เนบิวลามืด
เมื่อเอ่ยถึงเนบิวลา (Nebula) เรามักจะนึกถึงวัตถุท้องฟ้าที่มีลักษณะเป็นกลุ่มแก๊สสว่าง เนบิวลาที่นักดาราศาสตร์สมัครเล่นรู้จักกันมากที่สุด
เมื่อเอ่ยถึงเนบิวลา (Nebula) เรามักจะนึกถึงวัตถุท้องฟ้าที่มีลักษณะเป็นกลุ่มแก๊สสว่าง เนบิวลาที่นักดาราศาสตร์สมัครเล่นรู้จักกันมากที่สุด คือ เนบิวลาสว่างใหญ่ในกลุ่มดาวนายพราน สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยตำแหน่งที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรฟ้า ทำให้สังเกตได้จากทั้งซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้
นอกจากเนบิวลาสว่างที่เกิดจากการสะท้อนแสงและการเปล่งแสงของแก๊สและฝุ่นภายในเนบิวลา ยังมีเนบิวลาอีกชนิดหนึ่งที่เห็นเป็นแถบมืด เรียกว่า เนบิวลามืด (Dark Nebula หรือ Absorption Nebula) คือแก๊สและฝุ่นที่อุณหภูมิต่ำมาก ไม่มีแสงในตัวเอง และไม่ได้รับแสงจากแหล่งอื่น จึงเห็นเป็นส่วนมืด ตัดกับพื้นหลังที่สว่างกว่า
เนบิวลามืดบางแห่งมีลักษณะเป็นลูกๆ เรียกว่า บ็อกโกลบูล (Bok Globule) บ็อกมาจากชื่อสกุลของ บาร์ต บ็อก (Bart Bok) นักดาราศาสตร์ชาวดัตช์อเมริกัน ที่ศึกษาเกี่ยวกับวัตถุประเภทนี้เมื่อทศวรรษ 1940 บริเวณที่พบเนบิวลามืดได้ง่ายที่สุด คือบริเวณที่อยู่ในแนวของทางช้างเผือก เนื่องจากมีแถบสว่างที่เกิดจากดาวจำนวนมากเป็นฉากหลัง สามารถเห็นได้ในคืนที่ท้องฟ้ามืด ปราศจากแสงจันทร์ เมฆหมอก และควรสังเกตจากที่ห่างไกลเมืองใหญ่ ไม่มีมลพิษรบกวน
เอ็ดเวิร์ด อี. บาร์นาร์ด (Edward Emerson Barnard) นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน เป็นคนแรกที่จัดทำบัญชีรายชื่อเนบิวลามืด เผยแพร่เมื่อ ค.ศ. 1919 มีรายชื่อวัตถุประเภทนี้จำนวน 182 รายการ เรียกชื่อขึ้นต้นด้วย บาร์นาร์ด แล้วตามด้วยตัวเลข หรืออาจเรียกอย่างย่อโดยขึ้นต้นด้วยตัวอักษร B แล้วตามด้วยตัวเลขบัญชีฉบับปรับปรุงเมื่อ ค.ศ. 1927 ซึ่งตีพิมพ์หลังจากบาร์นาร์ดถึงแก่กรรมไปแล้ว มีมากกว่า 300 รายการ
เนบิวลามืดในบัญชีของบาร์นาร์ดมาจากภาพถ่ายที่เขาและผู้ช่วยได้ถ่ายไว้ผ่านกล้องโทรทรรศน์ในหอดูดาว จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งบนท้องฟ้าเท่านั้น ยังมีเนบิวลามืดอีกหลายพันแห่งที่นักดาราศาสตร์รวบรวมได้ในเวลาต่อมา แต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักเท่าบัญชีของบาร์นาร์ด
เนบิวลาหัวม้า (Horesehead Nebula) หรือบาร์นาร์ด 33 เป็นเนบิวลามืดในกลุ่มดาวนายพราน มีตำแหน่งอยู่บริเวณเข็มขัดของนายพราน หรือที่คนไทยเรียกว่าดาวไถ ปรากฏให้เห็นได้โดยมีรูปร่างคล้ายหัวม้าเนื่องจากมีเนบิวลาเปล่งแสงอยู่เบื้องหลัง แต่ไม่สว่างนัก จึงไม่สามารถสังเกตเนบิวลาหัวม้าได้ด้วยตาเปล่า จะเห็นได้จากภาพถ่ายเท่านั้น
เนบิวลาถุงถ่าน (Coalsack Nebula) เป็นเนบิวลามืดที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งบนท้องฟ้า สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าในที่ห่างไกลจากเมืองใหญ่ โดยเห็นเป็นบริเวณมืดในกลุ่มดาวกางเขนใต้ คาดว่าเป็นเนบิวลามืดที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุดแห่งหนึ่ง ห่างออกไปราว 500-600 ปีแสง
ชนพื้นเมืองดั้งเดิมในออสเตรเลียจินตนาการว่าทางช้างเผือกมีรูปร่างเป็นนกอีมู ซึ่งเป็นนกบินไม่ได้ คล้ายนกกระจอกเทศ มีถิ่นกำเนิดในทวีปแห่งนี้ โดยมีเนบิวลาถุงถ่านเป็นบริเวณหัวของนก ส่วนคอ ลำตัว และขา จะทอดยาวไปทางทิศตะวันออก พาดผ่านกลุ่มดาวหลายกลุ่ม ที่เด่นคือกลุ่มดาวคนครึ่งม้า แมงป่อง และคนยิงธนู
ปรากฏการณ์ท้องฟ้า (14–21 ก.ค.)
ดาวศุกร์อยู่ในกลุ่มดาวสิงโตบนท้องฟ้าทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำ สัปดาห์นี้อยู่ต่ำกว่าดาวหัวใจสิงห์ ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวนี้ ดาวศุกร์เคลื่อนเข้าใกล้ดาวหัวใจสิงห์มากขึ้นทุกวัน ตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณ 2 ทุ่มครึ่ง
เวลาเดียวกัน หันไปทางทิศใต้จะเห็นดาวเสาร์อยู่สูงบนท้องฟ้าในกลุ่มดาวหญิงสาว แต่ละคืนดาวเสาร์จะเคลื่อนไปทางขวามือและต่ำลงเรื่อยๆ จนตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณเที่ยงคืนครึ่ง
เวลาเช้ามืดมองเห็นดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดีอยู่ใกล้กันในกลุ่มดาวคนคู่ โดยทั้งคู่อยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้า ต้นสัปดาห์ ดาวอังคารอยู่สูงกว่าดาวพฤหัสบดีเล็กน้อย จากนั้นเคลื่อนเข้าใกล้กันมากขึ้นทุกวัน โดยใกล้กันที่สุดในต้นสัปดาห์หน้า มีเวลาสังเกตได้ไม่นานก่อนท้องฟ้าสว่าง
สัปดาห์นี้เป็นข้างขึ้น ดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ ช่วงแรกเห็นเป็นเสี้ยว จากนั้นสว่างครึ่งดวงในวันอังคารที่ 16 ก.ค. เป็นช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้ดาวเสาร์และดาวรวงข้าวในกลุ่มดาวหญิงสาว วันศุกร์ที่ 19 ก.ค. ดวงจันทร์ผ่านใกล้ดาวแอนทาเรส หรือดาวปาริชาต ในกลุ่มดาวแมงป่องที่ระยะห่าง 7 องศา