ตกใจวิกฤตซีเรีย!น้ำมันโลกทะลุเพดาน
นอกเหนือจากประเด็นกระแสทุนไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เป็นผลมาจากแนวโน้มของการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์
นอกเหนือจากประเด็นกระแสทุนไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เป็นผลมาจากแนวโน้มของการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอการใช้นโยบายอัดฉีดแล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่กำลังได้รับการจับตามองไปทั่วโลกก็คือวิกฤตความขัดแย้งในซีเรีย ที่กำลังส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันโลกให้พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในระหว่างการซื้อขายน้ำมัน เมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมาตามเวลาสหรัฐ ราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ งวดส่งมอบเดือน ต.ค. พุ่งขึ้นไปถึง 110.38 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ราคายังอยู่ต่ำกว่า 95 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
วิกฤตความขัดแย้งในซีเรียซึ่งดำเนินมานาน กว่า 2 ปี และทำให้มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 1 แสนคนนั้น ได้เริ่มกลับมาเป็นที่สนใจของทั่วโลกอีกครั้ง เมื่อกองทัพฝ่ายรัฐบาลใช้อาวุธเคมีเข้าสังหารฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเมื่อสัปดาห์ก่อน จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 300 คน
ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐไม่อาจยอมรับได้ อีกทั้งยังเคยได้ตั้งเงื่อนไขไว้เมื่อปีที่แล้วว่า หากรัฐบาลซีเรียใช้อาวุธเคมีเข้าทำร้ายฝ่ายต่อต้าน สหรัฐจะถือเป็นเส้นตายในการตัดสินใจดำเนินนโยบายเข้าแทรกแซงในวิกฤตซีเรียอีกด้วย
จึงทำให้เหล่านักวิเคราะห์มองว่าบรรดารัฐบาลตะวันตก ทั้งสหรัฐ อังกฤษ และฝรั่งเศส น่าจะเคลื่อนพลเข้าโจมตีรัฐบาลซีเรียในเร็วๆ วันนี้ ซึ่งล่าสุดแม้แต่ ชัค เฮเกล รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ ยังเผยว่า พร้อมจะดำเนินการทางทหารในทุกรูปแบบต่อซีเรียแล้ว ถ้าหากว่าได้รับคำสั่งโดยตรงจากประธานาธิบดี บารัก โอบามา
สาเหตุที่ทำให้วิกฤตซีเรียหนนี้ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันโลกอย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่ซีเรียเองก็ไม่ใช่ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก เพราะเกิดความหวั่นเกรงกันว่า การเข้าแทรกแซงปัญหาสงครามกลางเมืองในซีเรียของชาติตะวันตกอาจจะทำให้ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี ยิ่งบานปลายยิ่งเสี่ยงขยายวงลุกลามออกไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลางได้ไม่ยาก โดยเฉพาะประเทศส่งออกน้ำมันรายใหญ่อย่างซาอุดีอาระเบีย
เพราะขณะนี้สงครามกลางเมืองในซีเรียนั้นไม่ใช่ความขัดแย้งที่จำกัดวงอยู่แต่เฉพาะฝ่ายรัฐบาล ที่นำโดยประธานาธิบดี บาชาร์ อัล อัสซาด กับกลุ่มกบฏแล้ว แต่ได้กลายสภาพเป็นสงครามตัวแทนไปแล้ว โดยฝ่ายรัฐบาลได้รับการสนับสนุนทั้งด้านเงินทุนและอาวุธจากอิหร่านและกลุ่มกองกำลังเฮซบอลเลาะห์ในเลบานอน
ขณะที่ฝ่ายต่อต้านได้รับการหนุนหลังจากซาอุดีอาระเบีย ตุรกี อิสราเอล และรัฐบาลจากชาติตะวันตก
ดังนั้น แนวโน้มที่กลุ่มมหาอำนาจตะวันตกนำโดยสหรัฐจะเข้าแทรกแซงซีเรีย จึงเปรียบเสมือนเป็นการเปิดหน้าฉากทำสงครามกับรัฐบาลซีเรียอย่างเป็นทางการ ซึ่งนั่นอาจเป็นการไปดึงเอาประเทศต่างๆ ที่หนุนหลังแต่ละฝ่ายออกมาเผชิญหน้ากันหนักหน่วงขึ้น โดยเฉพาะอิหร่านกับอิสราเอล
และยังอาจกลายเป็นต้นเหตุนำไปสู่การบั่นทอนเสถียรภาพในภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่เป็นแหล่งผลิตน้ำมันและเส้นทางขนส่งน้ำมันถึง 1 ใน 3 ของโลกให้ยิ่งมากขึ้นไปจากเดิมที่มีปัญหาความขัดแย้งในอียิปต์อยู่ก่อนแล้ว
เนื่องจากประเทศต่างๆ ล้วนเป็นประเทศที่มีบทบาทในการเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกกันทั้งสิ้น โดยเฉพาะ ซาอุดีอาระเบีย ถือเป็นผู้ผลิตน้ำมันเบอร์หนึ่งของโลก ขณะที่อิหร่าน แม้ว่าจะถูกตะวันตกคว่ำบาตรในการซื้อขายน้ำมัน แต่ก็มีบทบาทสำคัญต่อตลาดน้ำมันโลก เพราะควบคุมเส้นทางขนส่งน้ำมันที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกอย่างช่องแคบฮอร์มูซไว้ในกำมือ
“ขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังวิตกว่าการเข้าแทรกแซงของชาติตะวันตกจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง” บิล สโตน หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนของพีเอ็นซี แอทเซท แมนเนจเมนต์ เผย
ด้านโกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่าในอนาคตอันใกล้อาจได้เห็นราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไปแตะอยู่ที่ 115 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลได้ทีเดียว!
อย่างไรก็ตาม จากคำถามและข้อสงสัยที่ว่า ถ้าหากชาติตะวันตกเข้าแทรกแซงซีเรียจะทำให้ราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงขึ้นในระยะยาวหรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่ยังไม่อาจคาดเดาได้ในขณะนี้ เพราะต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักอย่างสหรัฐว่าจะจัดการกับปัญหานี้รวดเร็วเพียงใด
เนื่องจากหากว่าสหรัฐเลือกที่จะทุ่มเทกำลังทั้งหมดเพื่อรีบเช็กบิลรัฐบาลเผด็จการซีเรียอย่างรวดเร็วเหมือนเช่นที่เคยทำกับอิรักในปี 2003 ก็จะทำให้ความขัดแย้งจบเร็วขึ้น และก็จะไม่สั่นคลอนราคาน้ำมันในระยะยาวให้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ปริมาณความต้องการน้ำมันของโลกยังต่ำอยู่ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว
แต่ถ้าหากว่าสหรัฐเลือกที่จะใช้แนวทางการแทรกแซงแบบครึ่งๆ กลางๆ เหมือนที่ทำกับการโค่นประธานาธิบดี โมฮัมเหม็ด กัดดาฟี ของลิเบีย ในปี 2011 ก็จะทำให้วิกฤตความขัดแย้งลากยาวต่อไป และเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบกับทิศทางราคาน้ำมันในระยะยาวให้สูงขึ้น
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์หลายฝ่ายต่างลงความเห็นกันว่า โอกาสสูงที่จะเป็นอย่างหลังมากกว่า เนื่องจากขณะนี้ผู้นำสหรัฐยังไม่ต้องการเปิดฉากทำสงครามกับต่างประเทศอย่างเต็มตัว
เพราะประการแรก สหรัฐยังมีปัญหาด้านเศรษฐกิจและการขาดดุลงบประมาณในบ้านของตนเองอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเพดานหนี้ที่จะถึงกำหนด 16.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในเดือน ต.ค.นี้
ประการต่อมาคือ ประชาชนชาวสหรัฐส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าไปวุ่นวายกับการเมืองนอกประเทศ และการทำสงคราม โดยเห็นได้จากผลสำรวจความเห็นของประชาชนของรอยเตอร์สและอิปซอส ที่เผยว่า ชาวอเมริกันมากกว่า 49% ไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซงปัญหาในซีเรีย ขณะที่ประชาชนที่เห็นด้วยมีเพียงแค่ 26.5% เท่านั้น
จึงคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตในระยะยาว ราคาน้ำมันโลกน่าจะพุ่งทะยานขึ้นอย่างแน่นอน และยิ่งเมื่อรวมกับปัจจัยเสริมอื่นอย่างเช่นปัญหาการประท้วงของคนงานในแหล่งขุดเจาะน้ำมันหลายแห่งในลิเบีย ที่ทำให้การผลิตน้ำมันลดลงไปถึง 1 ล้านบาร์เรล ไปอยู่ที่ 2 แสนบาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน เม.ย. และการลดการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศในแอฟริกา เช่น ไนจีเรีย ซูดาน ก็ยิ่งทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น เพราะซัพพลายน้ำมันที่ออกสู่ตลาดโลกมีน้อยลง
จากแนวโน้มราคาน้ำมันโลกที่จะเพิ่มสูงขึ้น ทั้งในระยะสั้นและยาวนี้ คาดว่าจะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชีย ที่ในขณะนี้กำลังเผชิญกับภาวะเงินอ่อนค่าลง จากปัญหาเงินไหลออกอย่างหนัก จะมีต้นทุนในการนำเข้าน้ำมันแพงขึ้น ซึ่งจะถือเป็นการเข้าซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่แล้วให้ยิ่งสาหัสจากปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นเข้าไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำลังซื้อที่จะหดหายลงไป
“ถ้าราคาน้ำมันเริ่มสูงขึ้น ชัดเจนว่าจะส่งผลในด้านลบต่อเอเชีย โดยเฉพาะเศรษฐกิจอินเดียจะเสี่ยงมากที่สุด เพราะราคาน้ำมันที่สูงขึ้นนอกจากจะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นแล้ว ยังจะทำให้การขาดดุลงบประมาณยิ่งเลวร้ายลง” รอบ ซับบาราแมน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากโนมูระ กล่าว
แมทธิว เชอร์วูด หัวหน้าฝ่ายวิจัยตลาดและการลงทุนของบริษัท เพอร์พีทัล ในออสเตรเลีย กล่าวให้สัมภาษณ์กับวอลสตรีท เจอร์นัล ว่า ขณะนี้เอเชียกำลังเผชิญทั้งปัญหาความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ดันราคาน้ำมันสูงขึ้น และการลดการใช้มาตรการอัดฉีดลง ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้รวมเป็นพายุที่รุนแรงมาก
อีทัน ฮาร์ริส หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจโลกของแบงก์ออฟอเมริกา ประเมินว่า การขึ้นราคาน้ำมันโลกทุกๆ 10 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จะทำให้การขยายตัวของจีดีพีโลกลดลงไปเกือบ 0.25% ของจีดีพี ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงขึ้นแล้วถึง 12 เหรียญสหรัฐ
จึงนับเป็นทิศทางหายนะที่ทุกฝ่ายจะต้องเตรียมพร้อมรับมือให้ดี!