็นผู้อพยพในประเทศก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งในเรื่องนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิจารณ์ได้แสดงความกังวลกันว่า การปฏิรูปกฎหมายจ่ายเงินบำนาญอาจส่งผลกระทบต่อชาวอังกฤษบางส่วนไปด้วย โดย เดวิด เดวิส สส.จากพรรคอนุรักษนิยม กล่าวว่า การแก้กฎหมายฉบับดังกล่าวจะกระทบต่อผู้หญิงชาวอังกฤษที่ต้องออกไปอยู่ในต่างประเทศตามสามีและมีลูกในต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นการลงโทษผิดคน

ทางด้าน สตีฟ เว็บบ์ รัฐมนตรีกระทรวงการบำนาญ ยอมรับว่า กฎหมายฉบับใหม่อาจส่งผลกระทบต่อคนบางกลุ่มจริง เช่น ผู้หญิงที่ย้ายไปอาศัยและมีลูกอยู่ในต่างประเทศ รวมถึงผู้ชายที่เป็นพ่อบ้านเต็มเวลาด้วย ทว่าจะไม่กระทบกับผู้หญิงที่อยู่บ้านเลี้ยงลูกเป็นแม่บ้านเต็มเวลาในอังกฤษ

“ผู้หญิงที่อาศัยและลงหลักปักฐานมีครอบครัวในประเทศอื่น ก็ควรหาประเทศใหม่สนับสนุนเบี้ยบำนาญ ผมคิดว่าเรากำลังปกป้องคนที่สมควรได้รับการคุ้มครอง” เว็บบ์ กล่าว