สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ 4 (2)
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระปริวิตกในพระอาการของพระอัครมเหสีเป็นอย่างยิ่ง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระปริวิตกในพระอาการของพระอัครมเหสีเป็นอย่างยิ่ง ได้ทรงจัดหาแพทย์ทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณให้ผลัดเปลี่ยนกันเข้าไปถวายการรักษา ก็ได้แต่ทุเลาพระอาการประชวรเป็นครั้งคราวไว้เท่านั้น สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ทรงประชวรอยู่ถึง 5 ปี จนกระทั่งในปี 2404 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามงคลเลิศ ซึ่งเป็นพระเชษฐาเพียงพระองค์เดียวของพระองค์ได้ประชวรและสิ้นพระชนม์ลง เป็นเหตุให้ทรงกระทบกระเทือนพระทัยมาก พระอาการประชวรของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีก็ทรุดหนักลงเรื่อยๆ จนในที่สุดก็สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2404 พระชนมายุ 28 พรรษา ในขณะที่พระราชโอรสและพระราชธิดามีพระชนมายุเรียงลำดับมา คือ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ 9 พรรษา สมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑลโสภณภควดี 7 พรรษา สมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี 6 พรรษา และสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ 2 พรรษา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง 4 พระองค์นี้อยู่ภายใต้พระอภิบาลของพระองค์เจ้าละม่อม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชหัตถเลขาบรรยายถึงการสิ้นพระชนม์ของพระอัครมเหสีไว้ดังนี้
“...เวลาเช้าแม่รำเพยไออาเจียนเป็นโลหิตออกมามาก ออกทางจมูกออกทางปาก ได้ตัวสัตว์ออกมากับทั้งโลหิตตัวหนึ่ง มีอาการคล้ายสัตว์ตัวหนอนเล็กหางเป็นสามแฉก แต่หมอยังแก้ไขก็ค่อยคลายมา โลหิตออกบ้างเล็กน้อยจางไปแล้ว”
“ครั้น ณ วันอาทิตย์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 10 เวลากลางคืน เธอว่าค่อยสบายไอห่างไป นอนหลับได้มาก ตั้งแต่สามยามไปจนถึงสามโมงเช้า ครั้น ณ วันจันทร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 10 ตื่นขึ้นอีกเวลาสามโมงเช้า รับประทานอาหารได้ถ้วยฝาขนาดใหญ่ แล้วนั่งเล่นอยู่กับบุตรเล็ก ไอเป็นโลหิตออกมา แล้วก็เป็นโลหิตพลุ่งพล่านมากเป็นที่สุด ออกทั้งทางจมูกทางปาก หลายถ้วยแก้วกระบอก ไม่มีขณะหายใจ พอโลหิตมากแล้วชีพจรทั้งตัวก็หยุดทีเดียวไม่ฟื้นเลย ได้รับประทานจัดการไว้ศพ ในโกศตั้งไว้ที่ตึกต้นสน แต่ตกแต่งตึกเสียใหม่ให้งามดี เพดานและบานประตู บานหน้าต่างปิดลายเงิน ฝาผนังปิดกระดาษลาย และตกแต่งสิ่งอื่นมากพอสมควร ครั้นจะยกขึ้นไปไว้บนพระมหาปราสาท เห็นว่าจะกีดขวางการพระราชพิธีไม่พอที่ แต่เท่านั้นก็ดีอยู่แล้ว ศพจะเอาไว้นาน ต่อเดือนสี่เดือนห้าจึงจะได้เผา เดี๋ยวนี้ก็รับประทานทำบุญต่างๆ มีเทศนาและบังสกุลอยู่เนืองๆ...ที่ให้เป็นอนุเคราะห์แก่ชายจุฬาลงกรณ์ หญิงจันทรมณฑล ชายจาตุรนต์รัศมี ชายภาณุรังษีสว่างวงศ์ บุตรแม่เพยทั้งสี่ก็มีบ้าง กระหม่อมฉันคิดขอบบุญขอบคุณท่านทั้งปวงครั้งนี้นั้นหนักหนา แม่เพยตายลงครั้งนี้ เมื่อดูอาการก็ควรจะตายอยู่แล้ว ด้วยป่วยโรคนี้มาตั้งแต่เสาะแสะมาถึงห้าปี ตั้งแต่ปีมะเส็งมารักษาก็หลายหมอหลายยาแล้ว ไม่หาย จึงเห็นว่าถึงคราวที่จะสิ้นอายตายอยู่แล้ว”
“อายุนับปี เท่ากับกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์บิดานั้น เหมือนกับชายมงคลเลิศซึ่งเป็นพี่ชายว่าโดยละเอียดไป กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ มีอายุนับวันตั้งแต่วันเกิดจนวันตายได้ 9,639 วัน ชายมงคลเลิศนับอายุตั้งแต่วันเกิดจนวันตาย 9,903 วัน มากกว่ากรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ 284 วัน มากกว่าชายมงคลเลิศ 20 วัน”
หลังจากสิ้นพระชนม์ก็โปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดงานพระราชพิธีพระราชทานพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในวันศุกร์ที่ 18 เม.ย. 2405 (วันแรม 4 ค่ำ เดือน 5) โดยพระราชพิธีนี้ได้มีการริเริ่มการจัดพิธีกงเต๊กหลวงขึ้นครั้งแรก จึงมีการจัดพิธีกงเต๊กหลวงสืบมา
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงสถาปนาพระบรมอัฐิเป็น “กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์” และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงสถาปนาพระบรมอัฐิเป็น “สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอนุสรณ์ถึงพระบรมราชชนนี คือ วัดเทพศิรินทราวาส และโรงเรียนเทพศิรินทร์ โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดเทพศิรินทราวาสขึ้นเมื่อปี 2419 เมื่อพระองค์มีพระชนมายุครบ 25 พรรษา เพื่อเฉลิมพระเกียรติและทรงอุทิศพระราชกุศล สนองพระเดชพระคุณ สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระราชมารดาที่สิ้นพระชนม์ตั้งแต่พระองค์ยังทรงพระเยาว์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนเทพศิรินทร์ขึ้นเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2428
ในช่วงแรกของการจัดตั้งโรงเรียนนั้น โรงเรียนเทพศิรินทร์ได้อาศัยศาลาการเปรียญภายในวัดเทพศิรินทราวาสเป็นที่ทำการเรียนการสอน ในปี 2438 สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ได้ทรงดำริที่จะสร้างตึกเรียนสำหรับวัดเทพศิรินทราวาสขึ้น เพื่ออุทิศพระกุศล สนองพระเดชพระคุณแห่งองค์สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีพระชนนี และเพื่ออุทิศพระกุศลแก่ หม่อมแม้น ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา ชายาของพระองค์ ตึกเรียนหลังแรกนี้ได้รับการออกแบบให้มีศิลปะเป็นแบบโกธิก ซึ่งถือว่าเป็นอาคารศิลปะโกธิกยุคแรกและมีที่เดียวในประเทศไทย โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ออกแบบ และในการนี้ พระยาโชฎึกราชเศรษฐีได้บริจาคทุนทรัพย์เพื่อสร้างตึกอาคารเรียนขึ้นด้านข้างของตึกเรียนหลังแรกอีกด้วย
ต่อมาโรงเรียนเทพศิรินทร์ได้มีแนวคิดว่าน่าจะมีรูปเคารพของพระองค์ไว้บูชานั้น ตั้งแต่ปี 2538 และได้สำเร็จเป็นผลในปี 2541 โดยอัญเชิญประดิษฐาน ณ บริเวณมุขด้านหน้า อาคารเทิดพระเกียรติ เพื่อเป็นเครื่องแสดงถึงความจงรักภักดีและความกตัญญูกตเวทีที่ชาวเทพศิรินทร์ทุกคนมีต่อสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี และยังเป็นสิ่งที่แสดงถึงเกียรติยศอันสูงสุดของชาวเทพศิรินทร์ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นในการนำพระนามของพระองค์มาเป็นชื่อของสถานศึกษา โดยเมื่อวันที่ 9 ก.ย. ของทุกๆ ปี อันเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระองค์ได้เวียนมาบรรจบครบ ทางโรงเรียนเทพศิรินทร์อันประกอบด้วยคณะผู้บริหาร คณะครู นักเรียนเก่า นักเรียนปัจจุบัน และบุคลากรของโรงเรียน ได้จัดพิธีวางพวงมาลาและถวายราชสักการะ ณ พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ โดยเรียกวันนี้ว่า “วันแม่รำเพย”