ยิ้ม...สิจ๊ะ
วันก่อน ผมได้รับพัสดุจากผู้หลักผู้ใหญ่ที่นับถือคนหนึ่ง ท่านผู้นี้ คือ คุณกิติกร มีทรัพย์ นักจิตวิทยาชื่อดัง อดีตบุคลากรคุณภาพของวงการสาธารณสุข ซึ่งสวมหมวกอีกใบด้วยการเป็นนักเขียน
วันก่อน ผมได้รับพัสดุจากผู้หลักผู้ใหญ่ที่นับถือคนหนึ่ง ท่านผู้นี้ คือ คุณกิติกร มีทรัพย์ นักจิตวิทยาชื่อดัง อดีตบุคลากรคุณภาพของวงการสาธารณสุข ซึ่งสวมหมวกอีกใบด้วยการเป็นนักเขียน
สิ่งที่ผมได้รับ คือ หนังสือเล่มบางๆ ชื่อว่า ยิ้มบำบัด (Smile Therapy) หนังสือที่ท่านเขียนขึ้นและพิมพ์เพียง 100 เล่ม ในวาระครบรอบอายุ 72 ปี เพื่อแจกให้พรรคพวกเพื่อนฝูงไว้ “อ่านเล่น” ผมอ่านรวดเดียวจบ และพบว่ามันช่างสนุก มีสาระน่ารู้ สมควรแก่การบอกต่ออย่างยิ่ง
ยิ้มเป็นพฤติกรรมสำคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์ ซึ่ง ดร.พอล เอ็กแมน นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านยิ้มวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ กล่าวไว้ว่า รอยยิ้มของคนเรานั้นสัมพันธ์กับอารมณ์ที่เป็นสุข เมื่อเรามีความสุข เราจึงยิ้ม เมื่อเรายิ้ม กล้ามเนื้อบนใบหน้าชนิดหนึ่งจะทำงานพร้อมๆ ไปกับการหลั่งของสารชีวเคมี การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมอง และการทำงานของเซลล์ประสาทจะลงตัวเป็นระบบที่สอดคล้องกัน
ส่วนการยิ้มด้วยอารมณ์โกรธขึ้ง ดุดัน จะเป็นการทำงานของกล้ามเนื้อที่ใบหน้ามัดอื่นๆ ขณะเดียวกันการหลั่งของสารชีวเคมี การไหลเวียนของเลือด และการทำงานของเซลล์ประสาทจะสะดุด ไม่เพียงเท่านั้น กล้ามเนื้อบริเวณขอบตาก็จะชวนกันยับเยินเหี่ยวย่นไปด้วย นำมาซึ่งอารมณ์ขุ่นมัว
ยิ้มมีอยู่ 3 ชนิดใหญ่ๆ ประกอบด้วย ยิ้มชื่นสุขใจ (Felt Smile) เกิดจากอารมณ์สดชื่นเป็นธรรมชาติ ซื่อๆ จากใจที่ใสสะอาด ยามได้เห็นสิ่งสวยงาม ฟังเพลงไพเราะ ได้กลิ่นหอม จนถึงสัมผัสอันนุ่มนวล ยิ้มเศร้า (Miserable Smile) เป็นยิ้มที่บ่งชี้ว่ามีความเศร้าเกิดขึ้น บางคนบางครั้งจะเห็นได้ยากมาก เป็นยิ้มดาดๆ ที่พาดผ่านใบหน้า ยิ้มจืดๆ แหยๆ แสดงถึงใจที่เป็นทุกข์ วิตกกังวล ไม่สมหวัง
สุดท้ายยิ้มเสแสร้ง หรือยิ้มตบแต่งให้ดูดี (False Smile) เป็นยิ้มที่มีลูกเล่น เล่ห์เหลี่ยม ไม่ตรงไปตรงมา ลึกลับ มักปรากฏบนใบหน้านักการเมืองในช่วงหาเสียงและแพ้การเลือกตั้ง นักกีฬาที่พลาดเหรียญรางวัล นางงามตกรอบ ภายในงานเลี้ยงสังสรรค์เราย่อมถูกทักทายด้วยรอยยิ้มแบบฟอลส์สไมล์เสมอ ในเวทีธุรกิจค้าขายที่เราถูกเชื้อเชิญ เช่นเดียวกับหัวคะแนนนักการเมือง คนที่ขอรับบริจาคที่มาเคาะประตูบ้าน รวมถึงดาราหน้ากล้อง
รู้ไหมครับ ยิ้มสยามของคนไทยเรามีถึง 18 แบบ พจนานุกรมฉบับมติชนได้จำแนกไว้ ดังนี้ ยิ้มสยามเรียกการยิ้มของคนไทยซึ่งมีเรื่องราวอะไรก็ยิ้มไว้ก่อน ยิ้มกริ่มลำพองใจ ยิ้มแฉ่งร่าเริงสุดขีด ยิ้มด้วยปาก ถากด้วยตาปากยิ้มแต่ดูหมิ่นทางสายตา ยิ้มแต้ยิ้มค้างอยู่นานอย่างเบิกบาน ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ยิ้มแล้วยิ้มอีกอย่างพออกพอใจ ยิ้มแป้นยิ้มหน้าบาน
ยิ้มเผล่อิ่มเอมใจ ยิ้มพรายภูมิใจ ยิ้มย่องดีใจ ยิ้มเยาะเย้ยหยัน ยิ้มแย้มอารมณ์ดี ยิ้มละไมยิ้มติดใบหน้า ยิ้มหวานทอดไมตรี ยิ้มหัวทั้งยิ้มทั้งหัวเราะไปพร้อมกัน ยิ้มเหยยิ้มเมื่อถูกจับผิดได้ ยิ้มแห้งหดหู่ใจ ยิ้มแหยถูกจับได้เมื่อทำผิด เยอะไหมล่ะครับ
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับการยิ้มที่ทำให้ผมประหลาดใจก็มีตั้งแต่มนุษย์เป็นสัตว์ชนิดเดียวในโลกที่ยิ้มได้ ทารกเกิดใหม่ยังไม่ยิ้ม เพราะกล้ามเนื้อบนใบหน้าเพิ่งก่อตัว แม้แสดงท่าทางอึดอัดไม่สบายได้ แต่ก็ยังยิ้มไม่ได้ ยิ้มแรกจึงเปรียบเสมือนรางวัลใหญ่ที่พ่อแม่ตั้งหน้าตั้งตาคอย ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วง 45 สัปดาห์แรกหลังคลอด
คนทั่วไปคงสภาพการยิ้มไว้บนหน้าได้เพียงแป๊บเดียว 12 วินาทีเท่านั้น หากนานกว่านั้นเป็นยิ้มลากยาว ก็ขอให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นยิ้มเสแสร้ง (False Smile)
คนบางคนนั้นยิ้มอยู่เสมอ ไม่ว่าจะอมยิ้ม ยิ้มเล็กยิ้มน้อย หรือยิ้มกว้างก็ตาม บ่งชี้ถึงความเป็นมิตร เปิดเผย เข้ากับคนง่าย มองโลกในแง่ดี อารมณ์ดี หรือที่เรียกว่าคนสู้โลก (Extrovert) ต่างจากคนหนีโลก (Introvert) ที่มักถูกมองว่าเป็นพวกเสือยิ้มยาก เก็บกด ขี้อาย เจ้าความคิด และชอบตีตัวออกห่างจากสังคม
คนยิ้มเยอะถูกที่ถูกเวลา มีแนวโน้มว่าจะดีกว่าคนยิ้มยาก หรือไม่ยากยิ้ม
ทั้งหมดทั้งปวงของหนังสือเล่มนี้ ผมอ่านจบแล้วรู้สึกได้เลยว่า รอยยิ้มนั้นสำคัญไฉนต่อชีวิตของเรา ในสังคมปัจจุบันที่คนเรามักถูกคุกคามจากสิ่งแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในจนเกิดความเครียดได้ง่ายๆ โปรดจำไว้ว่าจงยิ้มเข้าไว้เสมอ เพราะยิ้มเป็นวิธีง่ายๆ ลงทุนน้อย แต่ได้ผลมาก
ยิ้มบำบัดช่วยคลายความทุกข์ได้ ยิ่งฝึกยิ้มให้เป็น ยิ้มให้สวย ก็สามารถมัดใจคนอื่นได้อีก
ลองดูนะครับ ยืนหน้ากระจกแล้วยิ้มให้ตัวเอง ฝึกยิ้มบ่อยๆ จนเป็นนิสัยแล้วจะพบว่า รอยยิ้มเรานั้นสวยไม่แพ้ใคร
เอ้าไหน ยิ้มซิ!