posttoday

ลาดกระบังเปิดหลักสูตรระบบรางแห่งแรกในไทย

16 พฤษภาคม 2556

พระจอมเกล้าลาดกระบัง เปิดหลักสูตรระบบรางแห่งแรกในไทย เพิ่มบุคลากรผู้เชี่ยวชาญคนไทยรับการพัฒนาระบบขนส่ง

พระจอมเกล้าลาดกระบัง เปิดหลักสูตรระบบรางแห่งแรกในไทย เพิ่มบุคลากรผู้เชี่ยวชาญคนไทยรับการพัฒนาระบบขนส่ง

ศ.ดร.ถวิล  พึ่งมา อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า จากนโยบายงบประมาณด้านการคมนาคมขนส่งมูลค่า 2 ล้านล้านบาท กว่า 70% ของการลงทุน หรือ 1.3-1.4  ล้านล้านบาท  มุ่งลงทุนเรื่องระบบการขนส่งทางราง อาทิ การลงทุนในส่วนของระบบรถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนภายในกรุงเทพฯ และระบบรถไฟความเร็วสูง

ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญคือความรู้ความสามารถของผู้ดำเนินการก่อสร้างทางรถไฟในประเทศไทยมีศักยภาพไม่เพียงพอ สังเกตได้จากบริษัทเอกชนผู้รับเหมาก่อสร้างที่ยื่นซองประมูลโครงการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ ที่ถึงแม้ผู้รับเหมาที่ลงแข่งประกวดราคาจะเป็นบริษัทของคนไทย แต่ก็ยังจำเป็นต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านการขนส่งระบบรางจากต่างชาติอยู่ จึงได้มีการร่วมทุนในลักษณะของ Joint Venture เป็นส่วนใหญ่ แสดงให้เห็นถึงปัญหาของการขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ทางด้านการก่อสร้างการขนส่งระบบรางของประเทศไทย ซึ่งการที่งานพัฒนาระบบรางของไทย ต้องอาศัยความร่วมมือจากต่างชาติ ส่งผลให้งบประมาณมูลค่ามหาศาลจะรั่วไหลออกนอกประเทศเกือบทั้งหมด

"ตอนนี้ประเทศไทยขาดบุคลากรด้านวิศวกรรมระบบรางที่มีความเชี่ยวชาญเพียงพอ โดยคาดว่า ในปี 2557 – 2565 ประเทศไทยจะขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมศาสตร์ระบบราง ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด  หากยังไม่ได้รับการแก้ไข ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างในโครงการนี้จะเป็นบริษัทที่มีชาวต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด ทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมากในระยะสั้น อาทิ การเกิดภาวะการขาดดุลการค้าจากการนำเข้าวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง  หนี้สาธารณะที่ประชาชนต้องเป็นผู้แบกรับในจำนวนมหาศาล และการขาดแคลนบุคลากรผู้ดำเนินงานระบบรางในอนาคต ถึงแม้ภาครัฐจะอ้างว่าปัญหาต่างๆจะหมดไปในระยะยาว แต่ต้องใช้เวลามากกว่า 50 ปี ดังนั้นรัฐจึงควรเตรียมแผนรับมือกับปัญหาในระยะสั้นอย่างรัดกุมด้วย"  ศ.ดร.ถวิล กล่าว

อย่างไรก็ตาม สจล. ได้มีการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมขนส่งทางราง เป็นแห่งแรกในประเทศ โดยหลักสูตรดังกล่าวจะศึกษาถึงเรื่องของระบบการขนส่งทางรางทั้งหมด  ทั้งส่วนประกอบของรถไฟและราง การตรวจสอบและซ่อมบำรุง ระบบขับเคลื่อนต่างๆของรถไฟ การควบคุมและติดตามการเดินรถไฟ และระบบรถไฟความเร็วสูงที่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญในสาขานี้ โดยคาดว่าในอีกปี 4 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีผู้ที่จบหลักสูตรและเป็นวิศวกรรถไฟฟ้า วิศวกรรถไฟความเร็วสูง ที่มีศักยภาพและสามารถพัฒนาประเทศไทยด้วยฝีมือของคนไทยเอง