ดาวพุธ ดาวศุกร์ และดาวอังคาร

15 ธันวาคม 2556

ดาวพุธเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์และเคลื่อนที่เร็วที่สุด วงโคจรของดาวพุธมีความรีค่อนข้างสูง

ดาวพุธ

ดาวพุธเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์และเคลื่อนที่เร็วที่สุด วงโคจรของดาวพุธมีความรีค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับดาวเคราะห์ดวงอื่น ทำให้ดาวพุธมีมุมห่างสูงสุดจากดวงอาทิตย์เปลี่ยนแปลงอยู่ระหว่าง 1828 องศา ด้วยมุมห่างที่ไม่สูงนัก ทำให้เรามีโอกาสสังเกตดาวพุธได้เฉพาะในเวลาพลบค่ำหรือรุ่งสาง เวลาที่สังเกตดาวพุธได้ คือ ช่วงที่ดาวพุธทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากพอสมควร

ปี 2557 มีช่วงที่สังเกตดาวพุธได้ดีในเวลาเช้ามืดอยู่ 3 ช่วง ช่วงแรก ตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ. ถึงต้นเดือน เม.ย. ช่วงที่ 2 คือ ต้นเดือนถึงปลายเดือน ก.ค. โดยมีดาวศุกร์อยู่สูงเหนือดาวพุธไม่มากนัก ช่วงที่ 3 คือ ปลายเดือน ต.ค. ถึงกลางเดือน พ.ย.

ช่วงเวลาที่สังเกตดาวพุธได้ดีในเวลาหัวค่ำมี 3 ช่วง ช่วงแรก เริ่มตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค. ถึงต้นเดือน ก.พ. ช่วงที่ 2 คือ กลางเดือน พ.ค. ถึงต้นเดือน มิ.ย. ช่วงสุดท้าย คือ ปลายเดือน ส.ค. ถึงต้นเดือน ต.ค.

ดาวศุกร์

ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้า เราเรียกดาวศุกร์ในเวลาหัวค่ำว่า “ดาวประจำเมือง” ส่วนในเวลาเช้ามืด เรียกว่า “ดาวประกายพรึก” หรือ “ดาวรุ่ง” วงโคจรของดาวศุกร์ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก ทำให้ดาวศุกร์ทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์ไม่เกิน 47 องศา เมื่อสังเกตด้วยกล้องโทรทรรศน์จะเห็นดาวศุกร์เปลี่ยนแปลงรูปร่างคล้ายดิถีจันทร์ ดาวพุธก็มีการเปลี่ยนแปลงแบบเดียวกัน แต่ขนาดที่เล็กกว่าดาวศุกร์ทำให้สังเกตได้ยากกว่า

ดาวพุธ ดาวศุกร์ และดาวอังคาร

 

สัปดาห์แรกของเดือน ม.ค. 2557 ดาวศุกร์ยังคงเป็นดาวประจำเมืองต่อเนื่องมาจากปี 2556 โดยอยู่ใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตก ค่อนไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ จากนั้นเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์จนสังเกตได้ยาก วันที่ 11 ม.ค. ดาวศุกร์จะอยู่ในทิศทางเดียวกับดวงอาทิตย์ โดยมีตำแหน่งอยู่ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์

ปลายเดือน ม.ค. ดาวศุกร์ย้ายไปอยู่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืด มีตำแหน่งอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนู จึงอยู่ค่อนไปทางขอบฟ้าด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ดาวศุกร์จะทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากขึ้นอย่างรวดเร็ว ห่างดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 23 มี.ค. เมื่อดูด้วยกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายสูงในช่วงเวลานั้นจะเห็นดาวศุกร์สว่างครึ่งดวง

ดาวศุกร์ค่อยๆ เคลื่อนกลับเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ผ่านใกล้ดาวยูเรนัสในเช้ามืดวันที่ 16 พ.ค. ที่ระยะ 1.2 องศา กลางเดือน ก.ค. จะเห็นดาวศุกร์อยู่สูงเหนือดาวพุธ ดาวศุกร์จะผ่านใกล้ดาวพฤหัสบดีในเช้ามืดวันที่ 18 ส.ค. ขณะนั้นทั้งคู่อยู่ใกล้กระจุกดาวรังผึ้งด้วย แต่มีตำแหน่งอยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้าพอสมควรในขณะที่ท้องฟ้าเริ่มสว่าง

เช้ามืดวันที่ 6 ก.ย. ดาวศุกร์ผ่านใกล้ดาวหัวใจสิงห์ในกลุ่มดาวสิงโต จากนั้นกลางเดือน ก.ย. น่าจะเป็นช่วงสุดท้ายที่มีโอกาสเห็นดาวศุกร์ในเวลาเช้ามืด ดาวศุกร์จะเคลื่อนไปอยู่แนวเดียวกับดวงอาทิตย์ในวันที่ 25 ต.ค. โดยดวงอาทิตย์อยู่ตรงกลางระหว่างโลกกับดาวศุกร์

กลางเดือน ธ.ค. ดาวศุกร์ทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากขึ้น อาจเริ่มเห็นดาวศุกร์อยู่เรี่ยขอบฟ้าทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำ เมื่อเข้าสู่เดือน ม.ค. 2558 ดาวพุธจะขึ้นมาอยู่ใกล้ดาวศุกร์

ดาวอังคาร

ดาวอังคารมีวงโคจรอยู่ถัดไปจากโลกตามระยะห่างจากดวงอาทิตย์ ได้ชื่อว่าดาวแดง เนื่องจากปรากฏบนท้องฟ้าเป็นดาวสว่างสีแดง ชมพู หรือส้ม ต่างจากดาวเคราะห์ดวงอื่นและดาวฤกษ์ส่วนใหญ่บนท้องฟ้า บรรยากาศอันเบาบางทำให้เราสามารถส่องกล้องมองเห็นพื้นผิวดาวอังคารได้ ยกเว้นช่วงที่เกิดพายุฝุ่นปกคลุม และบางช่วงสามารถเห็นน้ำแข็งที่ขั้วดาว

ช่วงที่สังเกตดาวอังคารได้ดีที่สุด คือ ขณะที่ดาวอังคารอยู่ใกล้โลก ตรงกับช่วงที่ดาวอังคารอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ เกิดขึ้นเฉลี่ยทุก 2 ปี 2 เดือน วงโคจรของดาวอังคารที่เป็นวงรี ทำให้ดาวอังคารอยู่ห่างโลกไม่เท่ากันในการเข้าใกล้แต่ละครั้ง ส่วนใหญ่ดาวอังคารที่ปรากฏในกล้องโทรทรรศน์จะมีขนาดเล็ก ไม่สามารถสังเกตเห็นร่องรอยบนพื้นผิวได้ มีเวลาไม่กี่เดือนเท่านั้นที่ดาวอังคารจะใกล้โลกจนใหญ่พอสำหรับการสังเกตรายละเอียดบนพื้นผิว

ต้นปี 2557 เป็นช่วงที่ดาวอังคารอยู่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดในกลุ่มดาวหญิงสาว วันที่ 3 ก.พ. ดาวอังคารผ่านใกล้ดาวรวงข้าวที่ระยะ 4.6 องศา จากนั้นเริ่มหยุดนิ่งในวันที่ 1 มี.ค. ก่อนจะเคลื่อนที่ถอยหลังไปผ่านใกล้ดาวรวงข้าวอีกครั้งในวันที่ 26 มี.ค. ที่ระยะ 4.8 องศา วันที่ 9 เม.ย. 2557 ดาวอังคารผ่านตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์เมื่อสังเกตจากโลก จากนั้นเข้าใกล้โลกที่สุดในวันที่ 14 เม.ย. เป็นช่วงที่ดาวอังคารสว่างที่สุด ใกล้เคียงความสว่างของดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้าเวลากลางคืน

วันที่ 20 พ.ค. ดาวอังคารเริ่มกลับมาเคลื่อนที่เดินหน้าอีกครั้ง ผ่านใกล้ดาวรวงข้าวเป็นครั้งที่ 3 ในคืนวันที่ 14 ก.ค. โดยใกล้ที่สุดใน 3 ครั้งนี้ที่ระยะ 1.3 องศา ดาวอังคารย้ายเข้าสู่กลุ่มดาวคนชั่งในวันที่ 10 ส.ค. และผ่านใกล้ดาวเสาร์ในวันที่ 25 ส.ค. ห่างกัน 3.4 องศา โดยสว่างใกล้เคียงกัน

ครึ่งหลังของเดือน ก.ย. ดาวอังคารผ่านพื้นที่ของกลุ่มดาวแมงป่อง เข้าสู่กลุ่มดาวคนแบกงู แล้วผ่านใกล้ดาวปาริชาต หรือดาวแอนทาเรส ในวันที่ 28 ก.ย. ที่ระยะ 3.1 องศา โดยสว่างกว่าดาวปาริชาตเล็กน้อย

คืนวันที่ 19 ต.ค. ดาวหางไซดิงสปริง (C/2013 A1 Siding Spring) จะผ่านใกล้ดาวอังคาร ช่วงที่ใกล้ที่สุดไม่สามารถสังเกตได้จากประเทศไทย เนื่องจากดาวอังคารจะตกลับขอบฟ้าไปก่อนในเวลาประมาณ 3 ทุ่มครึ่ง คาดว่าคืนนั้นดาวหางอยู่ห่างดาวอังคารประมาณ 0.20.3 องศา (ราวครึ่งหนึ่งของขนาดดวงจันทร์ที่เห็นบนท้องฟ้า) แต่คาดว่าดาวหางจะจางมาก ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องสังเกตด้วยกล้องกล้องโทรทรรศน์ ดาวอังคารเข้าสู่กลุ่มดาวคนยิงธนูในปลายเดือน ต.ค. แล้วเคลื่อนต่อไปยังกลุ่มดาวแพะทะเลในต้นเดือน ธ.ค.

ปรากฏการณ์ท้องฟ้า (1522 ธ.ค.)

ดาวศุกร์เป็นดาวสว่างอยู่บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำด้านทิศตะวันตก เห็นได้จนตกลับขอบฟ้าราว 2 ทุ่ม ดาวศุกร์กำลังมีมุมห่างจากดวงอาทิตย์ลดลง สัปดาห์นี้อาจสังเกตได้ว่าดาวศุกร์เริ่มเคลื่อนต่ำลงเมื่อเทียบตำแหน่งในเวลาเดียวกันของทุกวัน และตกเร็วขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์

ดาวพฤหัสบดีอยู่ในกลุ่มดาวคนคู่ราว 1 ทุ่มครึ่ง จะขึ้นมาอยู่เหนือขอบฟ้าทิศตะวันออก จากนั้นจะอยู่เหนือศีรษะในเวลาเกือบตี 2 ดาวอังคารอยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว เริ่มเห็นเหนือขอบฟ้าตะวันออกในเวลาประมาณตี 1 หรือหลังจากนั้นไม่นาน ดาวเสาร์อยู่ในกลุ่มดาวคันชั่ง เริ่มเห็นอยู่เหนือขอบฟ้าราวตี 4 ครึ่ง ช่วงเช้ามืดจึงมีดาวเคราะห์อยู่บนท้องฟ้า 3 ดวง ได้แก่ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์

ต้นสัปดาห์เป็นปลายข้างขึ้น ดวงจันทร์สว่างเกือบเต็มดวง ดวงจันทร์อยู่ใกล้กระจุกดาวลูกไก่ในคืนวันที่ 15 ธ.ค. และผ่านใกล้ดาวอัลเดบารันในกลุ่มดาววัวในวันถัดไป วันที่ 17 ธ.ค. เป็นคืนวันเพ็ญ ดวงจันทร์อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ จึงขึ้นเหนือขอบฟ้าในเวลาใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ตก วันที่ 19 ธ.ค. จะเห็นดาวสว่างอยู่ใกล้ดวงจันทร์ทั้งในเวลาเช้ามืดและหัวค่ำ ดาวดวงนั้นคือ ดาวพฤหัสบดี ซึ่งอยู่ในช่วงที่สว่างที่สุด เนื่องจากกำลังจะอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์และใกล้โลกที่สุดในต้นเดือน ม.ค. 2557

Thailand Web Stat