โลกมีดวงจันทร์ มากกว่าหนึ่งจริงหรือ?
ดาวเคราะห์หลายดวงในระบบสุริยะมีดวงจันทร์บริวารตามธรรมชาติมากกว่าหนึ่งดวง ดาวพุธและดาวศุกร์ไม่มีบริวาร ดาวอังคารมี 2 ดวง ดาวพฤหัสบดีมี 67 ดวง
ดาวเคราะห์หลายดวงในระบบสุริยะมีดวงจันทร์บริวารตามธรรมชาติมากกว่าหนึ่งดวง ดาวพุธและดาวศุกร์ไม่มีบริวาร ดาวอังคารมี 2 ดวง ดาวพฤหัสบดีมี 67 ดวง ดาวเสาร์มี 62 ดวง ดาวยูเรนัสมี 27 ดวง ดาวเนปจูนมี 14 ดวง แล้วโลกของเราล่ะ
เมื่อไม่กี่ปีมานี้ หนังสือเล่มหนึ่งอ้างว่าโลกมีดวงจันทร์มากกว่าหนึ่งดวง แท้จริงแล้วอาจกล่าวได้ว่าเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนัก หรือละไว้ โดยเลือกที่จะไม่อธิบายให้ชัดเจน
ดาวบริวารในระบบสุริยะหมายถึงวัตถุที่โคจรรอบอีกวัตถุหนึ่ง โดยที่วัตถุศูนย์กลางนั้นไม่ใช่ดวงอาทิตย์ สามารถเป็นได้ทั้งดาวเคราะห์ ดาวเคราะห์แคระ ดาวเคราะห์น้อย ดาวบริวารแบ่งได้เป็นดาวบริวารตามธรรมชาติที่เรามักเรียกว่าดวงจันทร์ เช่น ดวงจันทร์ของโลก ดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี กับดาวบริวารที่มนุษย์สร้างขึ้น นั่นก็คือดาวเทียม
3753 ครูอีนยา (3753 Cruithne) ดาวเคราะห์น้อยขนาดราว 5 กิโลเมตร เป็นหนึ่งในวัตถุที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างของดาวบริวารอีกดวงหนึ่งของโลก แต่นักดาราศาสตร์ไม่คิดเช่นนั้น บางคนเรียกดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้ว่าเป็นดาวกึ่งบริวาร (quasisatellite) เนื่องจากมันโคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบเกือบเท่ากับคาบการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ แต่มีความรีของวงโคจรมากกว่าโลก จึงไม่ซ้อนทับกับวงโคจรโลก
หากเราพล็อตตำแหน่งของดาวเคราะห์น้อยที่เป็นดาวกึ่งบริวารเหล่านี้ในอวกาศ โดยตรึงให้โลกและดวงอาทิตย์อยู่นิ่งเป็นกรอบอ้างอิง การเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อยกลุ่มนี้จะมีลักษณะคล้ายเกือกม้า มีดวงอาทิตย์อยู่ตรงกลาง โลกอยู่ที่ช่องว่างระหว่างปลายสองข้างของเกือกม้า นอกจากดาวเคราะห์น้อยครูอีนยา ยังค้นพบดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กอีกจำนวนหนึ่งที่โคจรในลักษณะคล้ายกัน
วัตถุที่ถูกอ้างว่าเป็นดวงจันทร์บริวารดวงอื่นๆ ของโลก ที่จริงล้วนเป็นดาวเคราะห์น้อยที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยกันทั้งสิ้น แต่มีวงโคจรสัมพันธ์กับโลกดังที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ได้โคจรรอบโลกแต่อย่างใด จึงไม่ถือว่าเป็นดวงจันทร์บริวารของโลกอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม โลกก็สามารถมีดวงจันทร์บริวารมากกว่าหนึ่งได้จริง แต่เป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น นักดาราศาสตร์พบว่าดาวเคราะห์น้อยบางดวงเคยเข้ามาใกล้โลก แล้วถูกแรงโน้มถ่วงของโลกจับไว้ให้โคจรรอบโลก แต่วงโคจรของวัตถุเหล่านี้ก็ไม่เสถียร จึงกลับออกไปโคจรรอบดวงอาทิตย์ดังเดิม
เดือน มี.ค. 2545 นักดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยจากการสร้างแบบจำลองด้วยซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ติดตามการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อยสมมติจำนวน 10 ล้านดวง พวกเขาพบว่าดาวเคราะห์น้อยที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ สามารถกลายเป็นดาวบริวารของโลกในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยมีเส้นทางการโคจรรอบโลกที่ซับซ้อน ไม่ใช่วงกลมหรือวงรีที่สมบูรณ์ ระนาบวงโคจรก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ อันเป็นผลจากแรงโน้มถ่วงรบกวนจากดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และโลก จากนั้นภายในเวลาหนึ่งปีหรืออาจนานหลายสิบปี ก็หลุดพ้นเป็นอิสระ กลับไปโคจรรอบดวงอาทิตย์แบบดาวเคราะห์น้อยอื่นๆ
งานวิจัยนี้คาดว่าในขณะใดขณะหนึ่ง อาจมีดาวเคราะห์น้อยขนาดหนึ่งเมตรขึ้นไป จำนวนหนึ่งดวงหรือมากกว่า กำลังโคจรรอบโลกอยู่โดยที่เราไม่รู้ตัว การค้นหาดวงจันทร์บริวารแบบชั่วคราวนี้ทำได้ยากมาก เนื่องจากขนาดที่เล็ก ซึ่งทำให้มีความสว่างน้อย ตรวจพบได้ยาก
พ.ศ. 2549 นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์น้อย 2006 อาร์เอช 120 (2006 RH120) คาดว่ามีขนาดเพียง 5 เมตร ขณะที่ค้นพบนั้น ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้กำลังโคจรรอบโลกโดยมีระนาบวงโคจรเกือบตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตร ตอนแรกนักดาราศาสตร์คาดว่ามันอาจเป็นชิ้นส่วนจรวดขับดันที่ใช้ส่งยานอะพอลโล 12 ต่อมาพบว่าแท้จริงแล้วเป็นดาวเคราะห์น้อย มันโคจรรอบโลกตั้งแต่เดือน ก.ย. 2549 ถึงเดือน มิ.ย. 2550 จากนั้นดาวเคราะห์น้อย 2006 อาร์เอช 120 ก็ออกจากวงโคจรรอบโลก แล้วกลับไปโคจรรอบดวงอาทิตย์ จะเข้ามาใกล้โลกอีกครั้งใน พ.ศ. 2571
คำถามที่ว่าโลกมีดวงจันทร์กี่ดวง? คำตอบคือโลกมีดวงจันทร์ที่เรารู้จักเพียงหนึ่งดวง แต่มีความเป็นไปได้ที่จะมีดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กมาโคจรรอบโลก ทำให้โลกมีดวงจันทร์มากกว่าหนึ่งดวงก็ได้ โดยที่เราไม่รู้ว่ามันอยู่ที่ไหน
ปรากฏการณ์ท้องฟ้า (15–22 ก.ย.)
ดาวศุกร์และดาวเสาร์อยู่บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำทางทิศตะวันตก สามารถสังเกตได้ตั้งแต่ท้องฟ้าเริ่มมืด ต่อเนื่องไปจนกระทั่งก่อนที่ทั้งคู่จะตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณ 2 ทุ่มครึ่ง ดาวเคราะห์สว่างสองดวงนี้เคลื่อนมาอยู่ใกล้กันในสัปดาห์นี้ ช่วงแรกดาวศุกร์อยู่ต่ำกว่า จากนั้นเข้าใกล้กันมากที่สุดในคืนวันพุธที่ 18 ก.ย. ห่างกัน 3.5 องศา ปลายสัปดาห์ ดาวเสาร์เคลื่อนไปอยู่ทางขวามือของดาวศุกร์ และเริ่มมีมุมเงยต่ำกว่าดาวศุกร์
สัปดาห์นี้ดาวพุธจะทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากขึ้น เริ่มปรากฏบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ แต่ยังอยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้า มีตำแหน่งเยื้องไปทางขวามือด้านล่าง เมื่อเทียบกับตำแหน่งของดาวศุกร์และดาวเสาร์ อาจสังเกตได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากบริเวณใกล้ขอบฟ้ามักมีเมฆหมอกบดบัง
ดาวอังคารและดาวพฤหัสบดีอยู่สูงบนท้องฟ้าทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืด เริ่มเห็นดาวพฤหัสบดีตั้งแต่เวลาประมาณตี 2 เป็นเวลาที่ดาวพฤหัสบดีขึ้นมาอยู่เหนือขอบฟ้าราว 10 องศา จากนั้นดาวอังคารจะขึ้นเหนือขอบฟ้าราวตี 3 ครึ่ง เมื่อท้องฟ้าเริ่มสว่างในเวลาเช้ามืด ดาวพฤหัสบดีจะอยู่สูงที่มุมเงย 5060 องศา ส่วนดาวอังคารอยู่ที่มุมเงย 30 องศา หรือตรงกลางระหว่างดาวพฤหัสบดีกับขอบฟ้า
ต้นสัปดาห์เป็นปลายข้างขึ้น ดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้าทิศตะวันออกในเวลาหัวค่ำ จากนั้นสว่างเต็มดวงในค่ำวันพฤหัสบดีที่ 19 ก.ย. วันนั้นดวงจันทร์อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ จึงขึ้นเหนือขอบฟ้าไล่เลี่ยกับเวลาดวงอาทิตย์ตก ดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้าตลอดทั้งคืน และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกในเวลาเช้ามืด