ลาภมิควรได้

03 มิถุนายน 2556

การบ้านการเมืองระยะนี้หาหลักเกณฑ์ทางกฎหมายไม่ค่อยจะได้ กฎหมายกลายเป็นกฎหมู่ที่ขึ้นอยู่กับความพอใจ กฎหมายมีไว้เลี่ยง กฎหมายมีไว้เป็นเครื่องมือทำร้ายฝ่ายตรงข้าม

การบ้านการเมืองระยะนี้หาหลักเกณฑ์ทางกฎหมายไม่ค่อยจะได้ กฎหมายกลายเป็นกฎหมู่ที่ขึ้นอยู่กับความพอใจ กฎหมายมีไว้เลี่ยง กฎหมายมีไว้เป็นเครื่องมือทำร้ายฝ่ายตรงข้าม

สถาบันตุลาการในบ้านเราเป็นที่เคารพ ได้รับการยอมรับตลอดมา อันเนื่องมาจากบรรพตุลาการท่านอยู่ในหลักเกณฑ์ ยึดถือกฎหมายเป็นหลักในการพิจารณาพิพากษาคดี การประพฤติปฏิบัติตัวของตุลาการสมัยก่อนก็อยู่ในระเบียบทั้งในและนอกเวลาราชการ ตุลาการสมัยก่อนท่านอยู่อย่างสมถะ ไม่ใช่เข้ามาเป็นตุลาการเพื่อหวังความร่ำรวย สถาบันตุลาการจึงเป็นที่ยอมรับ แม้การตัดสินอาจไม่ถูกใจบ้าง ก็ยอมรับได้ว่าเป็นการพิพากษาคดีไปตามความเห็นโดยสุจริต ที่ผ่านมาจึงไม่มีการด่าศาล ไม่มีการประท้วงหน้าศาล ไม่มีการชุมนุมกดดันศาล

แต่เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2540 ออกแบบให้ผู้พิพากษาเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ก็เลยโดนการเมืองเล่นงานเอา เข้าตำรา เล่นกับหมา หมาเลียปาก

ทุกวันนี้ กฎหมายดูจะไม่ศักดิ์สิทธิ์เหมือนแต่ก่อน ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายทุกวันนี้ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจใช้กฎหมายว่ารับใช้ฝ่ายการเมืองที่ถืออำนาจอยู่หรือไม่

DSI คงเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบัน

วันนี้ เรามาดูกฎหมายเรื่องลาภมิควรได้ ตามชื่อที่ตั้งไว้ดีกว่าครับ

ขึ้นชื่อว่า ลาภ ทุกคนย่อมอยากได้ แม้บางครั้งจะเป็นทุกขลาภ ก็ยังมีบางคนอยากได้ แต่ทำไมกฎหมายจึงบัญญัติให้มีเรื่องลาภมิควรได้ไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ลาภมิควรได้ในทางกฎหมายนั้น หมายถึง การที่บุคคลใดได้ลาภมาโดยไม่ควรจะได้ ผลจะเป็นอย่างไร

มาตรา 406 บัญญัติว่า “บุคคลใดได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใด เพราะการที่บุคคลอีกคนหนึ่งกระทำเพื่อชำระหนี้ก็ดี หรือได้มาด้วยประการอื่นก็ดี โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเสียเปรียบไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นจำต้องคืนทรัพย์ให้แก่เขา อนึ่ง การรับสภาพหนี้สินว่ามีอยู่หรือหาไม่นั้น ท่านก็ให้ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้ด้วย

บทบัญญัติอันนี้ ท่านให้ใช้บังคับตลอดถึงกรณีที่ได้ทรัพย์มาเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมิได้มีได้เป็นขึ้น หรือเป็นเหตุที่ได้สิ้นสุดไปแล้วนั้นด้วย”

ท่านที่ไม่ใช่นักกฎหมายอ่านตัวบทกฎหมายแล้วเข้าใจกันไหมครับ

ความจริงกฎหมายใช้ภาษาที่สละสลวย ครอบคลุม และเป็นภาษาที่งดงามนะครับ ถ้าท่านอ่านอย่างตั้งใจ ท่านก็จะเข้าใจความหมายของกฎหมายได้ไม่ยาก แต่ถ้าตั้งข้อรังเกียจตั้งแต่ก่อนอ่านว่า กฎหมายเข้าใจยาก ท่านอ่านอย่างไรก็จะไม่เข้าใจกฎหมาย

ลาภมิควรได้ เป็นเหตุให้เกิดหนี้ตามกฎหมายประเภทหนึ่งที่เรียกกันในภาษากฎหมายว่า บ่อเกิดแห่งหนี้ ลาภมิควรได้ เป็นการได้ทรัพย์สินของผู้อื่นมาโดยไม่มีเหตุอันใดที่ควรจะได้ และการได้มาก็มิได้ไปหลอกลวงใคร ไม่มีการทุจริตใดๆ ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่าเมื่อเขาไม่ได้ทุจริต จะต้องคืนทรัพย์ให้เจ้าของหรือไม่ ถ้าคืนจะอ้างหลักเกณฑ์ใดตามกฎหมายที่เขาจะต้องคืน เพราะไม่มีสัญญา และก็ไม่เป็นการละเมิด

กฎหมายจึงต้องบัญญัติเรื่องลาภมิควรได้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

ตัวอย่างง่ายๆ ของลาภมิควรได้ คือ มีคนโอนเงินมาเข้าบัญชีให้กับเรา โดยเข้าใจผิดว่าเราเป็นเจ้าหนี้ ทั้งๆ ที่เราไม่ใช่เจ้าหนี้ กรณีอย่างนี้ เงินที่โอนเข้ามาในบัญชีเรานี้เป็นลาภมิควรได้ที่เราต้องคืนให้กับคนโอน

ลาภมิควรได้แม้จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย แต่ก็มีหลายเหตุการณ์ที่เป็นลาภมิควรได้ เช่น บริษัทจ่ายเงินให้โดยไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย ทั้งๆ ที่กฎหมายบังคับให้ต้องหักเงินไว้เป็นค่าภาษีส่วนหนึ่ง ผู้รับจะต้องถูกหักเงินไว้ จะได้รับจริงๆ น้อยกว่าจำนวนที่เป็นหนี้ กรณีเช่นนี้ ถ้าบริษัทมิได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ เงินส่วนนี้ย่อมเป็นลาภมิควรได้

ตัวอย่างตามคำพิพากษาฎีกาที่ 480/2551

จำเลยมีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจากโจทก์เพียงเฉพาะส่วนที่เกินจากที่หักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว แม้โจทก์จะหลงลืมหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ก่อนจ่ายเงินทั้งหมดให้แก่จำเลยไป แต่เมื่อโจทก์นำส่งเงินภาษีที่ต้องหักไว้ ณ ที่จ่ายให้แก่กรมสรรพากรแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกเอาเงินส่วนที่โจทก์นำส่งให้แก่กรมสรรพากรไปแล้วจากจำเลยได้ จำเลยต้องคืนให้แก่โจทก์

การที่ศาลให้จำเลยคืนเงินให้โจทก์ เพราะเงินที่จำเลยได้รับเป็นลาภที่งอกขึ้น โดยไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับ จึงต้องคืนให้กับผู้จ่าย

การได้ลาภงอกขึ้นโดยไม่มีมูลตามกฎหมายที่จะเป็นลาภมิควรได้ จะต้องเป็นกรณีที่ “เป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเสียเปรียบ” ถ้าไม่เสียหายหรือเสียเปรียบอะไร ก็ไม่ใช่ลาภมิควรได้ เช่น เจ้าของที่ดินข้างเคียงกับที่ดินเรา ขายที่ดินให้กับศูนย์การค้า ทำให้ที่ดินของเรามีราคาสูงขึ้น เดิมจะขายวาละหมื่นก็ไม่มีใครซื้อ แต่พอมีศูนย์การค้ามาตั้ง มีคนมาขอซื้อวาละแสน ราคาที่เพิ่มขึ้นแม้จะมีผลมาจากที่ดินข้างเคียงที่สร้างศูนย์การค้า แต่ไม่มีใครเสียเปรียบ คนที่สร้างศูนย์การค้า เขาก็ทำกิจการของเขาไป ไม่ได้เสียเปรียบอะไรให้กับเรา

การที่ที่ดินของเรามีราคาสูงขึ้นเช่นนี้ ไม่เข้าลักษณะลาภมิควรได้ตามกฎหมาย เจ้าของที่ดินข้างเคียงหรือเจ้าของศูนย์การค้าจะเรียกร้องค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นจากเราไม่ได้ มิฉะนั้น บ้านเมืองคงวุ่นวายจากนักปั่นที่ดินเป็นแน่

กรณีอย่างนี้ ถ้าเรียกกันตามภาษาชาวบ้านก็ต้องบอกว่าเป็นลาภลอยครับ

Thailand Web Stat