ถมผิวโลกด้วยเงามืดของดวงจันทร์

11 สิงหาคม 2556

สุริยุปราคาเต็มดวงเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก เรียงอยู่ในแนวเดียวกัน

สุริยุปราคาเต็มดวงเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก เรียงอยู่ในแนวเดียวกัน เงามืดของดวงจันทร์ตกกระทบผิวโลก ทำให้คนที่อยู่ใต้เงามืดเห็นดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ไว้หมดทั้งดวง ท้องฟ้าเวลากลางวันมืดสลัวลง คล้ายเวลาพลบค่ำ สามารถเห็นดาวสว่างบางดวงได้ สุริยุปราคาเต็มดวงอาจเกิดในระยะเวลาสั้นๆ หรือนานเป็นนาที แต่ไม่เกิน 7 นาทีครึ่ง

สุริยุปราคาเต็มดวงแต่ละครั้งจะมีพื้นที่บางส่วนของโลกเท่านั้นที่มีโอกาสเห็นแบบเต็มดวงเป็นพื้นที่เล็กๆ ลากเป็นแนวยาวตามการเคลื่อนที่ของเงามืดไปตามผิวโลก เรียกว่าเส้นทางสุริยุปราคาเต็มดวง เส้นทางดังกล่าวอาจยาวนับพันกิโลเมตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเส้นทางนั้นผ่านในแนวที่ห่างจากขั้วโลก แต่คิดเป็นพื้นที่เพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับผิวโลกทั้งหมด

ช่วงเดือน ส.ค.ของทุกปี เป็นช่วงที่วงการวิทยาศาสตร์ไทยมีกิจกรรมเนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ การกำหนดให้วันที่ 18 ส.ค. เป็นวันวิทยาศาสตร์ เนื่องจากวันนี้เมื่อ พ.ศ.2411 ได้เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงคำนวณ และทอดพระเนตรปรากฏการณ์นี้ที่บ้านหว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์

เส้นทางสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนั้นเริ่มต้นทางตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา ผ่านเมืองเอเดน จากนั้นลงสู่ทะเลอาหรับ ตอนกลางของอินเดีย อ่าวเบงกอล แล้วเข้าสู่แหลมมลายู ผ่านพม่า จ.ประจวบคีรีขันธ์ ของไทย (ปัจจุบันคือบริเวณที่ตั้งของอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า) โดยเงามืดครอบคลุมถึงตอนใต้ของเพชรบุรีและตอนเหนือของชุมพรลงสู่อ่าวไทย แหลมญวน ทะเลจีนใต้เกาะต่างๆ ที่ปัจจุบันเป็นพื้นที่ของประเทศบรูไน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย จากนั้นสิ้นสุดทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก

วันที่ 11 ส.ค. 2542 ก็เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงพาดผ่านตอนกลางของทวีปยุโรป ก่อนหน้านั้น ปลายเดือน ธ.ค. 2541 ได้มีการสนทนากันระหว่างนักดาราศาสตร์ทั่วโลกที่สนใจในเรื่องเดียวกันผ่านทางจดหมายข่าว โดยส่วนใหญ่เป็นหัวข้อเกี่ยวกับสุริยุปราคาเต็มดวงที่จะเกิดขึ้นในปี 2542 หัวข้อสนทนาหัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจในช่วงนั้นคือ ต้องใช้เวลานานกี่ปี ที่เงามืดของดวงจันทร์จะพาดผ่านทุกๆ จุดบนพื้นผิวโลก

เพื่อตอบคำถามนี้ ยอง เมอุส (Jean Meeus) ชาวเบลเยียม ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญการคำนวณทางดาราศาสตร์ ได้เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยหาคำตอบ เขากำหนดจุดสังเกตบนพื้นโลกให้แต่ละจุดห่างกัน 1 องศา ทั้งทางละติจูดและลองจิจูด จึงได้รวมทั้งสิ้น 64,440 ตำแหน่ง (ละขั้วโลกไว้ เนื่องจากมีข้อมูลอยู่แล้วว่ามีสุริยุปราคาเต็มดวงผ่านขั้วโลกเหนือในวันที่ 6 ก.ค. 1815 และผ่านขั้วโลกใต้ในวันที่ 16 ม.ค. 2094)

เมอุสพบว่าเขาต้องใช้สุริยุปราคาเต็มดวงทุกครั้งที่เกิดขึ้นในช่วง 1,400 ปีก่อนคริสต์ศักราชถึงปี 2800 ซึ่งยาวนาน 4,200 ปี จึงจะทำให้ทั้ง 64,440 ตำแหน่ง เห็นสุริยุปราคาเต็มดวงอย่างน้อยหนึ่งครั้ง แต่การคำนวณยังไม่ยุติ

เมอุสเพิ่มจุดสังเกตให้ถี่ขึ้น โดยกำหนดให้แต่ละจุดห่างกันครึ่งองศา จึงได้ทั้งหมด 258,482 ตำแหน่ง (รวมขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้อีก 2 ตำแหน่ง) เขาทำการคำนวณอีกครั้งในกรอบเวลาเดิม พบว่ายังเหลืออีก 2 ตำแหน่ง ซึ่งอยู่ทางใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกที่สุริยุปราคาเต็มดวงในช่วง 4,200 ปีดังกล่าว ยังครอบคลุมไม่ถึง และเมื่อขยายเวลาต่อไปถึงปี 3158 จึงสามารถครอบคลุมได้หมดทุกตำแหน่ง

การคำนวณได้ข้อสรุปว่าต้องใช้เวลาราว 20 ศตวรรษ ที่เงามืดของดวงจันทร์จะพาดผ่านร้อยละ 99 ของพื้นผิวโลก ใช้เวลาราว 30 ศตวรรษ เงามืดของดวงจันทร์จึงพาดผ่านร้อยละ 99.9 ของพื้นผิวโลก และต้องใช้เวลาราว 45 ศตวรรษเพื่อให้เงามืดของดวงจันทร์ตกกระทบทุกจุดบนพื้นผิวโลก

สุริยุปราคาเต็มดวงที่ผ่านประเทศไทยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2538 โดยผ่านหลายจังหวัดในภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจุดที่เห็นเต็มดวงนานที่สุดในประเทศไทยนานเกือบ2 นาที ส่วนครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในเช้าวันที่ 11 เม.ย. 2613 เส้นกลางคราสผ่านบริเวณรอยต่อระหว่าง จ.ประจวบคีรีขันธ์ กับชุมพร จากนั้นลงสู่อ่าวไทยผ่านเกาะช้าง จ.จันทบุรี และตราด จุดที่เห็นนานที่สุดในประเทศไทยคือ พื้นที่ใน จ.ตราด นาน 2นาที 41 วินาที

สุริยุปราคาเต็มดวงที่ผ่านกรุงเทพฯ ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2498 ครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 8 มี.ค. 2904 (ปี 2361) นับว่าใกล้เคียงกับข้อมูลที่ว่าโดยเฉลี่ยแล้วสถานที่ใดสถานที่หนึ่งบนผิวโลกจะเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงได้ทุกๆ 300400 ปี

ปรากฏการณ์ท้องฟ้า (1118 ส.ค.)

เวลาหัวค่ำมีดาวศุกร์และดาวเสาร์อยู่บนท้องฟ้าทิศตะวันตกในกลุ่มดาวหญิงสาว ดาวศุกร์สว่างกว่าและอยู่ต่ำกว่าดาวเสาร์ ดาวศุกร์ตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณ 2 ทุ่มครึ่ง ส่วนดาวเสาร์ตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณ 5 ทุ่ม ดาวศุกร์กำลังเคลื่อนเข้าใกล้ดาวเสาร์มากขึ้น จะผ่านใกล้กันในกลางเดือน ก.ย. 2556

เวลาเช้ามืดมีดาวอังคารและดาวพฤหัสบดีอยู่บนท้องฟ้าทิศตะวันออกในกลุ่มดาวคนคู่ ดาวพฤหัสบดีอยู่สูงและสว่างกว่าดาวอังคารราวตี 4 จะเห็นดาวพฤหัสบดีอยู่เหนือขอบฟ้าที่มุมเงย 10 องศา หลังจากนั้นราวครึ่งชั่วโมง ดาวอังคารจึงจะขึ้นมาอยู่ที่ระดับเดียวกัน

สัปดาห์นี้เป็นข้างขึ้น ดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ วันจันทร์ที่ 12 ส.ค. จันทร์เสี้ยวผ่านใกล้ดาวรวงข้าว ซึ่งเป็นดาวสว่างในกลุ่มดาวหญิงสาวที่ระยะห่างเพียง 1 องศา ค่ำวันถัดไป ดวงจันทร์ผ่านใกล้ดาวเสาร์ที่ระยะ 4 องศา แล้วสว่างครึ่งดวงในวันที่ 14 ส.ค. จากนั้นผ่านใกล้ดาวแอนทาเรสหรือดาวปาริชาตในกลุ่มดาวแมงป่องในค่ำวันที่ 15 ส.ค. ที่ระยะ 7 องศา

Thailand Web Stat