ดาวเคราะห์กับดาวฤกษ์สว่าง
กลางสัปดาห์นี้เป็นช่วงเวลาที่ดาวเคราะห์สองดวงจะมีตำแหน่งบนท้องฟ้าผ่านใกล้ดาวฤกษ์สว่าง โดยเห็นได้คนละช่วงเวลา
กลางสัปดาห์นี้เป็นช่วงเวลาที่ดาวเคราะห์สองดวงจะมีตำแหน่งบนท้องฟ้าผ่านใกล้ดาวฤกษ์สว่าง โดยเห็นได้คนละช่วงเวลา ตอนเช้ามืดดาวอังคารจะผ่านใกล้ดาวสว่างในกลุ่มดาวสิงโต ส่วนตอนหัวค่ำ ดาวศุกร์จะผ่านใกล้ดาวสว่างในกลุ่มดาวแมงป่อง
ดาวเคราะห์ทุกดวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ในระนาบใกล้เคียงกัน ระนาบนี้อยู่ในแนวที่ลากผ่านกลุ่มดาวจักรราศี ซึ่งเราเห็นดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ไปบนท้องฟ้าในรอบปี เรียกว่าสุริยวิถี ขณะเดียวกันก็มีดาวฤกษ์สว่างบางดวงวางตัวอยู่ตามแนวใกล้สุริยวิถี แต่ละปีเราจึงมีโอกาสเห็นดาวเคราะห์และดวงจันทร์เคลื่อนผ่านดาวฤกษ์เหล่านี้หลายครั้ง
ดาวฤกษ์สว่างที่อยู่ใกล้แนวสุริยวิถีมี 4 ดวง ได้แก่ ดาวอัลเดบารัน (Aldebaran) หรือดาวตาวัว (อีกชื่อหนึ่งคือดาวโรหิณี) ในกลุ่มดาววัว ดาวเรกูลัส (Regulus) หรือดาวหัวใจสิงห์ในกลุ่มดาวสิงโต ดาวสไปกา (Spica) หรือดาวรวงข้าวในกลุ่มดาวหญิงสาว และดาวแอนทาเรส (Antares) หรือดาวปาริชาตในกลุ่มดาวแมงป่อง
เวลาเช้ามืดกลางสัปดาห์นี้ ดาวอังคารจะผ่านใกล้ดาวหัวใจสิงห์ เข้าใกล้กันมากที่สุดในเช้ามืดวันพุธที่ 16 ต.ค. ห่างกันเพียง 1 องศา หรือสองเท่าของขนาดปรากฏของดวงจันทร์ เทียบได้กับขนาดของนิ้วชี้ เมื่อเหยียดแขนออกไปข้างหน้าให้สุด
ปัจจุบันดาวอังคารผ่านใกล้ดาวหัวใจสิงห์เฉลี่ยทุกๆ ประมาณ 2 ปี แต่ละครั้งมีระยะห่างต่างกัน แต่ไม่เคยเข้าใกล้กันที่ระยะต่ำกว่าขนาดปรากฏของดวงจันทร์ และทุกครั้งดาวอังคารจะอยู่ทางทิศเหนือของดาวหัวใจสิงห์เสมอ (ซ้ายมือของดาวหัวใจสิงห์ เมื่อมองไปบนท้องฟ้าทิศตะวันออก)
ดาวอังคารมีวงโคจรถัดไปจากวงโคจรโลก ไม่ค่อยสว่างนักเมื่อเทียบกับดาวเคราะห์ดวงอื่น เนื่องจากมีขนาดเล็กและอยู่ไกล แต่เมื่อดาวอังคารผ่านจุดที่ใกล้โลกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ทุกๆ ประมาณ 15 ปี ดาวอังคารจะสามารถสว่างได้ใกล้เคียงดาวพฤหัสบดี หรือสว่างกว่าดาวพฤหัสบดีเสียอีก
นอกจากดาวอังคารที่อยู่ใกล้ดาวหัวใจสิงห์ ดาวหางไอซอนก็มีตำแหน่งอยู่ใกล้ดาวทั้งสอง แต่ความสว่างของไอซอนยังต่ำมาก ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าและสังเกตได้ยากด้วยกล้องสองตานักดาราศาสตร์คาดว่าดาวหางไอซอนจะค่อยๆ สว่างเพิ่มขึ้น อาจสังเกตได้ด้วยตาเปล่าในช่วงครึ่งหลังของเดือน พ.ย. ก่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในปลายเดือน และกลับมาปรากฏอีกครั้งในเดือนสุดท้ายของปี
กลางสัปดาห์นี้อีกเช่นเดียวกัน แต่เป็นเวลาหัวค่ำดาวศุกร์จะผ่านใกล้ดาวปาริชาตในกลุ่มดาวแมงป่อง เข้าใกล้กันมากที่สุดในคืนวันพุธที่ 16 ต.ค. ห่างกัน 1.6 องศา หรือเป็นระยะทางใกล้เคียงกับการนำดวงจันทร์ 3 ดวง มาวางเรียงกันบนท้องฟ้า
ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ที่สว่างที่สุดเมื่อสังเกตจากโลก หากทราบตำแหน่งที่แน่นอน เราสามารถเห็นดาวศุกร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ได้แม้ในเวลากลางวันที่ท้องฟ้ายังสว่างอยู่ การที่ดาวศุกร์ผ่านใกล้ดาวปาริชาต ซึ่งเป็นดาวยักษ์ใหญ่แดง(Red Supergiant) ทำให้เราสามารถสังเกตเห็นสีที่ต่างกันระหว่างดาวศุกร์กับดาวปาริชาตได้ เช่นเดียวกับสีที่ต่างกันระหว่างดาวอังคารกับดาวหัวใจสิงห์
ช่วงนี้ดาวศุกร์กำลังมีความสว่างเพิ่มขึ้น ทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากขึ้นด้วย โดยห่างมากที่สุดในวันที่ 1 พ.ย. 2556 เดือนนี้จนถึงสิ้นปี จึงเป็นช่วงที่สามารถสังเกตดาวศุกร์บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำได้ทุกวัน และจะเป็นดาวสว่างโดดเด่นที่สุดตลอดช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี
ด้วยคาบและวงโคจรของดาวศุกร์ที่สอดคล้องกับโลกคือ ดาวศุกร์โคจรรอบดวงอาทิตย์ครบ 13 รอบ เมื่อโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบ 8 รอบทำให้เราเห็นดาวศุกร์ผ่านใกล้ดาวปาริชาตที่ระยะใกล้เช่นนี้ทุกๆ 8 ปี โดยแต่ละครั้งมีระยะห่างใกล้เคียงกัน ดังนั้น เราจึงคาดหมายได้ว่าเราจะเห็นดาวศุกร์กับดาวปาริชาตใกล้กันที่ระยะราวๆ นี้อีกในกลางเดือน ต.ค. 2564 2572 2580... และเมื่อค้นดูอย่างละเอียดผู้เขียนพบว่าระยะห่างระหว่างดาวศุกร์กับดาวปาริชาตเมื่ออยู่ใกล้กันทุกๆ 8 ปี ในอนาคตจะขยับเข้าใกล้มากขึ้นทุกที จนดาวศุกร์เกือบจะบังดาวปาริชาตในวันที่ 1920ต.ค. 2117 (พ.ศ. 2660)