กปน.พัฒนาโอโซนทำน้ำประปาดื่มได้รสชาติดี
การประปานครหลวง เร่งศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาคุณภาพน้ำประปาดื่มได้ ให้รสชาติดี ด้วยการเติมโอโซน
การประปานครหลวง เร่งศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาคุณภาพน้ำประปาดื่มได้ ให้รสชาติดี ด้วยการเติมโอโซน
การประปานครหลวง ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ลงนามบันทึกข้อตกลงในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีระบบโอโซน เพื่อใช้ในกิจการประปา โดยขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนศึกษา วิจัย และออกแบบระบบโอโซนในการปรับปรุงคุณภาพน้ำ ก่อนนำร่องระบบโอซนมาใช้ปรับปรุงคุณภาพน้ำที่โรงงานผลิตน้ำประปาสามเสนเป็นแห่งแรก ภายในระยะเวลา 2 ปี และจะนำผลสำเร็จไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับโรงงานผลิตน้ำแห่งอื่นๆ เพื่อให้คุณภาพน้ำประปาบรรลุเป้าหมายของคำว่า น้ำประปายิ่งกว่าดื่มได้
สำหรับโอโซน คือ รูปหนึ่งของก๊าซออกซิเจน มีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดสีและกลิ่นที่มีอยู่ในน้ำ มีประสิทธิผลในการฆ่าเชื้อโรคได้สูงกว่าคลอรีนนับพันเท่า และยังสามารถลดปริมาณสารอินทรีย์ในน้ำลงได้อีก เป็นผลให้การใช้คลอรีนในกระบวนการฆ่าเชื้อโรค ซึ่งเป็นลำดับสุดท้ายของขั้นตอนการผลิตลดลง ส่งผลน้ำประปามีกลิ่นคลอรีนเบาบางลง นอกจากนี้ โอโซนยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นปฏิกิริยาฆ่าเชื้อโรคแล้ว จะสลายตัว ให้ก๊าซออกซิเจน ทำให้น้ำประปามีค่าออกซิเจนละลายน้ำสูงตามไปด้วย
ในปัจจุบันแนวทางการผลิตน้ำประปาสำหรับหลาย ๆ ประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลก อาทิ ประเทศในแถบทวีปอเมริกา ยุโรป รวมถึงประเทศญี่ปุ่น ได้พัฒนาไปถึงการผลิตน้ำประปาที่ใส สะอาด โดยไม่เพียงคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยต่อสุขภาพประชาชนเท่านั้น แต่ได้ยกระดับคุณภาพน้ำไปสู่ระดับ “น้ำประปาน่าดื่ม” จนถึงระดับ “น้ำประปารสชาติดี” ซึ่งจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีการปรับปรุงคุณภาพน้ำชั้นสูง หรือ Advanced Water Treatment ได้แก่ การใช้โอโซน และถ่านกัมมันต์ เข้ามาเสริมในกระบวนการผลิตน้ำที่มีอยู่
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า แม้ทางเลือกในการนำระบบโอโซนเข้ามาใช้ จะทำให้ต้นทุนการผลิตน้ำประปาเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าเดิมถึง 3 เท่า แต่ กปน. ต้องการพัฒนาขีดความสามารถในการให้บริการและพัฒนาน้ำประปาคุณภาพมาตรฐานน้ำดื่มให้สูงยิ่งขึ้น สร้างความมั่นใจ ความพึงพอใจ แก่ผู้ใช้น้ำ และผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม สู่การเป็นผู้นำระบบประปาในภูมิภาคอาเซียน สามารถรองรับการแข่งขันด้านเศรษฐกิจ บนเวที AEC ในปี 2558