จุฬาฯยันที่ดินอุเทนฯเป็นกรรมสิทธิ์ชัดเจน
จุฬาฯชี้แจงกรรมสิทธิ์ที่ดินพระราชทานชี้ชัดไม่มีหลักฐานประวัติศาสตร์ร.6พระราชทานที่ดินให้อุเทนฯ ข้อมูลอาจคลาดเคลื่อน
จุฬาฯชี้แจงกรรมสิทธิ์ที่ดินพระราชทานชี้ชัดไม่มีหลักฐานประวัติศาสตร์ร.6พระราชทานที่ดินให้อุเทนฯ ข้อมูลอาจคลาดเคลื่อน
รศ.ดร.สุเนตร ชุติธรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ รศ.ดร.บุญไชย สถิตมั่นในธรรม รองอธิการบดีด้านกายภาพ จุฬาฯ และดร.คณพล จันทน์หอม ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของจุฬาฯ ร่วมกันแถลงข่าวกรณีที่สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ยื่นจดหมายลงวันที่ 15 มีนาคม 2556 เรื่องขอโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนให้แก่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย
รศ.ดร.สุเนตร กล่าวชี้แจงโดยกล่าวอ้างว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชที่ดินให้แก่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายพบว่ามีการตีความเอกสารคลาดเคลื่อน ร.6 มีพระราชปรารภที่จะสืบทอดพระราชดำริ ร.5 ทรงห่วงใยในศิลปะการช่างของไทยจึงพระราชเงินเพื่อสร้างโรงงานนักเรียนเพาะช่าง ไม่ได้มีความหมายไปถึงสิทธิการถือครองที่ดินแต่อย่างใด ส่วนการกล่าวอ้างว่าที่ดินที่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายเช่าอยู่ไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจุฬาฯ แต่ตามหลักฐานประวัติศาสตร์ ไม่มีหลักฐานชิ้นใดระบุว่ากรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของอุเทนถวาย
รศ.ดร.สุเนตร กล่าวว่า การสถาปนามหาวิทยาลัยเรื่องใหญ่โตมีการวางศิลาพระฤกษ์ขึ้น มีการกำกับในศิลาจารึกไว้ด้วย มีการกำหนดที่ดินเป็นเขตโรงเรียนไว้จำนวน 1,309 ไร่ ระบุพื้นที่เขตโรงเรียนชัดเจน ตามพระราชปณิธานของ ร.6 ที่ประสงค์ให้สถาบันการศึกษา เจริญสถาวร และพระราชานุสาวรีย์ของพระราชบิดา มีพระราชดำรัสตอบของ ร.6 ที่เสด็จวางศิลาฤกษ์ ทรงมีพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2458 ความตอนหนึ่งว่า "ตัวเราเป็นรัชทายาทจึงรู้สึกเป็นหน้าที่อันหนึ่งที่จะต้องทำการให้สำเร็จตามพระราชประสงค์ โดยรู้ว่าเมื่อได้ทำสำเร็จแล้ว จะเป็นเครื่องเพิ่มพูนพระเกียรติยศ เป็นราชานุสาวรีย์ เป็นที่คำนึงถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชของชาติไทยเรา เป็นการสมควรยิ่งนักที่จะสร้างพระราชานุสาวรีย์อันใหญ่และถาวรเช่นนี้ ทั้งจะได้เป็นเครื่องมือที่จะทำให้บังเกิดประโยชน์แก่ชาติไทยไม่มีเวลาเสื่อมสูญด้วย"
ดร.คณพล กล่าวย้ำว่า ข้อพิพาทระหว่างกันนี้มีการชี้ขาดจากคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) มีมติให้อุเทนถวายขนย้ายและส่งมอบที่คืนให้กับจุฬาฯ นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549 และคณะรัฐมนตรี มีมติทราบผลการตัดสินนี้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2553
รศ.ดร.บุญไชย กล่าวว่า จุฬาฯ ตระหนักว่าการขอคืนพื้นที่จากอุเทนฯ ต้องได้รับงบประมาณสนับสนุน และเวลาในการย้ายออก เพื่อนำมาก่อสร้างเป็นโครงการศูนย์นวัตกรรมงานสร้างสรรค์เพื่อชุมชนของ ซึ่งจุฬาฯ แบ่งพาณิชย์และการศึกษาชัดเจน ที่ดินของอุเทนฯ อยู่ในส่วนเขตการศึกษา ได้คืนพื้นที่ จุฬาฯ จะนำมาใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทั้งสิ้น พัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นระดับรากหญ้า และเสนอเรื่องทั้งหมดนี้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นข้อมูลตัดสินใจในระดับนโยบาย ส่วนภาคบ่ายที่จะน.ศ.อุเทนถวาย จะเคลื่อนตัวมาทวงถามคำตอบนั้น จุฬาฯไม่คิดว่าจะมีเหตุรุนแรงและวันนี้กิจกรรมต่างๆ ในมหาวิทยาลัยยังดำเนินการตามปกติ
ขณะที่ นายกฤษฏิธย์ ณัฐวรานันต์ ศิษย์เก่าอุเทนถวาย และตัวแทน ได้เดินทางมาร่วมรับฟังการชี้แจ้งของจุฬาฯ ด้วย และกล่าวว่า จะนำข้อมูลที่ได้รับฟังวันนี้ ไปหารือกับ คณะพิทักสิทธิ์เพื่อการศึกษาอุเทนถวาย (คพศ.) วันนี้อุเทนฯ ไม่ได้มีปัญหากับจุฬาฯ และนักศึกษาจุฬาฯ อุเทนถวายฯ เพียงแต่ขออยู่ที่เดิมด้วยการนำหลักฐานที่มีมายืนยัน และทางอุเทนถวายฯ ก็ยินดีให้กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาช่วยในการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ให้ยุติลง เพราะอุเทนถวายเพียงต้องการขออยู่ที่ที่เดิม
นายกฤษฏิธย์ ยังยืนยันว่า ในเวลา 13.00 น.วันนี้ นศ.อุเทนถวาย จะยังคงร่วมเดินขบวนจากหน้าสถาบัน ถ.พญาไท มายัง สนง.ทรัพย์สินจุฬาฯ เพื่อมายื่นหนังสือทวงถามกับทางจุฬาฯ ว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนให้กับอุเทนฯ หรือไม่
ภาพประกอบข่าว