เจ้าจอมก๊กออในรัชกาลที่ 5

07 กรกฎาคม 2556

ธิดาคนที่ 3 ใน 5 คนของเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) และท่านผู้หญิงอู่ ที่ถวายตัวเป็นข้าราชสำนักฝ่ายในรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท

ธิดาคนที่ 3 ใน 5 คนของเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) และท่านผู้หญิงอู่ ที่ถวายตัวเป็นข้าราชสำนักฝ่ายในรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ เจ้าจอมเอิบ

เจ้าจอมเอิบ บุนนาค เกิดเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2422 ที่เมืองเพชรบุรี ได้รับการศึกษาชั้นต้นเยี่ยงกุลสตรีธิดาขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในสมัยนั้น เมื่อมีอายุได้ 12 ปี ได้เข้าไปรับราชการเป็นข้าราชสำนักฝ่ายใน เมื่อปี 2434 เนื่องจากเจ้าจอมเอิบเป็นผู้ที่มีสิริโฉมงดงาม มีคุณสมบัติตรงตามตำราหญิงงามอันเป็นที่นิยมชื่นชอบของยุคสมัยนั้น ด้วยมีหน้าตาอ่อนหวานงดงาม เยือกเย็น มีลำแขนงดงามกลมกลึงราวกับลำเทียน มีรูปร่างอวบมีน้ำมีนวล มีความงามแห่งรูปโฉมตลอดกิริยามารยาทที่ สอดคล้องกับความนิยมแห่งยุคสมัย จึงเป็นที่ โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพิเศษ ความเป็นเจ้าจอมคนโปรดของเจ้าจอมเอิบจึงเป็นที่รู้ทั่วไปของคนในวัง ดังที่หม่อมศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา ได้เล่าถึงเจ้าจอมเอิบไว้ในอัตชีวะประวัติของท่านว่า

“วันหนึ่งเป้าบอกว่าพรุ่งนี้เช้าจะต้องไปหัดคุณเอิบ คือเจ้าจอมเอิบ เจ้าจอมตัวโปรดในเวลานั้น ซึ่งเป็นบุตรีเจ้าพระยาสุรพันธ์ (เจ้าเมืองเพชรบุรี ครั้งกระโน้น) ในวังมักจะพูดถึงเจ้าจอมชื่ออักษรย่อ อ ว่า ก๊ก ออ ซึ่งมีหลายคนด้วยกันโดยเฉพาะคุณจอมเอิบโปรดปรานจนสวรรคต เป้าบอกว่าต้องระวังเพราะเป็นคนโปรด พอเด็กได้ข่าวก็นัดจะไปดูกันเพราะไม่ค่อยเคยเห็นเจ้าจอมคนนี้ เธอไม่ได้ไปหัดที่สวนเต่าแต่จะหัดกันที่ลานหน้าสวนขวา ใกล้พระที่นั่งดุสิต...

พระเมตตาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อเจ้าจอมเอิบนั้นเป็นที่รับรู้กันโดยถ้วนหน้า ได้พระราชทานเกียรติยศและโอกาสดีๆ ให้โดยสม่ำเสมอได้ตามเสด็จแปรพระราชฐานประพาสหัวเมืองเหนือ ในปี 2444 หรือเสด็จไปประทับที่พระราชวังบางปะอิน ในปี 2445 และการเสด็จประพาสต้น ในปี 2447 หรือในงานรับเสด็จเจ้าฟ้าแสนหวีในฐานะพระราชอาคันตุกะ ก็โปรดให้เจ้าจอมเอิบอยู่ในคณะเจ้าจอมผู้รับเสด็จ แม้แต่ในพระราชพิธีเฉลิมพระที่นั่งอัมพรสถานก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าจอมเอิบเป็นผู้เชิญกุญแจตามเสด็จไปยังห้องพระบรรทม ภายหลังเมื่อโปรดให้สร้างพระที่นั่งวิมานเมฆขึ้นในพระราชวังดุสิตก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าจอมเอิบขึ้นไปอยู่บนพระที่นั่งนี้ที่ชั้น 3 อันเป็นที่ประทับของพระองค์และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถด้วย เจ้าจอมเอิบจึงเป็นผู้ถวายงานใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่นเดียวกับเจ้าจอมเอี่ยมผู้พี่สาว

เจ้าจอมเอิบเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติในการรับราชการสนองพระเดชพระคุณใกล้ชิด ในหน้าที่เกี่ยวกับการแต่งและเปลี่ยนฉลองพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเจ้าจอมเอิบก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวนี้ได้อย่างดียิ่งเป็นที่พึงพอพระราชหฤทัยยิ่งนัก ดังลายพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานไปยังพระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา ผู้ซึ่งทรงทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการฝ่ายในทั้งปวงความว่า

“...ฉันอนุญาตให้นางเอี่ยม นางเอิบ นางเอื้อน นางรวย ไปในการขึ้นบ้านชายยุคล แต่นางเอิบจะต้องอยู่แต่งตัว ตัวฉันไปแล้วจึงจะไปได้...”

ความสามารถอีกประการหนึ่งของเจ้าจอมเอิบก็คือ ความสามารถในการใช้กล้องถ่ายภาพ สามารถถ่ายภาพและล้างรูปด้วยตนเอง เป็นช่างภาพสมัครเล่นในราชสำนักซึ่งได้ถ่ายภาพพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระฉายาลักษณ์ของบรรดาเจ้านายหลายพระองค์ ฝีมือการถ่ายภาพของเจ้าจอมเอิบเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังจะเห็นได้จากลายพระราชหัตถเลขาที่ทรงกล่าวถึงภาพถ่ายฝีมือของเจ้าจอมเอิบที่ถวายสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้านครสวรรค์วรพินิต ในคราวขึ้นพระตำหนักใหม่วังบางขุนพรหมว่า “....ของนางเอิบรูปกรอบแดงขนาดใหญ่ 4 ขนาดย่อม 4 รวม 8 ของนางเอื้อนรูปเพชรบุรีกรอบเหลืองชุด 18 แผ่น รูปเหล่านี้ทั้ง 2 คน ได้เป็นผู้ช่วยล้างแลทำออกจะใคร่เป็นฝีมืออยู่บ้างจึงเห็นว่าเป็นของที่ควรจะให้...”

ด้วยเหตุนี้ของฝากที่พระราชทานแก่เจ้าจอมเอิบ เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสยุโรป ในปี 2450 อย่างหนึ่งก็คือ กล้องถ่ายรูปแบบทันสมัยที่สุดในขณะนั้น นอกเหนือไปจากตุ้มหูไข่นกการเวกที่ทรงซื้อจากเมืองนีชส่งผ่านไปยังพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เพื่อพระราชทานต่อไปยังเจ้าจอมเอิบ

ความผูกพันสนิทเสน่หาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีต่อเจ้าจอมเอิบนั้นลึกซึ้งนัก ดังจะเห็นได้จากพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานมายังเจ้าจอมเอิบเมื่อคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ในปี 2450 มีข้อความอันจับใจว่า “ทำไมจึงเห็นหน้าเจ้ามากกว่าใครๆ หมด เห็นจะเป็นอยู่ด้วยกันมานาน ฝันก็ฝันถึงเจ้าร่ำไป...”

นอกจากนี้ ยังมีพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ 11 มิ.ย. 2450 ที่ทรงกล่าวถึงลูกห้อยรูปกระต่ายที่เจ้าจอมเอิบอยากได้และพระองค์ทรงเป็นพระธุระหาให้แต่ไม่มีความว่า

“...เอิบได้ซื้อลูกห้อยรูปหมาทำด้วยแก้วผลึกส่งมาให้จะหากระต่ายไม่มี สองอันทั้งหมูนางเอื้อน หมูฝรั่งมันนับเป็นมงคล จึงทำอะไรต่างๆ กระต่ายไม่เข้าแบบ แต่เห็นว่าหมาก็เหมาะดี เพราะเจ้ารักมากรูปพรรณก็เป็นอีหมีฤๅอ้ายหมูได้...”

เจ้าจอมเอิบนับเป็นเจ้าจอมที่รู้พระทัยและสามารถปฏิบัติตนให้เป็นที่ถูกพระทัยในพระบรมราชสวามีได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการอยู่การกิน หรือเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น การทอดปลาทู ซึ่งเจ้าจอมเอิบมีเคล็ดลับและวิธีทอดที่อร่อยถูกพระทัยหาใครจะมาเปรียบมิได้ ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างพระราชฐานใหม่ที่ทุ่งพญาไท เพื่อทรงใช้เป็นสถานที่แปรพระราชฐานไปสัมผัสกับธรรมชาติในท้องทุ่ง โปรดการเสวยพระกระยาหารแบบธรรมดาตามธรรมชาติ เช่น โปรดการเก็บมะเขือสดๆ จากต้นที่ทรงปลูกเองมาจิ้มน้ำพริกเสวย แต่ทรงติดขัดเรื่องทอดปลาทู และไม่มีผู้ใดจะสามารถทอดปลาให้อร่อยได้เท่าเจ้าจอมเอิบ พระองค์จึงทรงมีพระราชหัตถเลขาไปยังพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ ให้รับเจ้าจอมเอิบไปทอด ปลาทู ณ พลับพลาทุ่งพญาไท ความดังนี้

“...พระยาบุรุษ พิธีตรุษนี้จะไปต่อวัน 14 ค่ำ 1213 ค่ำว่าง คิดจะหากินที่นาพญาไทเช่นครั้ง ก่อน...ให้คิดอยากจัดการสำหรับกินข้าวเช่นคราวก่อนอีก เรื่องทอดปลาทู ข้าอยู่ข้างจะกลัวมาก ถ้าพลาดไปแล้วข้ากลืนไม่ลงขอให้จัดตั้งเตาทอดปลาที่สะพานต่อเรือนข้างหน้าข้างใน บอกกรมวังให้จัดรถให้นางเอิบออกไปทอดปลา เตรียมเตาและ กะทะไว้ให้พร้อม...”

เจ้าจอมเอิบ เป็นข้าราชสำนักฝ่ายในที่มิได้มีโอรสธิดาที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว เจ้าจอมเอิบก็ออกจากพระบรมมหาราชวัง ไปพำนักยังตำหนักในวังสวนสุนันทา จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 จึงย้ายออกมาสร้างบ้านเรือนอยู่ร่วมกับพี่น้องก๊กออ ในที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่เจ้าจอมก๊กออคนละแปลง อย่างเป็นสัดส่วนบริเวณริมคลองสามเสนที่เรียกกันว่า “สวนนอก” เจ้าจอมเอิบได้ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2487 สิริอายุได้ 65 ปี

Thailand Web Stat