สมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกษัตริย์

22 กันยายน 2556

สมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณควดี กรมหลวงวิสุทธิกษัตริย์ ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณควดี กรมหลวงวิสุทธิกษัตริย์ ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่ สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ทรงเป็นขนิษฐาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันอังคารเดือน 6 ขึ้น 9 ค่ำ ปีเถาะ สัปตศก จ.ศ. 1217 ตรงกับวันที่ 24 เม.ย. 2398

สมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี ทรงเจริญพระชันษาขึ้นในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในราชสำนัก ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของสมเด็จพระบรมราชชนก ทรงได้รับการศึกษาในแบบอย่างของการศึกษาสมัยใหม่ นอกจากจะได้รับการอบรมบ่มเพาะตามขนบธรรมเนียมของราชนารีอย่างเพียบพร้อมสมบูรณ์แล้ว ยังได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษจากครูสตรีชาวต่างประเทศ พร้อมกับพระสหายที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ และบรรดาสตรีที่เป็นบุตรสาวขุนนางข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนข้าราชสำนักฝ่ายใน ตั้งแต่พระชนมายุยังน้อยจนเป็นที่รู้กันว่า สมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี นั้นทรงเป็นศิษย์คนโปรดของแหม่มแอนนา ครูสอนภาษาอังกฤษในสมัยนั้นอย่างหาใครมาเปรียบไม่ได้เลย

เนื่องจากสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เสด็จสวรรคตลงในขณะที่พระราชโอรสและพระราชธิดายังทรงพระเยาว์ สมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี จึงอยู่ภายใต้การอภิบาลของพระองค์เจ้าหญิงละม่อม พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นพระน้องนางเธอร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกันกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าศิริวงศ์ พระบิดาในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี และสมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี ตรัสเรียกว่า “เสด็จยาย” แต่ชาววังทั่วไปเรียกว่า “ทูลกระหม่อมแก้ว”

สมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกษัตริย์

เมื่อเจริญพระชนมายุได้เพียง 9 พรรษา ก็สิ้นพระชนม์ด้วยอหิวาตกโรค พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงแหม่มแอนนา ความว่า

 

มาดามที่นับถือ

ลูกหญิงของเราซึ่งเป็นลูกศิษย์คนโปรดของมาดามป่วยเป็นอหิวาตกโรค และปรารถนาจะพบมาดาม ลูกหญิงเฝ้ารบเร้าให้เรามาเชิญท่านและเรียกหาท่านอยู่เรื่อยๆ เราขอร้องให้ท่านมาดามประสงค์ของลูกหญิง และเกรงว่าอาการป่วยของลูกหญิงคราวนี้จะถึงแก่ชีวิต เพราะตั้งแต่เช้ามามีคนป่วยเป็นโรคตายมาถึง 3 คนแล้ว ลูกหญิงเป็นลูกที่เรารักมากที่สุด

เมื่อแหม่มแอนนาเข้าไปเฝ้าดูอาการประชวรของสมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี ในพระนามมหาราชวังนั้น ก็เป็นเวลาที่ทรงมีพระอาการเพียบหนักแล้ว โดยที่นายแพทย์แคมป์เบล แพทย์ชาวต่างประเทศได้กล่าวแก่แหม่มแอนนาว่า “หมอบรัดเลย์และผมได้ช่วยกันเยียวยาจนสุดความสามารถแล้ว” และก่อนที่หมอจะหยิบกระเป๋ายาออกไปจากพระบรมมหาราชวังก็ได้บอกแก่แหม่มแอนนาว่า

“พวกในวังตามเราก็สายไปเสียแล้ว น่าเสียดาย น่าเสียดายจริงๆ”

เพื่อเป็นประจักษ์พยานแห่งความทุกข์โศกที่ทรงสูญเสียพระราชธิดาอันเป็นที่รักอย่างยิ่งไป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระบรมราชโองการเป็นทางราชการในงานพระราชทานเพลิงศพ ความว่า

ประกาศงานพระเมรุเจ้าฟ้าจันทรมณฑล

และฉลองงานวัด

ณ วันอาทิตย์ เดือนยี่ แรม 1 ค่ำ ปีกุน เบญจศก พ.ศ. 2406

มีพระบรมราชโองการพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสสั่งให้ประกาศแก่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายหน้าฝ่ายใน ในพระบรมมหาราชวัง และพระบวรราชวังตลอดไปจากราษฎรให้ทราบกันว่าการที่ท้องสนามหลวงครั้งนี้พระราชปรารภเริ่มขึ้นด้วยพระราชประสงค์ จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายฉลองพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ซึ่งเป็นพระบรมชนกนาถและพระบรมราชชนนี จึงได้ทรงสถาปนาปฏิสังขรณ์ วัดชัยพฤกษมาลา ซึ่งเป็นพระอารามเดิมของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยไปทรงเริ่มสถาปนาไว้แต่ก่อนและวัดเขมาภิรตาราม ซึ่งกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ได้ทรงปฏิสังขรณ์สร้างไว้แต่เดิมมาสำเร็จแล้ว

วันจันทร์ เดือน 3 ขึ้น 8 ค่ำ จะเสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดเขมาภิรตารามที่ 1 วัดชัยพฤกษมาลาที่ 2 วัดรัชฎาธิฐานที่ 3 วัดราชศรัทธาที่ 4 จะได้พระราชทานไทยธรรมแก่พระสงฆ์ และทิ้งทานทั้ง 4 ตำบล ในวันนี้เป็นที่สุดการฉลองสำเร็จบริบูรณ์ ครั้นวันอังคาร เดือน 3 ขึ้น 9 ค่ำ จะได้เชิญพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี ออกไปตั้งที่เมรุ มีพระธรรมเทศนาสดับปกรณ์แลทิ้งทานแจกทาน ทรงพระราชอุทิศพระราชกุศลไป 3 วัน

งานพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีขึ้น ณ วันอังคารเดือน 3 ขึ้น 9 ค่ำ ตรงกับวันที่ 16 ก.พ. 2406 ได้มีบันทึกไว้ว่า

“แม้เดือน ก.พ.ค่อนข้างจะเป็นปลายฤดูหนาว แต่สายหมอกหนาวก็ปกคลุมแผ่ไปทั่วกรุงเทพมหานคร ทุกหนทุกแห่งดูเหมือนจะปกคลุมด้วยความขาว แต่มันเป็นหมอกของความเศร้าโศก เหมือนฟ้าจะร้องไห้กับชั่วโมงที่คืบคลานเข้ามา ไม่ช้าพระสรีระร่างของเจ้าหญิงก็จะถูกเพลิงเผาไหม้มอด เหลือแต่พระอัฐิให้สมเด็จพระราชบิดาผู้ให้ความรักไว้ดูต่างพระพักตร์

ขบวนอัญเชิญพระศพ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงจันทรมณฑล โสภณภควดี แต่หอธรรมสังเวช จัดเป็นกระบวนแห่ไปสู่พระเมรุที่ท้องสนามหลวงมีเครื่องเล่นสโมสร 3 วัน 3 คืน ครั้น ณ วันพฤหัสบดี เดือน 3 ขึ้น 11 ค่ำ ตรงกับวันที่ 18 ก.พ. ก็พระราชทานเพลิงพระศพ”

สมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณควดี ทรงเป็นพระขนิษฐาของสมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ ภายหลังเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แล้วก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระอิสริยยศแก่พระอัฐิสถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกษัตริย์ฯ” ดังประกาศพระบรมราชโองการดังนี้

ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาล เป็นอดีตภาคล่วงหน้า 2426 พรรษาปัตยุบันกาล พานรสังวัจฉรวิสาขมาส ชุษณปักษ์นวมี ดิถีโสรวาร ปริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่าสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี ซึ่งเป็นพระบรมราชกนิษฐา ประสูติ ณ วันอังคารเดือน 6 ขึ้น 9 ค่ำ ปีเถาะ สัปตศก จุลศักราช 1217 จำเดิมแต่ทรงพระเยาว์มาก็เป็นที่ทรงพระเสน่หาแห่งสมเด็จพระบรมชนกเป็นอันมาก ทรงอุ้มให้ประทับ ณ พระเพลา พระราชทานเครื่องให้เสวยเป็นนิตย์มิได้ขาด สมเด็จพระบรมราชชนนีก็ทรงพระเสน่หายิ่งกว่าพระราชโอรสทั้งสามพระองค์ บรรทมอยู่ด้วยกันเป็นนิรันดรจนทรงพระเจริญพระชนมพรรษาย่างเข้าปีที่ 7 กรมสมเด็จพระเทพสิรินทรามาตย์ สมเด็จพระบรมราชชนนี ก็เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณายิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก ด้วยทรงสงสาร จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีเฉลิมพระนามรับพระสุพรรณบัฏ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีกระบวนแห่ตามพระราชประเพณี ทรงฟังพระสงฆ์ สวดพระพุทธมนต์ 3 วัน ครั้น ณ วันพุธ เดือน 2 ขึ้น 11 ค่ำ ปีจอ จัตวาศก ศักราช 1224 เป็นวันพระฤกษ์พระราชทานพระสุพรรณบัฏเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี ในเมื่อได้รับพระสุพรรณบัฏแล้วมิช้า ครั้น ณ วันพฤหัสบดี เดือน 6 แรม 12 ค่ำ ปีกุน เบญจศก 1225 ก็ประชวรสิ้นพระชนม์โดยพระโรคเป็นปัจจุบัน เป็นที่ทรงพระโสกาลัยของสมเด็จพระบรมชนกนาถและพระญาติประยูรวงศ์เป็นอันมาก เมื่อสิ้นพระชนม์นั้นพระชนมายุได้ 8 ปีกับ 19 วัน สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี นั้น เมื่อยังเสด็จดำรงพระชนม์อยู่ ทรงมีมารยาทเรียบร้อยเป็นอันดีสมควรแก่ขัตติยราชกุมารี และทรงพระปรีชาไวเกินกว่าสามัญในกุมารีโดยมาก เป็นที่เสน่หาปราโมทย์ของสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชและอนุชาธิบดีและพระประยูรญาติทั้งปวงยิ่งนัก

บัดนี้ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอทั้งสองพระองค์ก็ได้ทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงและพระเจ้าน้องนางเธอพระองค์เจ้าหญิงกรรณิการ์ก็ได้พระราชทานพระราชอิสริยยศเป็นกรมขุนฝ่ายใน แต่สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณควดี นั้นเสด็จสิ้นพระชนม์ไปช้านานแล้ว จึงหาได้เลื่อนพระราชอิสริยยศประการใดไม่ ถ้ายังดำรงพระชนม์อยู่ ก็คงจะได้รับราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงฝ่ายในเสมอด้วยสมเด็จพระอนุชาทั้งสองพระองค์ และราชประเพณีซึ่งพระราชทานพระราชอิสริยยศแก่พระอัฐิดังนี้ก็มีแบบอย่างมาแต่ก่อน

จึงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสสั่งให้เลื่อนพระนามสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี เป็นกรมหลวงฝ่ายใน มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกษัตริย์ วรรคมูลอาทิอักษร อรรคอุสาหอันตอักษรให้พระเกียรติคุณวิบุลยยศปรากฏอยู่ในสากล ประเทศจิรัฐติกาลอยู่ชั่วกาลปาวสานเทอญ

ในกาลนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพย์รัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ ได้จารึกโคมประทีป เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกษัตริย์ ว่า

แสงโคมจะส่องหา ทูลหม่อมอาพระองค์หญิง

ห่อนเห็นพระองค์จริง แต่พระเกียรติพระนามยลฯ

สมเด็จขนิษฐา เจ้าฟ้าจันทรมณฑล

ศิริสร้อยโสภณ วรภะคะวะดีฯ

กรมหลวงธิราชตั้ง นามวิสุทธิกระษัตรีย์

หากคงพระชนม์มี จะแสนรักเราหลานหลานฯ

Thailand Web Stat