posttoday

กลุ่มดาวคนคู่

19 มกราคม 2557

สัปดาห์นี้เข้าสู่ข้างแรมแล้ว ท้องฟ้าเวลาหัวค่ำจึงปราศจากแสงจันทร์รบกวน

สัปดาห์นี้เข้าสู่ข้างแรมแล้ว ท้องฟ้าเวลาหัวค่ำจึงปราศจากแสงจันทร์รบกวน หลายพื้นที่ในประเทศไทยน่าจะยังอยู่ในช่วงที่ท้องฟ้าโปร่งเป็นส่วนใหญ่ เหมาะอย่างยิ่งแก่การดูดาว

กลุ่มดาวคนคู่ (Gemini) เป็นกลุ่มดาวเก่าแก่ หนึ่งในกลุ่มดาว 48 กลุ่ม ของทอเลมีเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 2 และเป็นหนึ่งในกลุ่มดาวจักรราศี แนวการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ที่เรียกว่าสุริยวิถีลากผ่านกลุ่มดาวนี้ เราเรียกกลุ่มดาวคนคู่ในอีกชื่อว่ากลุ่มดาวมิถุนหรือเมถุน มีตำแหน่งอยู่ตรงกลางระหว่างกลุ่มดาววัวหรือพฤษภ กับกลุ่มดาวปูหรือกรกฎ ช่วงนี้ของปี แม้แต่คนที่ไม่เคยรู้จักกลุ่มดาวนี้บนท้องฟ้ามาก่อน ก็สามารถหากลุ่มดาวคนคู่ได้ง่าย เนื่องจากดาวพฤหัสบดีกำลังปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวคนคู่ มองเห็นอยู่ทางทิศตะวันออกในเวลาหัวค่ำ

ทางดาราศาสตร์ ปัจจุบันดวงอาทิตย์จะมีตำแหน่งปรากฏอยู่บริเวณกลุ่มดาวนี้ในช่วงปลายเดือน มิ.ย. ถึงปลายเดือน ก.ค. ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อนของซีกโลกเหนือ โดยราววันที่ 21 มิ.ย. เป็นวันที่ขั้วโลกเหนือเบนเข้าหาดวงอาทิตย์มากที่สุดในรอบปี และเป็นวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ที่จุดครีษมายัน กลุ่มดาวคนคู่จึงเป็นกลุ่มดาวจักรราศีที่อยู่ค่อนไปทางซีกฟ้าเหนือ

แกนหมุนของโลกที่มีการหมุนควงด้วยคาบประมาณ 2.58 หมื่นปี นอกจากจะทำให้ดาวเหนือเปลี่ยนไปแล้ว จุดครีษมายันก็เปลี่ยนไปด้วย โดยเคลื่อนไปทางทิศตะวันตกทีละน้อย เมื่อราวศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสต์ศักราช ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 จุดครีษมายันเคยอยู่ในกลุ่มดาวคนคู่มาก่อน ปัจจุบันจุดนี้อยู่ในกลุ่มดาววัว อีกราว 2,700 ปี จุดครีษมายันจะออกจากกลุ่มดาววัว เข้าสู่กลุ่มดาวแกะ การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้ทำให้ฤดูกาลของเดือนต่างๆ เปลี่ยนไป เนื่องจากระบบปฏิทินที่ใช้ในปัจจุบันได้ปรับให้ตรงหรือใกล้เคียงกับฤดูกาล โดยชดเชยผลจากการหมุนควงที่เกิดกับแกนหมุนของโลกแล้ว

ชื่อกลุ่มดาวในภาษาละตินแปลว่าฝาแฝด มีดาวสว่าง 2 ดวง ได้แก่ คาสเตอร์ (Castor) และพอลลักซ์ (Pollux) ซึ่งเป็นชื่อของพี่น้องฝาแฝดเพศชายในเทพนิยายกรีก พอลลักซ์สว่างกว่าคาสเตอร์ เป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดเป็นอันดับที่ 16 บนท้องฟ้าเวลากลางคืน อย่างไรก็ตาม ชื่อดาวตามบัญชีของโยฮัน เบเยอร์ เมื่อ ค.ศ. 1603 ซึ่งใช้เรียกชื่อดาวในแต่ละกลุ่มดาว เรียงตามตัวอักษรกรีก จากดาวดวงที่สว่างที่สุดเป็นดาวแอลฟา รองลงมาเป็นดาวบีตา แกมมา เดลตา...ตามลำดับ กลับกำหนดให้ดาวคาสเตอร์เป็นดาวแอลฟา ส่วนดาวพอลลักซ์เป็นดาวบีตา แสดงว่าเกิดความผิดพลาด หรืออาจเกิดความสับสนระหว่างดาวสองดวงนี้

ภาพวาดกลุ่มดาวแสดงให้เห็นว่าดาวสองดวงนี้อยู่บริเวณส่วนหัวของแต่ละคน โดยคาสเตอร์อยู่ค่อนไปทางทิศเหนือมากกว่าพอลลักซ์ เมื่อสังเกตจากประเทศไทย หากมองเห็นกลุ่มดาวคนคู่อยู่บนท้องฟ้าทิศตะวันออก หรือเวลาหัวค่ำของช่วงนี้ ดาวคาสเตอร์จะอยู่เยื้องไปทางซ้ายมือของพอลลักซ์ แต่หากเห็นกลุ่มดาวคนคู่อยู่บนท้องฟ้าทิศตะวันตก หรือเวลาเช้ามืดของช่วงนี้ ดาวคาสเตอร์จะอยู่เยื้องไปทางขวามือของพอลลักซ์ คนไทยสมัยก่อนรู้จักกลุ่มดาวนี้ในชื่อดาวโลง โดยเห็นดาวพอลลักซ์ คาสเตอร์ กับดาวอีกสองดวงบริเวณเท้าของฝาแฝดเรียงกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า

การที่กลุ่มดาวคนคู่เป็นหนึ่งในกลุ่มดาวจักรราศี ดาวเคราะห์และดวงจันทร์จึงมีโอกาสบังดาวฤกษ์ในกลุ่มดาวนี้ ศาสตร์นิพนธ์ Meteorologica ของอริสโตเติล อันมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์โลก ตอนหนึ่งได้กล่าวถึงการสังเกตเห็นดาวพฤหัสบดีเข้าใกล้ดาวฤกษ์ดวงหนึ่งในกลุ่มดาวคนคู่

งานวิจัยเมื่อหลายปีก่อนเสนอว่าปรากฏการณ์ดังกล่าว อาจหมายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 337 ปีก่อนคริสต์ศักราช เมื่อดาวพฤหัสบดีเกือบบังดาวดวงหนึ่งบริเวณเท้าของคาสเตอร์ และน่าจะเป็นบันทึกแรกๆ ที่กล่าวถึงปรากฏการณ์ที่เห็นดาวเคราะห์เคลื่อนเข้าบัง หรือเกือบบังดาวฤกษ์ ต้นเดือน ก.ค.ปีที่แล้ว ดาวพฤหัสบดีก็ผ่านใกล้ดาวดวงเดิมอีกครั้ง แต่ไม่สามารถสังเกตได้ เนื่องจากขณะนั้นดาวพฤหัสบดีอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์

ดาวพอลลักซ์และคาสเตอร์มีตำแหน่งอยู่ห่างจากแนวเส้นสุริยวิถีขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ 6.5 และ 10 องศา ดวงจันทร์มีระนาบวงโคจรเอียงทำมุมกับสุริยวิถีด้วยค่าน้อยกว่านั้นด้วยมุมประมาณ 5 องศา ทำให้ไม่มีโอกาสที่ดาวทั้งสองจะถูกดวงจันทร์บัง ดวงจันทร์จะอยู่ใกล้ดาวพอลลักซ์มากที่สุดเมื่อดวงจันทร์มีตำแหน่งขึ้นไปทางเหนือมากที่สุด แต่ตำแหน่งของจุดตัดระหว่างระนาบวงโคจรของดวงจันทร์กับสุริยวิถีก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ วนครบรอบในเวลาประมาณ 18.6 ปี เราจึงมีโอกาสเห็นดวงจันทร์อยู่ใกล้ดาวพอลลักซ์ได้มากที่สุดที่ระยะ 1.5 องศา ในทุกๆ ช่วงเวลาดังกล่าว ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2548 ช่วงต่อไปจึงจะเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2566

ปรากฏการณ์ท้องฟ้า (19–26 ม.ค.)

ดาวพุธอยู่บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ มีตำแหน่งอยู่ใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตก จึงสังเกตได้เฉพาะในช่วงที่ท้องฟ้ายังไม่มืดสนิท ดาวพุธจะทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุดในปลายเดือน ม.ค.นี้ ช่วงสัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้าจึงเป็นช่วงเวลาที่สังเกตดาวพุธได้ง่ายที่สุดช่วงหนึ่งของปีนี้

ดาวพฤหัสบดีอยู่ในกลุ่มดาวคนคู่ เห็นเป็นดาวสว่างอยู่ทางทิศตะวันออกในเวลาหัวค่ำ สัปดาห์นี้ดาวพฤหัสบดีจะขึ้นไปอยู่เหนือศีรษะในเวลาประมาณ 5 ทุ่ม แล้วคล้อยต่ำลงจนตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกในเวลาประมาณตี 5 ครึ่ง

ดาวอังคารอยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว ใกล้ดาวรวงข้าวหรือดาวสไปกา ซึ่งเป็นดาวสว่างในกลุ่มดาวนี้ เริ่มเห็นดาวอังคารได้ตั้งแต่เวลาประมาณเที่ยงคืน โดยขึ้นมาอยู่เหนือขอบฟ้าทิศตะวันออก ดาวเสาร์อยู่ในกลุ่มดาวคันชั่ง ซึ่งเป็นกลุ่มดาวที่อยู่ถัดจากกลุ่มดาวหญิงสาว เริ่มเห็นได้เหนือขอบฟ้าทิศตะวันออก เยื้องไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ราวตี 2 ครึ่ง หรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อย

ดาวศุกร์ปรากฏเป็นดาวประกายพรึก ซึ่งเป็นชื่อเรียกดาวศุกร์เมื่ออยู่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืด ดาวศุกร์เคลื่อนห่างจากดวงอาทิตย์มากขึ้นทุกวัน จะทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์ที่สุดในเดือน มี.ค. เมื่อใกล้อรุณรุ่งจึงเห็นดาวเคราะห์ได้ 3-4 ดวง ได้แก่ ดาวพฤหัสบดีที่กำลังจะตกลับขอบฟ้า ดาวอังคารอยู่สูงบนท้องฟ้าทิศใต้ ดาวเสาร์อยู่สูงทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และดาวศุกร์อยู่ใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออก

สัปดาห์นี้เป็นข้างแรม ดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดของทุกวัน วันที่ 23 ม.ค. ดวงจันทร์ผ่านใกล้ดาวอังคารและดาวรวงข้าวในกลุ่มดาวหญิงสาว ห่างที่ระยะ 5-6 องศา จากนั้นดวงจันทร์สว่างครึ่งดวงในวันที่ 24 ม.ค. วันอาทิตย์ที่ 26 ม.ค. จะเห็นดวงจันทร์อยู่ใกล้ดาวเสาร์ที่ระยะ 6 องศา