posttoday

คริสต์โปรเตสแตนต์ในไทยยังมีความหวัง

10 พฤษภาคม 2556

หนังสือพิมพ์ฮัฟฟิงตัน โพสต์ ในสหรัฐ ได้ลงบทความด้านศาสนาของไบรอัน ซี สติลเลอร์ ซึ่งตั้งคำถามน่าสนใจเกี่ยวกับประเทศไทยไว้ว่า เหตุใดการเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายอีวานเจลิก จึงไม่ประสบความสำเร็จในไทยเท่าที่ควร

หนังสือพิมพ์ฮัฟฟิงตัน โพสต์ ในสหรัฐ ได้ลงบทความด้านศาสนาของไบรอัน ซี สติลเลอร์ ซึ่งตั้งคำถามน่าสนใจเกี่ยวกับประเทศไทยไว้ว่า เหตุใดการเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายอีวานเจลิก จึงไม่ประสบความสำเร็จในไทยเท่าที่ควร

หลังรับฟังความเห็นบรรดามิชชันนารีก่อนหน้านี้ และได้สังเกตเห็นเองจากการเดินทางมายังไทย ซึ่งทำให้ได้คุยกับผู้คนหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องนั้น ทำให้เข้าใจถึงเอกลักษณ์ของประเทศไทย ซึ่งต่างจากประเทศอื่นหลายด้านด้วยกัน

ประเทศไทยไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตกมาก่อน คนชาตินี้มีบุคลิกลักษณะที่ไม่ปะทะและหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ขณะที่ความภาคภูมิใจในชาตินั้นถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก โดยมีความเคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงไว้กับความเป็นชาติ ซึ่งต่างจากชาวคริสต์ที่มักจะมีความคิดกลางๆ เมื่อพูดถึงเรื่องชาตินิยม

นอกจากความเป็นชาติและสถาบันแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เติมเต็มประเทศนี้ก็คือ พระพุทธศาสนา โดยสามารถอนุมานได้ว่าคนไทยก็คือ คนพุทธ เพราะหากไม่ใช่ก็เท่ากับปฏิเสธความเป็นชาติ หรือปฏิเสธตัวตนไปด้วย

รากฐานที่แข็งแกร่งเหล่านี้ถือเป็นปราการสำคัญที่คริสต์อีวานเจลิกต้องเผชิญ โดยเฉพาะการที่คนไทยนั้นมีความยึดมั่นต่อพระพุทธศาสนา

ศาสนาพุทธไม่ได้มีความหมายอยู่แค่จำนวนวัดในทุกพื้นที่และการเข้าวัดเท่านั้น หากแต่ยังมีความหมายต่อชีวิต ความตระหนักรู้ และความกลัวในโลกของจิตวิญญาณของผู้คนอีกด้วย ทุกที่ทั่วประเทศไทยนั้นสามารถพบเห็นศาลพระภูมิอยู่หน้าบ้าน สำนักงาน บริษัท ร้านอาหาร แม้แต่แท็กซี่ก็มีการแขวนพระเอาไว้ เพื่อปัดเป่าผีสางและสิ่งชั่วร้าย สำหรับคนไทยแล้ว ศาสนาสามารถช่วยเยียวยาความกลัวเรื่องผีและวิญญาณได้

แม้ว่ามิชชันนารีจะเข้ามาเผยแผ่ศาสนาในไทยตั้งแต่ 183 ปีก่อน ทุ่มเทจิตวิญญาณกันหลายพันคนและทุ่มเงินมหาศาลหลายล้านเหรียญสหรัฐ ทว่ากลับมีชาวคริสต์อีวานเจลิกในไทยเพียง 3.7 แสนคนเท่านั้น จากประชากรทั้งหมด 65 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าเรื่องนี้จะไร้ซึ่งความหวังเสียทีเดียว การพยายามเผยแผ่ศาสนาของบางมูลนิธิก่อนหน้านี้มีผู้สนใจเข้าร่วมเป็นอย่างดี เช่น มูลนิธิเดมอส ซึ่งมีผู้ตอบรับหนังสือพลังแห่งชีวิต ในปี 2004 มากถึง 2.9 ล้านคน จากเดิมที่คาดไว้ว่าน่าจะอยู่ในหลักแสนเท่านั้น

ขณะเดียวกัน การขาดการศึกษาในพระพุทธศาสนาและความเชื่อมั่นที่เริ่มสั่นคลอนลงในปัจจุบัน ก็กำลังเปิดโอกาสต่อมุมมองความเชื่ออื่นๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ โบสถ์หลายแห่งทุกวันนี้ก็ไม่ได้ดำเนินการโดยต่างชาติอีกต่อไป แต่เป็นคนไทย ซึ่งทำให้นึกถึงรูปแบบของคริสตจักรในจีนที่มีการดำเนินการ เผยแผ่ และระดมทุนโดยคนจีนเอง ซึ่งนับเป็นแผนปฏิบัติการที่น่าสนใจอย่างยิ่งทีเดียว