posttoday

ราและกรดกัดกิน เรือโบราณ

09 มิถุนายน 2556

นักวิทยาศาสตร์รู้มานานแล้วว่าความสึกหรอกำลังค่อยๆ กัดกร่อนเรือวาซา แต่ดูเหมือนว่าอัตราการผุพังจะเร็วกว่าที่คาด

นักวิทยาศาสตร์รู้มานานแล้วว่าความสึกหรอกำลังค่อยๆ กัดกร่อนเรือวาซา แต่ดูเหมือนว่าอัตราการผุพังจะเร็วกว่าที่คาด เหล็กยึดลำเรือ กรดจากจุลินทรีย์ และผลกระทบที่คาดไม่ถึงจากกระบวนการอนุรักษ์ ล้วนช่วยกันบั่นทอนเรือโบราณซึ่งเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวของสวีเดนถึง 1.2 ล้านคนต่อปี

เรือวาซาล่มเพราะลมกระโชก

เรือรบหลวงวาซา ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อข่มขวัญศัตรูถูกปล่อยลงน้ำที่กรุงสตอกโฮล์มเมื่อปี 1628 เพื่อเข้าสู่สมรภูมิรบในประเทศโปแลนด์ แต่ออกจากฝั่งไปได้แค่ 1 ไมล์ทะเล เกิดลมกระโชกแรงเข้าใส่ ทำให้เรือเอียงจนน้ำไหลเข้าท่วมเรือและค่อยๆ จมลง

ไม่มีใครทราบจุดที่เรือวาซาจมนานถึง 3 ศตวรรษ แต่ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลประวัติศาสตร์และการเก็บตัวอย่างจากก้นทะเล วิศวกรชื่อ อันเดียส ฟรันเชิน ก็ค้นพบซากเรือวาซาในอ่าวสตอกโฮล์มเมื่อปี 1956 ที่ความลึก 32 เมตร

ผู้ชมมาพร้อมกับความชื้น

เรือวาซาตั้งสง่าอยู่ในพิพิธภัณฑ์วาซาได้ 10 ปี แต่เมื่อถึงปี 2000 ก็พบสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น วัตถุอนุรักษ์ต้องการอุณหภูมิและความชื้นอากาศที่คงที่ ซึ่งก็ได้มีการติดตั้งระบบควบคุมภูมิอากาศ แต่จำนวนผู้ชมที่คาดว่าจะมีราว 60,000 คน/ปีนั้น กลับมีมากถึง 720,000 คน ความชื้นจากเสื้อคลุม รองเท้าบู๊ตเปียกฝน และลมหายใจของมหาชน มีมากเกินสมรรถนะของระบบควบคุมภูมิอากาศ เมื่อฤดูร้อนปี 2000 ความชื้นอากาศสูงเกินที่จะรับได้ ไม้ในเรือวาซาดูดความชื้นส่วนเกินไว้ แล้วระบายออกในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ทิ้งคราบเกลือสีขาวเหลืองไว้ให้ คราบหลายจุดมีค่าพีเอชต่ำกว่า 3 แปลว่ามีความเป็นกรดพอๆ กับน้ำส้มสายชู ซึ่งสามารถกัดกินไม้ และพบว่ามีส่วนผสมของเหล็กซัลเฟต ยิปซัม และกำมะถัน

กรดกัดกินเรือวาซาจากข้างใน

พิพิธภัณฑ์รีบปรับระบบควบคุมอากาศให้อยู่ในช่วง 1720 องศา และระดับความชื้นในช่วง 5155% เพื่อช่วยหยุดการเกิดผลึกเกลือและการผุพังของไม้ แต่ปี 2012 ก็เกิดปัญหาใหม่ โดยพบกรดแอซีติก กรดฟอร์มิก และกรดออกซาลิกจำนวนมาก นักวิทยาศาสตร์คาดว่าจุลินทรีย์อาจมีส่วนทำให้เกิดการผุพังของไม้ คล้ายพฤติกรรมของรา “มอนิลิเนีย” (Monilinia) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่ทำให้ไม้ผุ ราชนิดนี้อาจมีอยู่ก่อนเรือจม หรืออาจแพร่เข้ามาในช่วงอนุรักษ์ก็เป็นได้

เรือวาซาอาจยุบเพราะน้ำหนักของเรือเอง

เรือวาซากำลังสลายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะต้องรับน้ำหนักถึง 1,200 ตัน แต่คงไม่ยุบตัวภายในปีสองปีนี้ เพราะนักอนุรักษ์ได้เปลี่ยนหมุดบนตัวเรือทั้ง 5,500 ตัว เป็นเหล็กกล้า แต่สารพีอีจีและกรดที่เกิดขึ้นภายหลังกัดกร่อนได้แม้แต่เหล็กกล้า ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2011 หลังจากเปลี่ยนหมุด 1,000 ตัวแรก นักวิทยาศาสตร์เฝ้าสังเกตตัวเรือเพื่อเรียนรู้ว่าเหล็กกล้ามีผลอย่างไรต่อเนื้อไม้ ก่อนเปลี่ยนหมุดส่วนที่เหลือ พร้อมกับหาวิธีที่ทรงประสิทธิภาพในการต่อสู้กับการทำลายของกรด ให้เรือวาซาเป็นเพชรประดับมงกุฎแห่งสวีเดนไปอีกนานเท่านาน