posttoday

เวทนาขันธ์

03 พฤศจิกายน 2556

ท่านผู้อ่านที่เคารพ ถ้าพูดถึงขันธ์ 5 (รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์) ก็นับว่าเป็นคำคุ้นหูของชาวพุทธ

ท่านผู้อ่านที่เคารพ ถ้าพูดถึงขันธ์ 5 (รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์) ก็นับว่าเป็นคำคุ้นหูของชาวพุทธ

อย่างไรก็ตาม บางท่านอาจไม่เข้าใจชัดนักว่าขันธ์นั้นคืออะไร เพราะมาจากขันธ์ที่เป็นภาษาบาลี ภาษาไทยนั้นความหมายและตัวสะกดก็แตกต่างกัน ถ้าจะแปลว่า ภาชนะที่ใช้ตักน้ำ หรือเป็นมีดดาบ แบบในละคร ก็อาจทำให้สับสนได้

MQ ขอนำตัวอย่างของขันธ์ในพระพุทธศาสนามาคุยกันจากพระไตรปิฎก ขันธวิภังค์ เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าขันธ์ในทางธรรมนั้นหมายถึงอย่างไร

เวทนาขันธ์ เป็นไฉน?

เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ เวทนาอดีต เวทนาอนาคต เวทนาปัจจุบัน เวทนาภายใน เวทนาภายนอก เวทนาหยาบ เวทนาละเอียด เวทนาทราม เวทนาประณีต เวทนาไกล เวทนาใกล้ ประมวลย่อเข้าเป็นกองเดียวกัน นี้เรียกว่า เวทนาขันธ์

นั่นคือข้อความในพระไตรปิฎก

เวทนานั้น หมายถึง นามธรรมประเภทหนึ่งที่ปรุงแต่งจิตใจของเรา (นับเป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง เรียกว่า เวทนาเจตสิก) ที่เราคุ้นเคยกันอยู่ ก็คือ ความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉยๆ (อุเบกขาเวทนา ซึ่งก็คือ ไม่สุข ไม่ทุกข์ บางครั้งจึงเรียกว่า อทุกขมสุขเวทนา) ทั้งทางกายและทางใจ

ส่วนขันธ์นั้นแปลว่า กอง

บางท่านอาจสงสัยว่า กอง นั้นต้องมีของหลายอย่าง แล้ว เวทนาเจตสิก เท่านั้นจะจัดเป็นกองได้อย่างไร เพราะดูเหมือนมีอย่างเดียว แต่หากเราทำความเข้าใจตามที่ได้ยกมาจะเห็นว่า

เวทนาสามารถแบ่งโดยความเป็นกาลได้ คือ อดีต (เวทนาที่เคยเกิดขึ้นแล้ว ดับไปแล้ว) ปัจจุบัน (เวทนาที่กำลังเกิดขึ้น) อนาคต (เวทนาที่ยังไม่เกิดขึ้น) จึงมีความหลากหลาย

อีกทั้งยังแบ่งเป็นภายใน (เวทนาที่เกิดในตน) ภายนอก (เวทนาที่เกิดในผู้อื่น)

แบ่งได้เป็น เวทนาหยาบ กับเวทนาละเอียด เช่น เวทนาที่เกิดในการทำบาปอกุศล นั้นเป็นเวทนาหยาบ เวทนาที่เกิดในการทำบุญกุศลเป็นเวทนาละเอียด เวทนาเวลาทำสมาธิได้ฌานจิตก็เป็นเวทนาที่ละเอียดยิ่งขึ้น เป็นต้น ความหยาบละเอียดของเวทนานั้นอาศัยการเทียบเคียงได้เป็นชั้นๆ ไป

แบ่งได้เป็น เวทนาทราม กับเวทนาประณีต ก็คล้ายกัน เช่น เวทนาที่ประกอบกับบาปอกุศล เป็นเวทนาทราม เวทนาที่ประกอบกับบุญกุศลเป็นเวทนาประณีต ทุกขเวทนาเป็นเวทนาทราม สุขเวทนากับอุเบกขาเวทนาเป็นเวทนาประณีต แต่หากทำสมาธิสุขเวทนาก็นับเป็นเวทนาที่ทราม ส่วนอุเบกขาเวทนาเป็นเวทนาที่ประณีตกว่า เป็นต้น เทียบเคียงได้เป็นชั้นๆ ไป เช่นกัน

แบ่งได้เป็น เวทนาใกล้ กับเวทนาไกล เช่น อกุศลเวทนาเป็นเวทนาใกล้กับอกุศลเวทนา กุศลเวทนาเป็นเวทนาใกล้กับกุศลเวทนา เวทนาของผู้ไม่เข้าฌานเป็นเวทนาใกล้กับเวทนาของผู้ไม่เข้าฌาน สุขเวทนาเป็นเวทนาใกล้กับสุขเวทนา กุศลเวทนานับว่าเป็นเวทนาไกลจากอกุศลเวทนา เวทนาของผู้เข้าฌานเป็นเวทนาไกลจากเวทนาของผู้ไม่เข้าฌาน ทุกขเวทนาเป็นเวทนาไกลจากสุขเวทนาและอุเบกขาเวทนา เป็นต้น ใช้การเทียบเคียงเป็นชั้นๆ ไป เช่นกัน

เมื่อเวทนาสามารถมีความหลากหลายได้อย่างนี้ จึงจัดเป็นกอง เรียกว่า เวทนาขันธ์ ได้นั่นเอง

เวทนาขันธ์ จึงเป็นนามธรรมที่เราท่านมีกันอยู่แล้ว หากลองพิจารณาตามก็จะเห็นจริงดังธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ และคลายความยึดติดในความสุข ทุกข์ เฉยๆ ลงได้ ด้วยพิจารณาเป็นเพียงเวทนาขันธ์ เป็นนามธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ของเรา ของใคร เป็นเพียงธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยที่เหมาะสม มีความเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่ตัวตน พวกเราจะบังคับเอาแต่สุข ไม่เอาทุกข์ หรือให้เฉยๆ ก็ไม่ได้ ต้องแล้วแต่เหตุปัจจัย แต่กิเลสเป็นตัวไปยึด ว่าเป็นเรา เกิดสักกายทิฏฐิว่า ความสุขทุกข์นี้ของเรา ความวุ่นวายและทุกข์ทั้งหลายจึงตามมาอีกมาก...