posttoday

ทาสในทางการเมือง

27 ตุลาคม 2556

วันปิยะผ่านไปแล้ว ทาสในสังคมไทยว่ากันว่าเลิกไปแล้วด้วยน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชวิสัยทัศน์ด้านสิทธิมนุษยชนอันลึกล้ำ แต่คนไทยบางจำพวกก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง ยังมีความสุขความพอใจในความเป็นทาส และพยายามที่จะรักษาระบบทาสนี้ให้คงอยู่ อย่างที่เราเห็นอยู่ในหมู่นักการเมืองบางกลุ่ม

วันปิยะผ่านไปแล้ว ทาสในสังคมไทยว่ากันว่าเลิกไปแล้วด้วยน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชวิสัยทัศน์ด้านสิทธิมนุษยชนอันลึกล้ำ แต่คนไทยบางจำพวกก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง ยังมีความสุขความพอใจในความเป็นทาส และพยายามที่จะรักษาระบบทาสนี้ให้คงอยู่ อย่างที่เราเห็นอยู่ในหมู่นักการเมืองบางกลุ่ม

ประเทศไทยก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 คงเต็มไปด้วยทาส แต่ก็ไม่ใช่ทาสอย่างที่เราได้เห็นในหนังฝรั่งอย่างทาสเชื้อสายแอฟริกันในยุโรปและอเมริกา ซึ่งมีความทารุณโหดร้ายเป็นที่สุดอย่างที่เราได้เห็นในวรรณกรรมและภาพยนตร์เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ แต่ทาสในสังคมไทยน่าจะเป็นทาสที่แตกต่างจากทาสฝรั่งพวกนั้นมาก ซึ่งในประเทศไทยเท่าที่ผู้เขียนมีความรู้และได้ศึกษามา ดูเหมือนว่าทาสในประเทศไทยจำนวนมากจะเข้าเป็นทาสด้วยความยินยอมพร้อมใจ โดยทาสเหล่านี้น่าจะมีความเป็นอยู่ที่ดีพอควร จากการดูแลของเจ้าขุนมูลนาย ในลักษณะที่ต่างก็ต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน ภายใต้วัฒนธรรมของการช่วยเหลือเกื้อกูลที่มีศาสนาพุทธเป็นหลัก

ย้อนยุคไปในสมัยสุโขทัยและอยุธยา สังคมไทยน่าจะประกอบด้วยคนแค่สองชนชั้นหลักๆ คือ ข้ากับเจ้า หรือบ่าวกับนาย ดังที่คำสองคำนี้มักจะติดปากคนไทยเสมอๆ ซึ่งอย่างที่เราทราบกัน เจ้าหรือนายในสมัยสุโขทัยนั้นก็คือพระมหากษัตริย์ที่เรียกว่า “พ่อขุน” และขุนนางหรือข้าราชการที่เรียกว่า “ขุน” หรือ “ลูกขุน” ส่วนข้าหรือบ่าวก็คือคนทั้งหลายที่เรียกว่า “ไพร่” ที่ในสมัยสุโขทัยหมายถึงอิสรชนคนทั่วไป อันรวมเรียกว่าผู้ที่อยู่ใต้ปกครองของพ่อขุนและขุนทั้งหลาย และก็แน่นอนว่าส่วนหนึ่งก็ต้องเข้ามาอยู่ในบ้านของขุนกระทั่งในรั้ววังของพ่อขุนเพื่อทำงานให้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คงรับใช้ทั่วไป เช่น เลี้ยงสัตว์ ทำนา ทำสวน ทำความสะอาด ซักผ้า ทำกับข้าว เป็นต้น เพราะขุนหรือขุนนางในสมัยก่อนต้องทำมาหากินอื่นๆ ไปด้วยนอกเหนือจากการรับราชการ ทั้งเพื่อเลี้ยงตนเอง เลี้ยงผู้คน และเป็นราชพลีสำหรับใช้ในกิจการงานหลวง เช่นในยามศึกสงคราม

คำว่า “ทาส” เท่าที่ปรากฏในหลักฐานสมัยสุโขทัยจะหมายถึงคนต่างชาติที่ถูกกวาดต้อนมาจากศึกสงคราม เรียกว่า “ทาสเชลย” หรือ “เชลย” ต่อมาในสมัยอยุธยาที่อิสรชนหรือที่เรียกว่าไพร่ในสมัยสุโขทัยได้มีสถานภาพเปลี่ยนไป เพราะอย่างที่กล่าวมาในย่อหน้าก่อนที่ว่าไพร่สุโขทัยแม้จะเป็นอิสระ แต่ด้วยเหตุที่ต้องทำงานให้เจ้าหรือนายจึงเสมือนกับขึ้นสังกัดมีหมู่มีเหล่าตามชื่อหรือบ้านของเจ้านายนั้นๆ อยู่แล้ว แต่คงจะไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยมากนัก และคงจะเป็นปัญหาสำหรับการดูแลและเรียกใช้งาน โดยเฉพาะการทำงานให้หลวงหรืองานของพระเจ้าแผ่นดิน ดังนั้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถของอยุธยา จึงทรง “จัดระเบียบไพร่” โดยอาศัยการออกพระอัยการ (กฎหมายแบบหนึ่ง) สำหรับการกำหนดทำเนียบศักดินา หรือการกำหนดตำแหน่งหน้าที่ของขุนนางในแต่ละชั้นยศ ที่รวมถึงการควบคุมไพร่จำนวนต่างๆ กัน เพื่อประโยชน์ในทางราชการนั้น

สังคมอยุธยาทำให้ผู้คนมี “สังกัด” แน่นอนและเด่นชัด การควบคุมคนก็เข้มแข็งขึ้น และแน่นอนว่ามีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบในการถูก “ควบคุม” ดังกล่าว การที่มีคนชอบก็เพราะระบบนี้ได้กำหนดความรับผิดชอบที่ “นาย” ต้องดูแลไพร่ของตน ให้อยู่ดีพอสมควร โดยพระมหากษัตริย์จะพระราชทานที่ดินและสิทธิประโยชน์เพื่อการเลี้ยงชีพและเลี้ยงไพร่ให้พอเพียง รวมทั้งสิทธิอำนาจทางกฎหมายที่ไพร่จะได้รับการคุ้มครองจากนาย บางครั้งก็ทำให้ไพร่มีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่นๆ ที่ไม่ได้ขึ้นสังกัดเป็นไพร่ ถึงขั้นมีสำนวนว่าคนที่ไม่มีนายนั้นประดุจว่าเป็นคน “ไร้ญาติขาดอีโต้” (ไม่มีพี่น้องและไม่มีเครื่องมือทำกิน อีโต้คือมีดที่คนโบราณใช้ในชีวิตประจำวัน) แต่ในขณะเดียวกันนายบางคนก็คงจะใช้งานไพร่อย่างหนัก เพื่อผลประโยชน์บางอย่าง เช่น เอาหน้าเอาตาว่าสร้างผลผลิตได้มากเพื่อแข่งอำนาจวาสนากันและกัน และแน่นอนว่าในยามศึกสงคราม ไพร่เหล่านี้ก็จะเปลี่ยนสถานภาพเป็นทหาร ซึ่งคงมีไม่น้อยที่กลัวความตายและไม่ชอบเป็นไพร่

ในสมัยอยุธยานี่เองที่ปรากฏหลักฐานว่ามี “ทาส” แบบใหม่ๆ เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งก็มาจากพวกที่ไม่เต็มใจเป็นไพร่หรือถูกเกณฑ์เข้าสังกัดกรมกองนั่นแหละ ก็ยอมตนทำงานรับใช้เจ้านายแต่เพียงอย่างเดียว บางคนก็คือชาวไร่ชาวนาและชาวบ้านชาวช่องทั้งหลายที่ทำมาหากินแร้นแค้น รวมทั้งที่เป็นหนี้เป็นสิน เป็นผีการพนัน หรืออยากมีรายได้ กระทั่งอยากถีบฐานะตนเองจากคนบ้านนอกให้เป็นคนเมือง ก็ยอมที่จะมา “ขายตัว” แลกเปลี่ยนกับหนี้หรือเงินดังกล่าว ดังนั้นนอกเหนือจากทาสเชลยอันเป็นทาสหลักในสังคมมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ในสมัยอยุธยา ยังมีทาสพนัน ทาสขายตัว และทาสรับใช้ (คือขอทำงานแลกเงินโดยตรง) จากนั้นก็มาออกลูกออกหลานในบ้าน ลูกหลานของทาสเหล่านี้เลยถูกเรียกว่า “ทาสในเรือนเบี้ย” และแน่นอนว่าฐานะของทาสคงจะต่ำต้อยอย่างยิ่งในสายตาของผู้คนสมัยนั้น ทั้งนี้อาจจะเป็นด้วยสภาพความเป็นอยู่เองที่ยอมตนให้นายกดขี่ หรือด้วยวิธีการดูแลทาสของเจ้านายทั้งหลายที่น่าจะมีนาย “ชั่วๆ” อยู่มากเป็นปกติ

อย่างที่ผู้เขียนเสนอไว้ในตอนต้นว่าคนไทย (ตั้งแต่อดีต) ยินยอมที่จะเป็นทาสเป็นจำนวนมาก เพราะน่าจะมีชีวิตที่ดีกว่าคนทั่วๆ ไป แน่นอนว่าน่าจะปลอดภัยกว่าไพร่เพราะไม่ต้องถูกกะเกณฑ์ให้ทำงานเสี่ยงๆ บางเรื่อง อย่างเช่นที่ไพร่ต้องกลายเป็นทหารยามมีศึก หรือต้องทำงานหนักๆ ในการก่อสร้างและบูรณะซ่อมแซมบ้านเมือง หรือทำงานให้หลวง ซึ่งบรรดาขุนนางต่างก็ต้องควบคุมไพร่ของตนทำงานแข่งกัน ไพร่จึงมีภาระลำบาก หรือเหนื่อยมากกว่าทาส อนึ่งทาสแม้แต่ ทาสสงครามหรือเชลยศึกก็มักจะได้รับการดูแลเอาใจใส่ด้วยดีพอสมควร เพื่อแสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ อัน มีส่วนในการส่งเสริมพระบารมีและพระบรม เดชานุภาพ อย่างที่ได้ให้ทาสแต่ละชาตินั้นมีที่ทำกินและส่งเสริมในการช่วยราชการต่างๆ จนปรากฏเป็นชุมชนของคนชาตินั้นๆ อยู่หลายแห่ง เช่น มอญสามโคก แขกมักกะสัน และลาวปราจีน เป็นต้น

ผู้เขียนมีความเชื่อด้วยข้อมูลเท่าที่ได้ศึกษามาว่า การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเลิกทาส นอกเหนือจากเหตุผลด้านมนุษยธรรมที่ไม่อยากเห็นผู้คนทั้งหลายกดขี่กันและกัน หรือเพื่อแสดงความเป็นอารยะให้ฝรั่งเชื่อถือแล้ว น่าจะทรงต้องการให้สังคมไทยมีการพัฒนาไปในอีกระดับหนึ่ง นั่นก็คือ “การพึ่งตนเอง” เพราะคงทรงเล็งเห็นว่าทั้งระบบไพร่ (ที่ทรงใช้การเกณฑ์ทหารมาแทน) และระบบทาส (ที่ทรงมีพระราชบัญญัติเลิกทาส) ล้วนแต่ทำให้สังคมไทยเสื่อมโทรม หนึ่งคือ คิดแต่จะพึ่งเจ้าพึ่งนายเป็นหลัก ไม่รู้จักช่วยตนเอง สอง นายเหล่านั้นก็เอาทาสทั้งหลายไว้อวดอ้างและเบ่งบารมีของตน และสาม ทำให้ประเทศไม่พัฒนา

ดั่งที่เห็นแล้วว่า ทุกวันนี้แม้แต่นักการเมืองทั้งหลายก็ชอบที่จะเป็นทาสเช่นนั้นอยู่