เริ่มแล้ว!ลดค่าโดยสารบีทีเอสอ่อนนุช-แบริ่ง

17 พฤษภาคม 2556

กทม.เริ่มแล้ววันแรก ลดค่าโดยสารส่วนต่อขยายบีทีเอสสายสุขุมวิท (อ่อนนุช-แบริ่ง) จาก 15 บาท เหลือ 10 บาท

กทม.เริ่มแล้ววันแรก ลดค่าโดยสารส่วนต่อขยายบีทีเอสสายสุขุมวิท (อ่อนนุช-แบริ่ง) จาก 15 บาท เหลือ 10 บาท

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้เดินทางไปเป็นประธานเปิดงานการลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสเฉพาะส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-อ่อนนุช จากเดิมที่จัดเก็บอยู่ที่ 15 บาทให้เหลือ 10 บาท  งานมีขึ้นในเวลา 10.00 น. (17 พ.ค.) ณ สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสแบริ่ง

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า  การดำเนินการเรื่องนี้เป็นไปตามสัญญาที่มีไว้ในช่วงหาเสียงการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ล่าสุดที่ผ่านมาเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายประชาชน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ลดการใช้รถส่วนบุคคลลง เป็นการบรรเทาปัญหาจราจรที่ต้นเหตุ

กรุงเทพมหานครได้เปิดให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทแบริ่ง-อ่อนนุช 5.25 กม.อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยเปิดให้บริการ6 สถานี ได้แก่ สถานีแบริ่ง สถานีบางนา  สถานีอุดมสุข สถานีปุณณวิถี  สถานีบางจาก และสถานีอ่อนนุช ปัจจุบันมีปริมาณผู้โดยสารวันธรรมดาเฉลี่ย 1 แสนเที่ยว/วัน วันหยุดเฉลี่ย 7 หมื่นเที่ยว/วัน

จากนั้นได้เดินทางไปยังสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยามเพื่อตรวจความคืบหน้าการติดตั้งรั้วและประตูอัตโนมัติบริเวณขอบชานชาลา(Platform Screen Door)ตามที่ได้รับความร่วมมือจากบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(บีทีเอสซี)ที่จะเร่งการติดตั้งใน 8 สถานีให้แล้วเสร็จภายในปี 2556 นี้


แหล่งข่าว เผยว่า  บีทีเอสซีได้จัดจ้างบริษัทจากประเทศสิงคโปร์มาเป็นผู้ติดตั้งระบบดังกล่าวด้วยวงเงิน 600 ล้านบาทเพื่อป้องกันการตกหล่นของผู้โดยสารลงไปในระบบรางเวลาที่มีผู้โดยสารหนาแน่นในชั่วโมงเร่งด่วน  โดยได้เลือก 8 สถานีที่เป็นสถานีที่ปัจจุบันมีปริมาณผู้โดยสารมากที่สุด คือ สถานีอ่อนนุช พร้อมพงษ์  อโศก  ชิดลม  อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สถานีสยาม ศาลาแดง และสถานีช่องนนทรี

โดยสถานีสยามจะแตกต่างจากสถานีอื่นเพราะจะติดตั้ง 2 จุด คือ จุดรอรถไฟฟ้าเส้นทางสุขุมวิท และจุดรอรถไฟฟ้าไปเส้นทางสายสีลม  และเป็นสถานีแรกที่จะทำการติดตั้งระบบดังกล่าว ทั้งนี้การติดตั้งระบบที่สถานีสยาม(เฉพาะจุดที่รอรถไฟฟ้าไปเส้นทางสายสีลม  สถานีศาลาแดง และสถานีช่องนนทรีจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ ส่วนที่เหลือจะแล้วเสร็จภายเดือนธันวาคมนี้

“ระบบPlatform Screen Door นี้นอกจากจะเป็นการกันผู้โดยสารตกลงไปในรางเพื่อความปลอดภัยแล้วนั้น ยังเป็นระบบที่เชื่อมต่อกับตัวรถไฟฟ้าทุกตู้ โดยเมื่อตัวรถไฟฟ้ามาถึงยังสถานีประตูรถไฟฟ้าจะเปิดได้ก็ต่อเมื่อมาจอดยังจุดที่ตรงกับระบบนี้ติดตั้งอยู่เท่านั้น หากไม่ตรงประตูก็ไม่สามารถเปิดได้ เจ้าหน้าที่ในแต่ละสถานีจะต้องมาใช้ระบบManualกดปุ่มเปิดประตูแทน”แหล่งข่าวกล่าว

Thailand Web Stat