เกียรติตำรวจของไทย?
เชื่อไหมว่าตำรวจไทยเริ่มงานด้วยการเป็นแขกยาม?
เชื่อไหมว่าตำรวจไทยเริ่มงานด้วยการเป็นแขกยาม?
นั่นคือกำเนิดของกรมตำรวจเมื่อ พ.ศ. 2403 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงให้จ้างกัปตัน เอส. เจ. เบิร์ด เอมส์ ชาวอังกฤษ มาจัดตั้ง “กองโปลิส” ด้วยเหตุผล 2 เรื่อง คือ หนึ่ง เพื่อแก้ปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เนื่องจากสนธิสัญญาเบาว์ริงที่ไทยถูกชาติอังกฤษบังคับให้ทำขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2398 ได้ทำให้คนต่างชาติฉวยโอกาสไม่เคารพกฎหมายไทย โดยอ้างว่าป่าเถื่อนล้าสมัย เกิดคดีความที่คนต่างชาติก่อเหตุขึ้นมากมายทั้งในและนอกพระนคร จึงต้องสร้างหน่วยงานที่ต่างชาติยอมรับให้มาปราบปรามอาชญากรรมเหล่านั้น และสอง คนต่างชาติเหล่านั้นส่วนใหญ่คือคนที่อยู่ใต้อาณัติหรือทำงานให้แก่บริษัทอังกฤษ การจ้างคนอังกฤษให้มาทำหน้าที่ดูแลในด้านนี้น่าจะแก้ปัญหาได้ดีและตรงจุดที่สุด
บังเอิญตำรวจที่กัปตันเอมส์แกจ้างมาทำงานก็คือ คนอินเดียที่ทำงานอยู่กับแกนั่นแหละ นอกจากจะหาง่ายแล้ว ค่าจ้างก็ไม่แพง แถมยังขยันอดหลับอดนอนเก่ง ทำงานได้ 24 ชั่วโมง สถานที่ทำงานก็คือ ย่านท่าเรือและการขนสินค้าที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งตอนนั้นมีแหล่งใหญ่อยู่ที่ย่านสำเพ็งหรือเขตสัมพันธวงศ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะบริเวณที่เรียกว่าโรงกระทะ อันเป็นบ้านของเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในยุคนั้น คือ พระยาโชฎึก ต้นตระกูลโชติกเสถียร เนื่องจากต้องเลี้ยงคนงานเป็นจำนวนมากหลากเชื้อชาติหลายภาษา จนต้องหุงข้าวด้วยกระทะขนาดใหญ่ที่เรียกว่ากระทะใบบัว ครั้งละหลายๆ กระทะ (รายละเอียดมีอยู่ในหนังสือ “โครงกระดูกในตู้” เขียนโดยท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช บ้างก็ว่าคุณเปรมในเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ก็เป็นคนในตระกูลนี้แหละ)
หากจะย้อนไปในสังคมอยุธยา ปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ในทำเนียบศักดินาสมัยพระบรมไตรโลกนาถ แต่เดิมกิจการตำรวจสังกัดกรมวัง มีหน้าที่ในการรักษาดูแลบริเวณพระราชฐานชั้นนอก ส่วนในเขตพระราชฐานชั้นในจะเป็นตำรวจหญิง เรียกว่า “โขลน” (รายละเอียดก็มีอยู่ในเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ที่แม่พลอยกลัวนักกลัวหนา) อนึ่ง ทั้งตำรวจและโขลนนี้เชื่อกันว่านำเข้ามาพร้อมกับธรรมเนียมในราชสำนักหลายอย่าง ตั้งแต่ครั้งที่สมเด็จพระบรมราชาได้ไปตีเขมร รวมทั้ง “กลาโหม” อันหมายถึงคนที่มีหน้าที่เฝ้ากองไฟหน้าเทวรูปของพวกพราหมณ์ ที่ปัจจุบันนี้เรามาเรียกเป็นกระทรวงหรูหราที่มีอำนาจมหาศาลอย่าง “กระทรวงกลาโหม”
กิจการตำรวจนี้คาดว่าจะไม่เป็นที่นิยมนักในสมัยโบราณ จึงเสื่อมไปในสมัยอยุธยาตอนปลายๆ แต่ก็มีหลักฐานในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ว่ามีคนที่ทำหน้าที่คล้ายๆ ตำรวจแบบในสมัยอยุธยาแต่มีชื่อว่า “กองตระเวน” ซึ่งอาจจะสันนิษฐานได้ว่า เป็นการ “ขยายบทบาท” หรือเพิ่มอำนาจให้มีคนมาสนใจทำงานมากขึ้น อย่างไรก็ตามกิจการนี้ก็เข็นไม่ขึ้นจึงต้องมาตั้ง “กองโปลิส” ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ดังกล่าว โดยยุบกรมตระเวนนั้นเสีย แล้วให้ปรับหน้าที่เสียใหม่ให้มีหน้าที่ในการจับกุมเอาคนทำผิดมาลงโทษได้ด้วย แตกต่างจากแต่เดิมที่ได้แค่การเดินตรวจตามตรอกซอกซอยเหมือนแขกยาม และครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงให้ความสำคัญแก่กองโปลิสนี้มาก ถึงขั้นตรากฎหมายขึ้นมารับรองและพระราชทานให้ใช้ตราแผ่นดินประดับบนหมวกของตำรวจ แล้วเปลี่ยนชื่อกองโปลิสไปเป็น “กรมกองตระเวน” สังกัดกระทรวงมหาดไทย ทำหน้าที่ในเขตพระนคร พร้อมกับ “กองตำรวจภูธร” ที่ทำหน้าที่ในจังหวัดต่างๆ
อย่างไรก็ตาม สถานภาพของข้าราชการที่เรียกว่าตำรวจนี้ในสมัยนั้นคงไม่ได้โกร่งกร่าง “อหังการ” เหมือนตำรวจในสมัยนี้ สังเกตได้จากการเคลื่อนไหวทางการเมืองในยุคแรกๆ ที่ไม่มีตำรวจไปเกี่ยวข้องอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นกบฏ ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2455) หรือคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่เรียกว่า “คณะราษฎร” ก็ไม่พบแกนนำที่เป็นตำรวจ จนเมื่อมีความแตกแยกในคณะราษฎรครั้งที่มีการทำรัฐประหารใน พ.ศ. 2490 พ.อ.เผ่า ศรียานนท์ ลูกเขยของ พล.ท.ผิน ชุณหะวัน (ยศขณะนั้นของทั้งสองท่าน) ผู้เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารและนอมินีของจอมพล ป. พิบูลสงคราม หัวหน้ารัฐบาล ได้อาสามาดูแลกรมตำรวจ และได้สร้างกรมตำรวจให้ยิ่งใหญ่ ถึงขั้นมีการประกาศคำขวัญว่า “ไม่มีอะไรใต้อาทิตย์ดวงนี้ที่ตำรวจไทยทำไม่ได้” เพราะตำรวจได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง คนที่เป็นตำรวจจะได้ลาภยศเป็นอันมาก ทั้งยังมีอำนาจแบบ “คับฟ้า” ทำให้อาชีพตำรวจเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากมาถึงปัจจุบัน อย่างที่เพลงลูกทุ่งได้นำมาร้องเป็นเพลงเสียดสีว่า “เป็นเมียทหารต้องนอนนับขวด เป็นเมียตำรวจได้นอนนับแบงก์”
ที่เขียนประวัติของกิจการตำรวจมาให้อ่านข้างต้นนั้น เจตนาก็ต้องการชี้ให้เห็นว่า ถ้าอยากจะมีอำนาจวาสนาคับบ้านคับเมือง ท่านจะต้องเป็นตำรวจที่รับใช้การเมือง หรือไปแสวงหาอำนาจร่วมกับนักการเมือง ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็น “ตำรวจกลายพันธุ์” อย่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ที่ตอนแยกตัวออกมาจากกรมตำรวจก็ตั้งใจว่าจะทำหน้าที่ให้ดีกว่าตำรวจแบบเดิมๆ แต่ครั้นนานไปก็ต้อง “ซมซาน” กลับมาเป็นเหมือนตำรวจแบบเก่า คือ ต้องคอยประจบนักการเมืองและเอาตัวรอดไปแบบไม่มีศักดิ์ศรี หรือในการประชุมสภาที่ผ่านมาที่เราได้เห็น “ยาม” เอ๊ย ตำรวจสภา ทำท่าขึงขังลงไปเกลือกกลั้วด้วยกับ สส.ผู้ทรง “เกือก” เอ๊ย ทรงเกียรติ
อีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับตำรวจและการเมืองนี้ก็คือ หลายปีมานี้หลังจากที่มีเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองมาโดยตลอด ตำรวจไทยได้สร้าง “เทคนิควิทยา” ในการทำงานของตำรวจแบบใหม่ขึ้นมา คือ คดีอะไรที่ยากๆ หรือขี้เกียจจะสางปมคดี ก็จะ “ยัดข้อหา” ให้เป็นคดีการเมืองไปทั้งหมด แล้วส่งให้ DSI ล้างชามต่อไป (ซึ่ง DSI ก็ดีใจเพราะจะได้ทำงานใกล้ชิดกับนักการเมือง) ส่วนคดีอะไรที่เป็นการเมืองซับซ้อนก็จะ “ปิดคดี” ด้วยการทำให้เป็นอาชญากรรมทั่วไป กระนั้นก็ยังรักษาเทคนิควิทยาแบบเดิมๆ บางอย่างไว้ เช่น ตั้งข้อสันนิษฐานในคดีต่างๆ ไว้ให้มากๆ เผื่อว่าจะได้ใช้เวลาในการทำคดีให้นานๆ กระทั่งคนลืมไปเอง คดีก็จะปิดไปโดยธรรมชาติ อย่างคดีคุณภัทระ คำพิทักษ์ บก.ใหญ่โพสต์ทูเดย์ ก็จะมีอันเป็นไปในทำนองนี้ (เว้นแต่จะเปลี่ยนรัฐบาล)
ครอบครัวของผู้เขียนมีผู้ชาย 4 คน เป็นตำรวจเสีย 3 คน คือ พ่อ พี่ชาย และน้องชาย เว้นผู้เขียน (ที่ไม่รู้ว่าโชคดีหรือร้าย) ที่ไม่ได้เป็นตำรวจ เพราะป่วยตอนที่จะไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารพอดี เคยเป็นกรรมการปรับปรุงกิจการตำรวจมา 2 รัฐบาล คือ รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีญาติมิตรและลูกศิษย์ลูกหาเป็นตำรวจอยู่มาก โดยส่วนตัวรักและเป็นห่วงตำรวจมาก จึงไม่อยากเห็นตำรวจทำอะไรที่น่าเกลียดน่ากลัวให้ชาวบ้านเขาด่า
เป็น “แขกยามของประชาชน” ดีกว่าเป็น “นายพลที่พี่ให้”