ดาวเคราะห์ชุมนุม
เวลาหัวค่ำของสัปดาห์นี้ ดาวเคราะห์สว่าง 3 ดวง อันประกอบด้วย ดาวพุธ ดาวศุกร์ และดาวพฤหัสบดี จะอยู่ใกล้กันบนท้องฟ้าทิศตะวันตก แต่การสังเกตจะทำได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับสภาพท้องฟ้าว่าจะมีเมฆปกคลุมมากน้อยเพียงใด
เวลาหัวค่ำของสัปดาห์นี้ ดาวเคราะห์สว่าง 3 ดวง อันประกอบด้วย ดาวพุธ ดาวศุกร์ และดาวพฤหัสบดี จะอยู่ใกล้กันบนท้องฟ้าทิศตะวันตก แต่การสังเกตจะทำได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับสภาพท้องฟ้าว่าจะมีเมฆปกคลุมมากน้อยเพียงใด และต้องไม่มีภูเขา ต้นไม้ อาคารบ้านเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นใดบดบังเหนือขอบฟ้า
การปรากฏอยู่ใกล้กันระหว่างดาวเคราะห์ 2 ดวง เกิดขึ้นค่อนข้างบ่อย ปีหนึ่งอาจมีไม่กี่ครั้งจนถึงหลายครั้ง แต่การปรากฏใกล้กันของดาวเคราะห์ตั้งแต่ 3 ดวงขึ้นไป ที่เรียกว่าดาวเคราะห์ชุมนุม (Planetary Grouping) เกิดได้ยากกว่า โดยเฉพาะกับครั้งที่มีดาวเคราะห์สว่างที่สุดอย่างดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีมารวมอยู่ด้วย
ดาวพุธ ดาวศุกร์ และดาวพฤหัสบดี จะอยู่ใกล้กันที่สุดในช่วงต้นสัปดาห์นี้ ควรเริ่มสังเกตตั้งแต่หลังดวงอาทิตย์ตกไปแล้วราว 30 นาที ภาคกลางตรงกับเวลาประมาณ 19.10 น. ขณะนั้นท้องฟ้ายังไม่มืด แต่สลัวลงจนพอที่จะสามารถสังเกตดาวดวงที่สว่างได้
เวลานั้นดาวเคราะห์ทั้งสามอยู่เหนือขอบฟ้าทิศตะวันตกที่มุมเงยประมาณ 1015 องศา ดาวศุกร์สว่างที่สุดและเห็นได้ง่ายที่สุดในสามดวงนี้ ดาวพฤหัสบดีสว่างรองลงมา ดาวพุธสว่างน้อยที่สุด แต่ก็มีความสว่างในระดับที่ใกล้เคียงกับดาวฤกษ์ที่สว่างเป็นอันดับต้นๆ บนท้องฟ้า ดาวเคราะห์ทั้งสามอยู่ใกล้ขอบฟ้า เมฆและหมอกควันจึงเป็นอุปสรรคสำคัญ การสังเกตจากที่สูง เช่น บนภูเขา ก็น่าจะมีโอกาสเห็นได้ดีกว่า เมื่อเวลาผ่านไปดาวเคราะห์ทั้งสามจะเคลื่อนที่ต่ำลงตามการหมุนของโลก ตกลับขอบฟ้าไปภายในเวลาไม่เกิน 45 นาที จึงมีเวลาสังเกตได้ไม่นาน
ดาวพุธ ดาวศุกร์ และดาวพฤหัสบดี จะใกล้กันที่สุดในค่ำของวันที่ 26 และ 27 พ.ค. แต่เรายังสามารถสังเกตดาวเคราะห์ทั้งสามดวงบนท้องฟ้าทิศตะวันตกได้ต่อไปตลอดทั้งสัปดาห์ เมื่อเทียบตำแหน่งในเวลาเดียวกันของทุกวัน ดาวพฤหัสบดีจะเคลื่อนต่ำลงทุกวัน ทำให้สังเกตได้ยากขึ้น ส่วนดาวพุธและดาวศุกร์จะเคลื่อนสูงขึ้น
เราเห็นดาวเคราะห์ทั้งสามอยู่ใกล้กันเฉพาะในมุมมองจากโลกเท่านั้น แท้จริงแล้วดาวเคราะห์แต่ละดวงต่างก็อยู่ห่างไกลกันในอวกาศ ค่ำวันที่ 26 พ.ค. ดาวพุธอยู่ห่างโลกประมาณ 172 ล้านกิโลเมตร ดาวศุกร์อยู่ห่างโลกประมาณ 246 ล้านกิโลเมตร ส่วนดาวพฤหัสบดีอยู่ห่างโลกประมาณ 908 ล้านกิโลเมตร
ดาวพุธอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด เราจึงเห็นดาวพุธได้เฉพาะในเวลาหัวค่ำหรือเช้ามืด โดยทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์ไม่เกิน 28 องศา ช่วงนี้ดาวพุธกำลังเคลื่อนห่างจากดวงอาทิตย์มากขึ้น ทำมุมห่างกันมากที่สุดในวันที่ 12 มิ.ย. ดาวศุกร์ก็กำลังทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากขึ้นเช่นเดียวกัน ห่างกันมากที่สุดในต้นเดือน พ.ย. 2556
เราเรียกดาวศุกร์ที่เห็นในเวลาหัวค่ำว่า “ดาวประจำเมือง” และเรียกดาวศุกร์ที่เห็นในเวลาเช้ามืดว่า “ดาวประกายพรึก” ช่วงใดเห็นในเวลาหัวค่ำ ก็จะไม่เห็นในเวลาเช้ามืด กลับกันช่วงใดเห็นดาวศุกร์ในเวลาเช้ามืด ก็จะไม่เห็นในเวลาหัวค่ำ ดาวศุกร์จะเป็นดาวประจำเมืองเช่นนี้ต่อเนื่องไปถึงต้นปีหน้า
ดาวศุกร์เป็นวัตถุท้องฟ้าที่สว่างที่สุดดวงหนึ่ง หากมีเมฆลอยอยู่ใกล้ บางครั้งดูเหมือนเคลื่อนที่ เมื่อหลายปีก่อนเคยมีผู้รายงานว่าพบเห็นยูเอฟโอในประเทศไทย โดยปรากฏเป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ แต่เมื่อตรวจสอบแล้วก็พบว่าแท้จริงคือดาวศุกร์นั่นเอง
ดาวพฤหัสบดีสว่างน้อยกว่าดาวศุกร์ แต่ก็เห็นเป็นดาวสว่างเด่นดวงหนึ่งบนท้องฟ้า ดาวพฤหัสบดีมีขนาดใหญ่ที่สุด กล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายสูงสามารถเห็นดาวพฤหัสบดีมีรูปร่างไม่เป็นทรงกลม แต่มีความแป้นเล็กน้อย และส่องเห็นดาวบริวารได้หลายดวง โดยเฉพาะดาวบริวาร 4 ดวง ได้แก่ ไอโอ ยูโรปา แกนีมีด และคัลลิสโต เรียกรวมกันว่าดาวบริวารของกาลิเลโอ
หลังจากสัปดาห์นี้ เราจะมีโอกาสเห็นดาวเคราะห์สว่าง 3 ดวง โคจรมาปรากฏอยู่ใกล้กันอีกครั้งในช่วงเช้ามืดของปลายเดือน ต.ค. 2558 ซึ่งเป็นการชุมนุมกันระหว่างดาวศุกร์ ดาวอังคาร และดาวพฤหัสบดี สามารถสังเกตได้ง่ายกว่าครั้งนี้ เนื่องจากทำมุมสูงเหนือขอบฟ้ามากกว่า
หลังจากปี 2558 ดาวเคราะห์ชุมนุมแบบ 3 ดวง จะเกิดอีกครั้งในต้นปี 2564 แต่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์จนไม่น่าจะสังเกตได้ ต้องรอถึงวันที่ 20เม.ย. 2569 จึงจะเห็นดาวพุธ ดาวอังคาร และดาวเสาร์ อยู่ใกล้กันเหนือขอบฟ้าทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืด
ปรากฏการณ์ท้องฟ้า (26 พ.ค.2 มิ.ย.)
พลบค่ำหลังดวงอาทิตย์ไปแล้วราวครึ่งชั่วโมง หากท้องฟ้าเปิดเหนือขอบฟ้าทิศตะวันตกจะมีโอกาสเห็นดาวพุธ ดาวศุกร์ และดาวพฤหัสบดี ปรากฏอยู่ใกล้กัน ดาวศุกร์กำลังทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากขึ้นทุกวัน จึงจะสังเกตได้ง่ายขึ้นในเดือนถัดไป
ดาวพุธก็กำลังทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากขึ้น แต่สว่างน้อยกว่าและเห็นได้ยากกว่าดาวศุกร์ สัปดาห์นี้เป็นช่วงสุดท้ายที่เห็นดาวพฤหัสบดีบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ ดาวพฤหัสบดีกับดาวศุกร์จะอยู่ใกล้กันที่สุดในค่ำวันอังคารที่ 28 พ.ค. หลังจากนั้นดาวพฤหัสบดีจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นจนไม่สามารถสังเกตได้ ตั้งแต่กลางเดือน ก.ค.เป็นต้นไป ดาวพฤหัสบดีจะย้ายไปอยู่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืด
ทิศตะวันออกมองเห็นดาวเสาร์อยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว ดาวเสาร์จะผ่านจุดสูงสุดบนท้องฟ้าทิศใต้ที่มุมเงย 6070 องศา ในเวลา 4 ทุ่ม แล้วตกลับขอบฟ้าราวตี 4 กล้องโทรทรรศน์สามารถส่องเห็นวงแหวนของดาวเสาร์ และดาวบริวารบางดวง โดยเฉพาะไททัน ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด
หลังจันทร์เพ็ญเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สัปดาห์นี้เข้าสู่ครึ่งแรกของข้างแรม ส่วนสว่างของดวงจันทร์จะลดลงทุกวันจากสว่างเกือบเต็มดวงในต้นสัปดาห์ จนเหลือครึ่งดวงในเช้ามืดวันเสาร์ที่ 1 มิ.ย.