posttoday

เจ้าจอมมารดากลิ่น ในรัชกาลที่ 4

15 ธันวาคม 2556

เจ้าจอมมารดากลิ่นหรืออีกนามหนึ่งที่รู้จักกันคือ ซ่อนกลิ่น เกิดเมื่อปี 2378

เจ้าจอมมารดากลิ่นหรืออีกนามหนึ่งที่รู้จักกันคือ ซ่อนกลิ่น เกิดเมื่อปี 2378 เป็นธิดาของพระยาดำรงค์ราชพลขันธ์ (จุ้ย คชเสนี) ขุนนางรามัญผู้เป็นเจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพระยาเจ่ง เจ้าจอมมารดากลิ่นได้ถวายตัวรับราชการ เป็นข้าราชการสำนักฝ่ายใน สนองเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนได้เป็นพระสนมเอก และได้เป็นเจ้าจอมมารดา ได้ประสูติพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์หนึ่ง คือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ ทรงเป็นต้นราชสกุล “กฤษดากร ณ อยุธยา”

เจ้าจอมมารดากลิ่นเป็นสตรีที่เฉลียวฉลาด มีความคิดก้าวหน้าใฝ่หาวิชาความรู้ ได้เรียนภาษาอังกฤษกับนางแอนนา เลียวโนเวนส์ ครูสอนภาษาอังกฤษที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จ้างเข้ามาสอน นางแอนนาได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการเรียนภาษาอังกฤษของเจ้าจอมมารดากลิ่นไว้ว่า

“...เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นเป็นศิษย์ที่มีความขยันหมั่นเพียร และมาเรียนเสมอมิได้ขาด ผิดกับผู้หญิงอื่นๆ ที่เรียนบ้างหยุดบ้าง...”

คุณสมบัติอีกประการหนึ่งของเจ้าจอมมารดากลิ่น ที่นางแอนนา เลียวโนเวนส์ ชื่นชมก็คือการเป็นผู้มีจินตนาการกว้างไกลมีความคิดล้ำยุคล้ำสมัย เช่นมีความคิดเรื่องการปลดปล่อยทาส เพราะมีความแตกฉานในภาษาอังกฤษ และเจ้าจอมมารดากลิ่นก็ได้อ่านหนังสือเรื่องกระท่อมน้อยของลุงทอม ของมิสซิสฮาเรียต มิชเชอร์ เลยอยากจะปล่อยทาสเป็นอิสระ โดยเจ้าจอมมารดากลิ่นได้ปฏิบัติตนตามแนวคิดนั้น ด้วยการจ่ายเงินเดือนให้กับพวกทาสที่มารับใช้เดือนละ 4 บาท พร้อมเมตตาให้เสื้อผ้าและอาหารแก่ทาสด้วย

ด้วยความรู้ความสามารถอันแตกฉานในภาษาอังกฤษ และชื่นชมในหนังสือเรื่องกระท่อมน้อยของลุงทอม ที่มิสซิสฮาเรียต มิชเชอร์ เป็นผู้แต่ง เจ้าจอมมารดากลิ่นได้แปลหนังสือเรื่อง Uncle Tom's ออกมาเป็นภาษาไทยได้อย่างสละสลวย นับเป็นคนไทยคนแรกที่คิดแปลนวนิยายภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยได้สำเร็จ

คุณสมบัติอันโดดเด่นของเจ้าจอมมารดากลิ่นที่สืบทอดมาสู่ลูกหลานในตระกูลในเวลาต่อมาก็คือความคิดอ่านที่ก้าวหน้าล้ำยุคที่เต็มไปด้วยสำนึกของความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และผืนแผ่นดินไทยนับตั้งแต่พระโอรสคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ ที่ทรงสนพระทัยในการศึกษามาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงมีพระปรีชาสามารถในการเรียนภาษาอังกฤษมากกว่าพระราชกุมารในรุ่นเดียวกัน เมื่อทรงเจริญพระชันษาขึ้นได้เข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทยในต่างประเทศหลายประเทศ ทรงเป็นเจ้านายพระองค์หนึ่งที่เป็นผู้นำพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชกราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวปรับปรุงแก้ไขระบบการปกครองประเทศให้ทันสมัย อันเป็นความคิดก้าวหน้าที่สุดของคนหนุ่มในสมัยนั้น

นอกจากนี้ โอรสอีก 2 พระองค์ ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ คือ พระองค์เจ้าบวรเดช และหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ยังได้แสดงให้เห็นถึงความคิดก้าวหน้ากล้าหาญเต็มไปด้วยความปรารถนาดี เสียสละรักชาติบ้านเมือง ซื่อสัตย์ จงรักภักดี ดังจะเห็นได้ว่าพระองค์เจ้าบวรเดช ที่ทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณจนได้ดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่แล้ว ยังได้ปฏิบัติการต่อสู้กับคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เพื่อยึดอำนาจถวายคืนแก่พระมหากษัตริย์แม้ว่าทรงกระทำการไม่สำเร็จและได้ชื่อว่า กบฏบวรเดช ในเวลาต่อมา แต่ก็แสดงให้เห็นถึงน้ำพระทัยอันกล้าหาญเด็ดเดี่ยวเป็นอย่างยิ่ง ส่วนหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร นั้น ทรงเป็นพระบรมวงศาวงนุวงศ์ที่มีความคิดก้าวหน้าทางการเกษตรแผนใหม่ ทรงทุ่มเททั้งกำลังทรัพย์และกำลังแรงด้วยพระองค์เองทดลองทำเกษตรแผนใหม่ เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่เกษตรกร พระดำริและพระปรีชาสามารถของพระองค์เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เกษตรกร ทรงได้รับการยอมรับทั้งจากคนไทยและชาวต่างประเทศ เป็นเหตุให้ทรงได้รับรางวัลแม็กไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ในปี 2510 มูลนิธิแม็กไซไซได้กล่าวสดุดีพระเกียรติคุณตอนหนึ่งว่า “ทรงเป็นพระบิดาแห่งการเกษตรแผนใหม่ ทรงใช้เวลาเกือบครึ่งศตวรรษ บุกเบิกทดลองและศึกษาความก้าวหน้าด้านการเกษตรแผนใหม่ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร นับเป็นเจ้านายอีกพระองค์ที่คนไทยภาคภูมิใจ”

มาถึงรุ่นหลานหรือนัดดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ ที่ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณด้วยความซื่อสัตย์ จงรักภักดี และมีผลงานที่รู้จักคือ ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งเป็นธิดาในหม่อมเจ้าชิดชนก กฤดากร

อย่างไรก็ตาม แม้เจ้าจอมมารดากลิ่น จะเป็นผู้ที่มีความคิดอ่านก้าวหน้าแต่ก็ยังรักษาคุณสมบัติของกุลสตรีผู้มีความงดงามในทุกด้าน เป็นผู้มีความเมตตาสูงมีความมุ่งมั่นศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้ปฏิบัติตนเป็นพุทธศาสนิกอย่างเคร่งครัด สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ซึ่งได้สัมผัสกับความเมตตาของเจ้าจอมมารดากลิ่นด้วยพระองค์เอง ได้ทรงบันทึกไว้ว่า

“...เมื่อปี 2466 มารดาของข้าพเจ้าถึงอสัญกรรม วันหนึ่งกรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ เสด็จมาเยี่ยมศพด้วยกันกับเจ้าจอมมารดากลิ่น เมื่อนั่งอยู่ด้วยกันที่หน้าศพ คุณจอมมารดากลิ่นเห็นข้าพเจ้าเศร้าโศก ท่านสงสารออกปากว่า ‘เสด็จต้องเป็นกำพร้า ฉันรับเป็นแม่แทนแม่ชุ่มจะโปรดหรือไม่’ ข้าพเจ้าได้ฟังท่านแสดงความกรุณาเช่นนั้นจับใจ ก็กราบเรียนในทันทีว่า ‘ดี ฉันขอเป็นลูกคุณแม่ต่อไป’ แต่วันนั้นมาคุณจอมมารดากลิ่น ท่านก็แสดงความเมตตาปรานีอุปการะข้าพเจ้าเหมือนเช่นเป็นบุตรของท่าน ฝ่ายข้าพเจ้าก็ปฏิบัติบูชาท่านมาเหมือนเช่นเป็นมารดา...”

ในด้านความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เจ้าจอมมารดากลิ่นได้สละทรัพย์ส่วนตัวสร้างพระอารามขึ้นที่ ต.ทับยาว อ.ลาดกระบัง อันเป็นถิ่นที่มีชาวรามัญตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก พระอารามนี้ชื่อว่าวัดสุทธาโภชน์ ยามใดที่เจ้าจอมมารดากลิ่นมาบำเพ็ญกุศล ณ อารามแห่งนี้ จริยวัตรอันงดงามของท่านได้เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไป เรือนที่พักที่เจ้าจอมมารดากลิ่นสร้างพักผ่อนในบริเวณใกล้ๆ กับพระอาราม กลายเป็นสายใยแห่งความรักความผูกพันความสมัครสมานสามัคคีและความสงบสุขของชุมชน ตลอดจนความจงรักภักดีที่ชาวรามัญมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และแผ่นดินไทย ดังปรากฏถึงคำบอกเล่าที่กล่าวถึงความนิยมชมชอบของชุมชนในท้องถิ่นที่มีต่อเจ้าจอมมารดากลิ่น ดังนี้

“...เจ้าจอมมารดากลิ่นจะแปรสถานมาพักยังตำหนักที่ท่านสร้างไว้ใกล้วัดสุทธาโภชน์ ต้องมารถไฟ มาลงเรือที่สถานีรถไฟหัวตะเข้ แล้วลงเรืออีกต่อหนึ่ง แล้วล่องมาตามลำคลองประเวศ แยกเข้าคลองลำปลาทิว ท่านสร้างเรือมาดลำใหญ่ขนาด 6 แจว ปรุแผ่นทองเหลืองตลอดทั้งลำไว้สำหรับเป็นพาหนะในคราวแปรสถานที่มาพำนักที่ตำหนัก มีพวกบริวารตามมาเยอะ ผู้คนไปรับท่านที่สถานีรถไฟเป็นที่สนุกสนาน ท่านเมตตาจัดอาหารเลี้ยงดูและผ้าขาวม้าให้คนละผืนสองผืนเป็นรางวัลน้ำใจทั่วทุกคน เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นเป็นที่เคารพของชาวรามัญในละแวกนั้นมาก...”

เจ้าจอมมารดากลิ่นถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2468 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 สิริอายุได้ 96 ปี ภายหลังเมื่อท่านอสัญกรรมแล้วเมื่อมีการทอดกฐิน ณ วัดสุทธาโภชน์ ทุกครั้งชาวบ้านจะนำเสลี่ยงอัญเชิญรูปจำลองของท่านไปตั้งประดิษฐานบนแท่นบูชาเพื่อรำลึกถึงท่านตลอดมา ปัจจุบันอนุสาวรีย์เจ้าจอมมารดากลิ่นตั้งอยู่ภายใต้ซุ้มบุษบกหน้าโบสถ์วัดสุทธาโภชน์ เป็นรูปหินอ่อนกว้าง 36.5 เซนติเมตร สูง 64.5 เซนติเมตร ในชุดแต่งกายประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์