posttoday

โง่เง่าเต่าตุ่น

15 กันยายน 2556

โง่ โง่เง่า โง่เง่าเต่าตุ่น โง่เป็นควาย!!!

โง่ โง่เง่า โง่เง่าเต่าตุ่น โง่เป็นควาย!!!

คำว่า “โง่” คำเดียวช่างขยายความออกไปได้มากมาย นอกจากนี้ยังมีคำอื่นๆ ที่สามารถเอามาใช้แทนคำว่าโง่ได้อีก เช่น งั่ง บื้อ ซื่อบื้อ กาก (อันนี้เป็นภาษาวัยรุ่นในปัจจุบัน) รวมทั้งทับศัพท์ในภาษาอังกฤษว่า สติวปิด (Stupid) อีเดียต (Ediot) และซิลลี่ (Silly) เป็นต้น

ที่เขียนเรื่องนี้ในวันนี้ไม่ใช่จะตามกระแสที่สาวๆ (มากบ้างน้อยบ้าง) ในสภาเขากำลังทะเลาะกันเรื่อง “นายกฯ ยิ่งลักษณ์ โง่หรือไม่” เพราะไม่น่าจะมีประโยชน์ทางการศึกษามากนัก (แต่อาจจะมีความสำคัญต่อสังคมบ้านเมือง) ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นนักการศึกษา เห็นว่า นายกฯ อย่างคุณยิ่งลักษณ์อยู่นอกเหนือมาตรฐานการวัดทั้งปวง จึงไม่อาจจะบอกได้ว่า “โง่หรือฉลาด”

แต่ที่ผู้เขียนเห็นว่าโง่ที่สุดก็คือนักการเมืองไทย ในทำนอง “โง่แล้วยังอวดฉลาด” หรือถ้าจะพูดด้วยสำนวนของ โกวเล้งนักประพันธ์นวนิยายกำลังภายในชื่อดัง ก็ต้องพูดว่า “โง่งั่งอย่างตั้งใจ” ผู้หลักผู้ใหญ่บางคนบอกว่าที่จริงพวกนี้ “โง่โดยสันดาน” และ “โง่โดยกรรมพันธุ์” อย่างที่มีบางคนแปลงพุทธวัจนะ ในเรื่องกรรมมาอธิบายถึงความโง่ของนักการเมืองเหล่านี้ว่า “นักการเมืองทั้งหลายมีความโง่เป็นของตน เป็นทายาทแห่งความโง่ มีความโง่เป็นกำเนิด มีความโง่เป็นเผ่าพันธุ์ มีความโง่เป็นที่พึ่งอาศัย ความโง่ย่อมจำแนกนักการเมืองให้ (รู้ว่าใคร) ชั่วและดีได้”

ทีนี้เรามาดูว่านักการเมืองชั่วๆ เอ๊ย โง่ๆ เป็นฉันใด

ในชุดวิชาปัญหาพัฒนาการเมืองไทยที่ใช้เรียนกันในสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มีเนื้อหาที่กล่าวถึง “นักการเมืองกับการพัฒนาการเมืองไทย” ว่านักการเมืองไทยคืออุปสรรคหรือ “ตัวปัญหา” ที่สำคัญอย่างหนึ่ง โดยกล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยว่าจะต้องมี “บทบาทหน้าที่” หรือ “ความรับผิดชอบ” อย่างไรบ้าง โดยที่ให้นิยามว่า นักการเมืองคือคนที่ทำหน้าที่อยู่ใน 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่ ในรัฐสภา ที่หมายถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา และในรัฐบาลที่หมายถึงนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี รวมทั้งทีมงานและผู้ที่มีหน้าที่ต่างๆ ทางการเมือง ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ นอกจากนี้ยังหมายถึงนักการเมืองในระดับท้องถิ่นที่มีตำแหน่งอยู่ในองค์การบริหารท้องถิ่นในระดับต่างๆ และทีมงานของนักการเมืองเหล่านั้นด้วย

หน้าที่ความรับผิดชอบของนักการเมืองเหล่านี้มีอยู่ 3 เรื่องใหญ่ๆ เรื่องแรก นักการเมืองคือคนที่ทำงานเพื่อประชาชน ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยเขาจะต้องทำงานให้กับประชาชนทุกคน ไม่ใช่เฉพาะแต่คนที่เลือกเขาเข้ามา ตามหลักการที่ว่าทำเพื่อประโยชน์ของเสียงส่วนใหญ่ แต่ก็ต้องไม่ลิดรอนหรือละทิ้งประชาชนเสียงข้างน้อย เรื่องต่อมา ต้องทำหน้าที่เพื่อส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือพรรคพวกและบริวาร ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเสียสละทุ่มเท เพราะงานการเมืองคือการอาสาเข้ามาทำงานเพื่อประโยชน์สุขของคนทุกหมู่เหล่า

เรื่องสุดท้ายที่น่าจะสำคัญอย่างยิ่งก็คือ นักการเมืองจะต้องมีความรับผิดชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ของตน ไม่ว่าจะในฐานะใดๆ เช่น ถ้าเป็นฝ่ายนิติบัญญัติก็ต้องดูแลการออกกฎหมาย การตรวจสอบควบคุมรัฐบาลและข้าราชการ ตลอดจนนำปัญหาของประชาชนเข้าไปปรึกษาหารือและแก้ไขให้ถึงที่สุด หรือถ้าอยู่ในรัฐบาลก็ต้องตั้งใจทำงาน บริหารนโยบายและกำกับควบคุมอำนวยการให้กลไกต่างๆ ของรัฐให้ทำหน้าที่อย่างดี อย่างเต็มที่ โดยจะต้องไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น หาประโยชน์ใส่ตัวอย่างที่เรียกว่าต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

จากนั้นได้กล่าวถึงพฤติกรรมของนักการเมืองไทยตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ถึงปัจจุบัน โดยสรุปก็คือยังมีความบกพร่องในหน้าที่ในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ตำแหน่งหน้าที่และอำนาจที่มีอยู่แสวงหาประโยชน์ กอบโกย โกงกิน มีการเล่นเกมการเมืองอยู่ตลอดเวลา แย่งชิงอำนาจกันและกัน ใช้การเลือกตั้งเป็น “ตรายาง” หรือให้เสียงของประชาชนมาเป็นฐานรองรับความชอบธรรมที่จะใช้อำนาจแสวงหาประโยชน์ส่วนตนอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งชักนำประชาชนเข้ามาเป็นคู่ขัดแย้ง โดยอาศัยนโยบายประชานิยมมา “แบ่งแยกแล้วปกครอง”

แนวทางในการพัฒนานักการเมืองของไทยก็คือ การสร้างความตระหนักรับรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของตนให้ถูกต้อง เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมักจะเกิดจากการเอาแบบอย่างกัน หรือการ “ครอบ” ด้วยนักการเมืองรุ่นพี่และกลุ่มก๊วนที่นักการเมืองเหล่านั้นไปเข้าสังกัด อันเป็นวัฒนธรรมอันเลวร้ายของการเมืองไทย นักการเมืองไทยจึงไม่ค่อยจะมีอุดมการณ์ หรือหากมีเมื่อเข้าไปอยู่ในสภาและรัฐบาลแล้ว ก็มักเสียผู้เสียคนด้วยการ “เข้าเมืองตาหลิ่ว” และต้องเป็นคนชั่วตามๆ กันไป (ปัจจุบันนี้มีความชั่วแบบใหม่คือใช้สื่อสร้าง “ชื่อเสีย” และก็เอาแบบกันจนเป็นปกติธรรมดา เพื่อที่จะให้ตนเองได้เป็นข่าวหรือปรากฏเป็นความเคลื่อนไหวให้ชาวบ้านติดหูติดตา)

ครับ คงไม่มีนักการเมืองคนใดได้อ่านตำราเล่มนี้

ความจริงแม้นักการเมืองเหล่านี้ไม่ได้อ่านหรือไม่ได้เรียนพื้นฐานทางด้านรัฐศาสตร์อย่างที่กล่าวมานี้ แต่อย่างน้อยในสามัญสำนึกหรือความรู้สึกอย่างคนธรรมดาทั่วไปก็น่าต้องมี “ความคิด” บ้างว่า พวกเขามีหน้าที่ทำอะไรและจะต้องแสดงหรือมีบทบาทอย่างไร แต่ที่เราเห็นอยู่ในทุกวันนี้นั้น มันเหมือนกับนักการเมืองเหล่านี้ไม่ฟังใคร ไม่ดูสื่อ อ่านข่าว หรือฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ อันเป็นวิสัยของคนที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่จะต้องกระตือรือร้นในการสื่อสารกับประชาชนให้เข้มข้น ด้วยเหตุนี้กระมัง นักการเมืองไทยจำนวนมากจึงมีสติปัญญาค่อนข้าง “น้อย”

บางทีก็ดูเหมือนว่านักการเมืองเหล่านี้จะ “แกล้งโง่” คือ ก็รู้ ก็อ่าน ก็ดูสื่อ และก็น่าจะได้ฟังคนติชม (หรือด่า) มาบ้าง แต่ก็ทำเป็นไม่สนใจที่จะปรับปรุงตัวเอง ยังคงทำหน้าที่บกๆ พร่องๆ เช่น ไม่เข้าประชุมสภาเสียบ้าง ด่าทอและแสดงความทุเรศต่างๆ ในการประชุมสภา โกงกินคอร์รัปชั่น ทำตัวอยู่เหนือกฎหมาย และ “เสี้ยมเขา” ประชาชนให้ออกมาประหัตประหารกัน ฯลฯ ซึ่งนักการเมืองประเภทนี้แหละที่สร้างความเสื่อมเสียให้กับประเทศชาติเสมอมา

นักการเมืองนั้นเป็นผู้นำของผู้คน เป็น “หน้าตา” ของสังคม เราอยากเห็นนักการเมืองที่ดีและมีความฉลาดในทางที่ดี นักการเมืองนั้นส่วนใหญ่มีการศึกษาสูงๆ ดีๆ ก็น่าจะทำตัวให้ดีๆได้ไม่ยาก หรือถ้าจะพัฒนาไปอีกระดับให้เป็น “ปราชญ์” ก็ยังได้ เพียงแต่ปราชญ์นั้นท่านต้องฟังให้มากๆ อย่างที่เรียกว่า“พหูสูต” (พหุ = มาก สุตะ = ฟัง) แต่ท่านก็ไม่ค่อยฟัง เอาแต่ฟัดกัน

แทนที่จะเป็นปราชญ์ก็เป็น...อะไรก็ไม่รู้