กบฏ 2556
ใครที่ทราบข่าว DSI และกระทรวงยุติธรรม “ตวาด” ผู้ชุมนุม โดยเฉพาะแกนนำด้วยข้อหา “กบฏ”
กะบดกะกะบวย
กะบะห่วยกะบวยหาย
กะบิดกะบวนกาย
กะบ๊งกะเบ๊งเจ๊งกะบือ
ใครที่ทราบข่าว DSI และกระทรวงยุติธรรม “ตวาด” ผู้ชุมนุม โดยเฉพาะแกนนำด้วยข้อหา “กบฏ” คงจะมีอาการเดียวกันกับผู้เขียนที่ระบายออกมาเป็น “กะวีกะวาด” ข้างต้น คือดูเหลวไหลไร้สาระ ไม่มีความหมาย และดูเป็นความบ้าบอเกินกว่าคนที่มีสติปกติจะกระทำได้
ทำให้นึกถึง “พี่ปุ๊” ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เจ้าของสำนวนที่ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เรียกว่า “สวิงสวาย” แต่ก็มีคนชื่นชอบติดตามงานเขียนของแกจำนวนมาก (รวมทั้งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ด้วย) เพราะถ้าแกยังมีชีวิตอยู่และได้เขียนเสียดสีการเมืองอย่างที่แกชอบในระยะหลังๆ แกก็คงจะเขียนอะไรๆ ที่น่ารักๆ ออกมา ซึ่งผู้เขียนขอลอกเลียนแบบเขียนขึ้น “ขำๆ” ว่า
“รื่นรุดี ฉันขอกะบดกะเธออีกสักกะบอกได้ไหม”
“เชิญซิ สุเรศ กะบิดกะบวนเป็นกะบืออยู่ได้”
“แล้วเธออย่ากะบ๊งกะเบ๊งอย่างวันก่อนนี้ล่ะ” ฯลฯ
พูดถึงคำว่า “กบฏ” ที่โบราณเรียกว่า “ขบถ” เป็นแนวคิดทางการเมืองการปกครองที่น่าสนใจมาก ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นผู้สอนวิชาแนวคิดทางการเมืองและสังคมที่เปิดสอนระดับบัณฑิตศึกษาที่สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จึงขออธิบาย “สาระ” ของแนวคิดนี้พอสังเขปให้เป็น “ถั่งเช่า” บำรุงสมองที่น่าจะยังมีเหลืออยู่บ้างในหัวของคนที่เลียรัฐบาลพวกนั้น เผื่อว่าจะยังมีความเป็นคนไทยที่รักชาติบ้านเมืองอยู่บ้างก็จะได้กลับตัวกลับใจเสีย
“ขบถ” เป็นวาทกรรมของชนชั้นปกครองที่นำมาใช้คู่กับคำว่า “จงรักภักดี” ในความหมายที่ตรงข้ามกัน เพราะผู้ปกครองต้องการให้ราษฎรเคารพเชื่อฟัง จึงคิดเครื่องมือหลายชนิดขึ้นมาชักจูงโน้มน้าวจนกระทั่งบังคับคุกคาม เพื่อที่จะให้ราษฎรอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของผู้ปกครองนั้นๆ เครื่องมืออย่างแรกก็คือ “ฐานะอันเหนือกว่า” ถ้าเป็นสังคมอินเดียโบราณก็จะใช้ระบบ “วรรณะ” หรือการแบ่งชนชั้นและแบ่งแยกหน้าที่ รวมทั้งการอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความเป็นตัวแทนของเทพเจ้า (แบบนี้นิยมในกรีก) หรือโองการสวรรค์ (ที่จีนและญี่ปุ่นนำมาใช้)
เครื่องมือลำดับต่อมาก็คือ “ลัทธิ” หรืออุดมการณ์บางอย่าง ที่ใช้กันมากก็คือศาสนา รวมทั้งการสร้างวาทกรรมที่สนับสนุนระบบความจงรักภักดีดังกล่าว ผ่านสื่อต่างๆ ที่พอจะมีในสมัยนั้น เช่น ระบบเจ้าขุนมูลนายที่จะถ่ายทอดความคิดเรื่องความจงรักภักดีนี้โดยตรงลงไปยังไพร่พลและข้าทาสในสังกัด หรือพระที่ต้องเทศนาสั่งสอน หรือผ่านพิธีกรรมและประเพณีทั้งหลาย รวมถึงวรรณกรรม นาฏศิลป์ จิตรกรรมและสถาปัตยกรรม อย่างเช่น วรรณคดี โขน ละครการละเล่น รำร้อง ภาพผนังโบสถ์ และอาคารบ้านเรือน (อันสุดท้ายนี้ก็เช่น บ้านเจ้าหรือพระราชวังเท่านั้นที่จะมุงกระเบื้อง แม้แต่ส่วนประกอบต่างๆ ก็มีลวดลายเฉพาะ ถ้าเป็นบ้านขุนนางก็ทำสวยมากไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงบ้านราษฎรที่ต้องมุงจากและมีฝาผนังเป็นฟากไม้ไผ่ ไม่งั้นก็จะถูกหมายหัวและมีความผิดเพราะ “ทำตัวเทียมเจ้าเทียมนาย”)
เครื่องมือสำหรับสร้างความจงรักภักดีที่ใช้กันมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ “กฤษฎาภินิหาร” ก็คือ “อำนาจพิเศษ” หรือ “การสร้างสิ่งมหัศจรรย์” ให้เกิดความเลื่อมใสในหมู่ราษฎร ที่พระมหากษัตริย์โบราณใช้กันมากก็คือ “การแผ่พระบรมเดชานุภาพ” ผ่านการขยายและยึดครองดินแดน (คำว่า “กษัตริย์” หรือ “ขัตติยะ” ที่เรารับเอามาจากอินเดีย ถือว่าหน้าที่หลักคนในชนชั้นหรือวรรณะกษัตริย์คือ “การรบ” และคำว่ากษัตริย์นี้ก็แปลตรงตัวว่า “นักรบ”) นอกจากนั้นก็ต้องทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ เช่น สิ่งก่อสร้าง วัด วัง พระพุทธรูป “ใหญ่ๆ” อย่างที่คนธรรมดาทำไม่ได้ ในขณะเดียวกันก็ประกวดประชันหรือแข่งขันกับกษัตริย์ในบ้านเมืองอื่นให้โดดเด่นเหนือกว่า
ส่วน “ขบถ” มีความหมายอยู่ 2 นัยใหญ่ๆ หนึ่งเป็นแนวคิดเก่า ก็คือความ “ดื้อด้าน” ไม่เคารพเชื่อฟัง ที่รวมไปถึงความเย่อหยิ่งจองหอง ยโสโอหัง และความไม่เคารพกฎกติกาต่างๆ โดยเฉพาะกฎกติกาที่ออกโดยผู้ปกครอง และสองเป็นแนวคิดใหม่ ก็คือ ความเป็นอิสระ มีเสรีภาพการคิดนอกกรอบ การทำอะไรที่แปลกใหม่ ไม่ยึดแนวคิดเดิมๆ หรือตามที่มีใครบังคับให้เชื่อให้ทำตาม ดังนั้นคนที่ “เป็นขบถ”ซึ่งถ้าเป็นในแนวคิดเก่าก็จะเป็นคนที่ “ชั่วร้าย” ในสายตาของผู้ปกครอง เพราะไม่เคารพเชื่อฟัง หรือไม่จงรักภักดี เป็นภัยต่อราชบัลลังก์และราชอาณาจักร ซึ่งมีโทษถึงขั้น “ตัดหัว 7 ชั่วโคตร” แต่ถ้าเป็นในแนวคิดใหม่ก็จะกลายเป็น “วีรชนคนกล้า” ได้รับการยกย่องนับถือ มีหน้ามีตา และถ้าเป็นการขบถเพื่อประเทศชาติแล้ว ก็อาจจะได้รับการกล่าวขานกันเป็นตำนานหรือเป็นแบบอย่างแก่ชนรุ่นหลัง อย่างที่เรียกว่าเป็น “ฮีโร่” หรือ “ไอดอล”
ประเทศที่ยังมีข้อหา “กบฏ” ปรากฏอยู่ในกฎหมายต่างๆ ก็ยังมีอยู่หลายประเทศ แม้แต่ในประเทศที่มีประชาธิปไตย (ว่ากันว่า) ก้าวหน้าอย่างสหรัฐอเมริกา นั่นก็คือ Homeland Act ที่ประกาศใช้หลังเหตุการณ์ “911” ในปี 2001 ที่ให้สหรัฐสามารถกระทำการตอบโต้ ได้แก่ ผู้ก่อการกบฏหรือคุกคามความมั่นคงของสหรัฐแม้จะอยู่ในต่างประเทศ อย่างที่สหรัฐทำการกวาดล้างพวกก่อการร้ายในอัฟกานิสถาน หรือบุกจับซัดดัม ฮุสเซน ในปากีสถาน
สำหรับประเทศไทย ถ้าจะว่าไปแล้วเคยคิดที่จะบรรจุความผิดฐานกบฏไว้ในรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2517 เพื่อพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งความมั่นคงและความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่สำเร็จเนื่องจากกลุ่มผู้ร่างยังไม่ตกผลึกในความคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการต่อต้านอำนาจรัฐ ซึ่งความจริงก็ไม่ใช่ของรัฐหรือผู้ปกครองนั้นโดยตรง แต่เป็นอำนาจอธิปไตยที่ประชาชน “แบ่ง” และ “มอบ” ให้ ครั้นมีการจัดทำรัฐธรรมนูญ “ฉบับประชาชน” ใน พ.ศ. 2540 จึงได้เขียนไว้ในมาตรา 65 และมาขยายความให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเป็นมาตรา68 และ 69 ของฉบับ พ.ศ. 2550 เพื่อยืนยันว่าคนที่จะเรียกว่า“กบฏ” นั้นคือพวกที่ไม่เคารพรัฐธรรมนูญและคิดทำลายประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
คือคนที่พวกหัวกะบวยกำลังเลียและปกป้องนั่นแหละ