posttoday

เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้น

03 กันยายน 2556

การออกมาการันตีของกระทรวงการคลัง ว่าเศรษฐกิจไทยที่ทรุดต่ำมาอย่างต่อเนื่อง 2 ไตรมาส

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

การออกมาการันตีของกระทรวงการคลัง ว่าเศรษฐกิจไทยที่ทรุดต่ำมาอย่างต่อเนื่อง 2 ไตรมาส มีสัญญาณของการฟื้นตัวแล้ว แม้ว่าในภาพรวมยังคงชะลอลงก็ตาม

กระทรวงการคลังฟันธงว่า เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยแล้ว นั่นหมายความว่านับจากนี้ไปเศรษฐกิจไทยมีแต่จะขยายตัวในทางที่ดีขึ้น

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่เป็นมันสมองของกระทรวงการคลัง ออกมาการันตีว่าดัชนีต่างๆ ทางเศรษฐกิจดีขึ้น เพื่อพยายามให้นักลงทุนเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้ว

เริ่มตั้งแต่การส่งออกเดือน ก.ค. ที่แม้จะยังหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ลบ 1.5% แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าการส่งออกกลับมาขยายตัวได้ 0.8%

ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน พบว่า แม้ในภาพรวมยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือน ก.ค. จะหดตัวลงมาติดลบ 1.9% ต่อปี แต่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศยังคงขยายตัวเป็นบวกได้ที่ 5.5%

โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัวติดลบเนื่องจากมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากการนำเข้าต่ำกว่าเป้าจำนวนมาก

ขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือน ก.ค. 2556 ขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ 9% เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้าง ที่วัดจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่กลับมาขยายตัวเร่งขึ้นอยู่ที่ 29.9% ในเดือนนี้

การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่วัดจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือน ก.ค. 2556 แม้จะยังคงหดตัวติดลบ 3.6% แต่เมื่อพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนพบว่าสามารถขยายตัวที่ 8.7%

สศค. จึงระบุว่า เมื่อพิจารณาตัวเลขทั้งหมดจะเห็นว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังชะลอตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพียงแต่ตัวเลขทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่อยู่ในช่วงเศรษฐกิจอย่างหนัก มีตัวเลขที่เป็นบวกมากขึ้น

การออกมาปักธงของกระทรวงการคลัง ว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้ว เป็นการฟื้นตัวอย่างแท้จริง หรือเป็นการตัดตอนดัชนีบางส่วนมาขยายให้เห็นว่าเศรษฐกิจไม่ได้แย่อย่างที่คิด ชวนให้ขบคิด

ต้องไม่ลืมว่า ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพิ่งประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ของปี 2556 สามารถขยายตัวได้เพียง 2.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกที่ขยายตัวได้ 5.4% ก็แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจยังในอยู่ภาวะหัวทิ่มลงเหว

เพราะนอกจากเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ได้น้อยกว่าที่คาดไปมากแล้ว สศช.ยังลดประมาณการเศรษฐกิจทั้งปี 2556 จากเดิมที่คิดว่าจะขยายตัวได้ 4.25.2% เหลือ 3.84.3% ซึ่งสอดคล้องกับการประมาณการของเอกชนหลายสำนักก่อนหน้าที่คาดว่าเศรษฐกิจมีความเสี่ยงจะโตได้น้อยกว่า 4%

เช่นเดียวกับนักวิเคราะห์ต่างประเทศยังรุมสับเศรษฐกิจไทยว่าเข้าสู่ภาวะถดถอย เมื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจขยายตัวติดลบสองไตรมาสติดต่อกัน ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2555 ขยายตัวได้ 19.1% แต่การขยายตัวไตรมาสแรกปี 2556 ได้ 5.4% และไตรมาส 2 ขยายตัวได้ 2.8%

แม้แต่ สศค.ก็ออกมายอมรับว่า ในทางเทคนิคแล้วเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยจริง จะมีแต่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเท่านั้นที่ออกมายืนยันว่าเศรษฐกิจไทยไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย

แต่คล้อยหลังจากนั้นไม่กี่วัน สศค.ก็ออกมาแถลงตัวเลขเศรษฐกิจ โดยเลี่ยงการพูดถึงเศรษฐกิจถดถอยมาเป็นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้ว เป็นการกลับมุม 360% ทำให้หลายฝ่ายตั้งหลักไม่ทันว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวจริงแท้แน่จริงประการใด

เพราะในความเป็นจริงอารมณ์ของคนส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้ฟื้น มีแต่กลับจะแย่ลง ต่อเนื่องจากปัญหาค่าครองชีพที่แพงขึ้น หนี้สินเพิ่มมากขึ้น แต่รายได้กลับคงที่ ทำให้เกิดอาการชักหน้าไม่ถึงหลัง

ปัญหาปากท้องเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้คนส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจไม่ได้ฟื้นตัวอย่างที่กระทรวงการคลังพูด การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าก๊าซ ค่าน้ำมัน หรือแม้แต่ค่าทางด่วนที่เพิ่มขึ้น ล้วนแต่ส่งผลกระทบกับฐานะความเป็นอยู่ทั้งทางตรงและทางอ้อมกับคนส่วนใหญ่

ปัญหาเรื่องรายได้ของประชาชนที่ได้ลดลง ที่เห็นได้ชัดคือ เกษตรกรสวนยางที่ราคาตกต่ำจนรวมกลุ่มประท้วงเพื่อให้รัฐบาลดูแลราคาให้ได้สูงๆ เหมือนโครงการรับจำนำข้าวที่รัฐบาลทุ่มเงินไปหลายแสนล้านบาท

แม้แต่การลงทุนในตลาดหุ้นของคนมีเงิน ก็ยังพบว่าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาความมั่งคั่งของตลาดหายไปร่วม 2 ล้านล้านบาท เงินในกระเป๋าของนักลงทุนหายไปจำนวนมาก ล้วนแต่เป็นการสะท้อนภาพรวมว่าเศรษฐกิจไทยยังมีปัญหา และยังไม่ฟื้นตัวทั้งสิ้น

ที่สำคัญ การที่กระทรวงการคลังออกมาบอกว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นแล้ว เป็นการฟื้นในลักษณะไหน ก็ยังเป็นคำถามที่ยังไม่ชัดเจน เป็นการฟื้นจากก้นเหวพ้นปากเหว หรือเป็นการฟื้นที่จากอยู่ก้นเหว และกำลังลุกปีนขึ้นมาปากเหว

เพราะต้องไม่ลืมว่า เศรษฐกิจที่พ้นจุดต่ำสุดแล้วตามที่กระทรวงการคลังออกมาการันตีนั้น ยังมีขวากหนามอีกมากในช่วงเวลาที่เหลือของปี ทั้งเศรษฐกิจโลกที่ยังมีปัญหา ทั้งอเมริกา ยุโรป จีน ญี่ปุ่น ล้วนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของไทยทั้งนั้น ทำให้การส่งออกของไทยที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจเห็นแววฟื้นได้ยาก

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาวิกฤตเฉพาะหน้าที่ต้องลุ้นกันทุกวัน คือสงครามในซีเรีย หากเกิดขึ้นจริงจะเป็นผลกระทบสำคัญทำให้ราคาน้ำมันสูง ผสมโรงกับการเพิ่มขึ้นของสินค้าต่างๆ ในประเทศ ทำให้ไทยมีปัญหาเงินเฟ้อกระทบกับเศรษฐกิจเป็นมรสุมลูกใหม่หลายลูกเป็นงูกินหางเศรษฐกิจ

สิ่งที่ตามมาคือนักลงทุนเกิดความไม่เชื่อมั่นมากขึ้น ทำให้เงินทุนไหลออก การลงทุนของประเทศสะดุด เศรษฐกิจชะงักเพิ่มและทิ่มหัวลงรอบใหม่ จากที่เศรษฐกิจฟื้นตัวก็จะกลายเป็นเศรษฐกิจฟุบรอบใหม่อีกครั้ง

ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมปัจจัยเสี่ยงในประเทศ จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น ปัญหาสัญญาณฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้

ที่สำคัญ ปัญหาทางการเมืองที่ร้อนแรงจากการแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญ การออกกฎหมายนิรโทษกรรม และปัญหาม็อบเกษตรกรต่างๆ ล้วนอยู่ในภาวะวิกฤตกับเสถียรภาพของรัฐบาลทั้งสิ้น ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองสั่นคลอนเศรษฐกิจของประเทศให้อ่อนแอลงไปด้วย

ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลออกมาก็ไม่มีพลัง เพราะเป็นการรวบรวมสิ่งที่ทำอยู่ปกติมาแต่งตัวออกเป็นมาตรการ ขณะที่เงินอัดฉีดเศรษฐกิจรอบใหม่ก็มีจำกัด เงินกู้จาก พ.ร.ก.น้ำ 3.5 แสนล้านบาท ยังติดปัญหาเบิกไม่ได้ และการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ก็ยังไม่แน่ใจว่าร่างกฎหมายจะผ่านออกมามีผลบังคับใช้หรือไม่

เมื่อเป็นเช่นนี้ เศรษฐกิจที่ฟื้นแล้วตามที่กระทรวงการคลังออกมาตีฆ้องร้องป่าว คงเป็นการฟื้นแต่ไม่ได้ขยายตัวเป็นรูปตัว L ไม่ได้เป็นการฟื้นแล้วจะขยายตัวได้เป็นตัว V ตัว U อย่างที่กระทรวงการคลังการันตีแน่นอน