ระลึกถึงพระองค์หญิงวิภาวดีรังสิต
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดี ทรงมีพระนามเดิมว่าหม่อมเจ้าวิภาวดี (รัชนี) รังสิต
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดี ทรงมีพระนามเดิมว่าหม่อมเจ้าวิภาวดี (รัชนี) รังสิต ทรงเป็นธิดาในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ (พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส ต้นราชสกุลรัชนี) และหม่อมเจ้าพรพิมลพรรณ(วรวรรณ) รัชนี ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 20 พ.ย. ปี 2463 ทรงมีอนุชาร่วมพระบิดามารดาเดียวกันหนึ่งองค์ คือ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี
พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6แล้วจึงศึกษาหลักสูตรสมบูรณ์ศึกษาที่โรงเรียนนี้เพิ่มเติมอีก 3 ปี ทรงสำเร็จการศึกษาเมื่อปี 2485
ภายหลังที่ทรงสำเร็จการศึกษาแล้ว พระองค์หญิงได้ทรงรับใช้กรมหมื่นพิทยาลงกรณ พระบิดาอย่างใกล้ชิด ซึ่งทรงเป็นที่รู้กันดีในวงการประพันธ์ในนาม “น.ม.ส.” ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น“กวีเอก” ผู้หนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์หญิงทรงพระปรีชาสามารถหลายประการคล้ายพระบิดา โดยเฉพาะทางอักษรศาสตร์ ทรงเขียนเรื่องสำหรับเด็กเมื่อพระชันษาเพียง 14 ปี และทรงใช้นามปากกาว่า “ว.ณ ประมวญมารค” ทรงนิพนธ์นวนิยายเรื่อง ปริศนา รัตนาวดี เจ้าสาวของอานนท์ ฯลฯ อีกทั้งสารคดีเรื่อง “ตามเสด็จปากีสถาน” ต่อมาทรงนิพนธ์นวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องพระราชินีนาถวิกตอเรีย คลั่งเพราะรัก ฯลฯ นอกจากนั้นยังได้ทรงนิพนธ์เรื่องสั้น รวมทั้งบทละครวิทยุด้วย
พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงเสกสมรสกับหม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต เมื่อวันที่ 6 พ.ค. ปี 2489 โดยทรงเป็นคู่สมรสคู่เดียวที่ได้รับพระราชทานน้ำพระมหาสังข์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงมีธิดา 2 คน คือ หม่อมราชวงศ์วิภานันท์ และหม่อมราชวงศ์ปรียนันทนา รังสิต
พระองค์หญิงทรงเข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรภาคต่างๆ ในราชอาณาจักรตั้งแต่ปี 2500 และต่อจากนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โดยเสด็จในตำแหน่งนางสนองพระโอษฐ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการ รวม 23 ประเทศ
ในระยะ 10 ปีสุดท้ายของพระชนมชีพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์หญิงปฏิบัติภารกิจแทนพระองค์ในด้านการพัฒนาพื้นที่ทุรกันดารภาคใต้ ทรงนำหน่วยพระราชทานไปช่วยเหลือประชาชนในท้องที่ที่ไกลและทุรกันดารที่สุด โดยมิได้ทรงย่อท้อต่อความยากลำบากในการเดินทางหรือที่พักแรม เมื่อพระองค์หญิงเสด็จที่ใดก็ได้นำความไปกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และต่อมาความเจริญก็ค่อยๆ ไปถึงที่นั้น จนในที่สุดชาวบ้านจึงได้ขนานพระนามว่า “เจ้าแม่” พระองค์หญิงทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์เพื่อที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นด้วยการเสด็จเยี่ยมพาแพทย์ไปรักษาพยาบาลคนที่เจ็บป่วย จัดสิ่งของหยูกยาไปช่วยชาวบ้านตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ตลอดระยะเวลาที่พระองค์หญิงเสด็จไปปฏิบัติภารกิจแทนพระองค์ในการพัฒนาพื้นที่ในถิ่นทุรกันดารทางภาคใต้ โดยเฉพาะใน จ.สุราษฎร์ธานีนครศรีธรรมราช และพัทลุง แม้จะประสบกับความยากลำบากเพียงไร พระองค์ก็มิได้ทรงย่อท้อ ทรงบุกป่าฝ่าดง ขึ้นรถ ลงเรือ ท่องน้ำลุยโคลน ไปบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ราษฎรอย่างได้ผล หลังจากพระองค์หญิงเสด็จไปทอดพระเนตรเห็นความทุกข์ยากลำบากของราษฎรด้วยพระองค์เองแล้วก็นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ดังที่ได้ทรงเล่าไว้ในเรื่องเล่าเรื่องเมืองพระแสง ความตอนหนึ่งว่า
“...การเยี่ยมราษฎรตามตำบลต่างๆ ในพระแสงครั้งแรกของข้าพเจ้านี้กินเวลาไม่ถึงอาทิตย์ ข้าพเจ้าไม่ได้ไปทั่วทุกตำบล ไปเพียงแต่ตำบลที่ไกล กันดารและไปลำบากที่สุดเท่านั้นแต่เมื่อข้าพเจ้ากลับมาถึงกรุงเทพฯ ได้ไม่นาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินจำนวนหนึ่งเพื่อก่อตั้ง ‘มูลนิธิพัฒนาอนามัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี’ ขึ้นสำหรับช่วยเหลือเจ้าพนักงานอนามัยให้ได้รับความสะดวกในการที่จะเข้าไปปฏิบัติงานในถิ่นทุรกันดาร เพื่อบริการราษฎรได้ความสะดวกในการประกอบอาชีพทุกอำเภอทั่วทั้งจังหวัด ไม่เฉพาะแต่เพียง อ.พระแสง ดังแต่ก่อน รัฐมนตรีสาธารณสุข อธิบดีกรมอนามัยผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม เป็นต้น ต่างก็ให้ทางราชการเจริญรอยตามพระยุคลบาท ด้วยการสนับสนุนโครงการหน่วยเคลื่อนที่โดยจัดแพทย์และเจ้าหน้าที่กรมอนามัยทุกแผนกไปร่วมปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็งข้าพเจ้าได้มาร่วมงานกับหน่วยเคลื่อนที่ของมูลนิธิหลายครั้ง โดยนำของพระราชทานส่วนพระองค์ไปแจกแก่ชาวบ้าน บางคราวก็หนัก 1 ตัน บางคราวก็ 2 ตันครึ่ง เป็นต้น จนไม่มีตำบลหรือหมู่บ้านใดในพระแสงที่ข้าพเจ้าไม่ได้ไปกับหน่วยเคลื่อนที่ของมูลนิธิ หนหลังๆ ที่ข้าพเจ้าไปพระแสง ก็ไม่ต้องเกาะท้ายจักรยานยนต์อีกแล้ว กรมทางได้เริ่มทำถนนสายบ้านส้องพระแสง หลังจากที่ข้าพเจ้าไปเยี่ยมเป็นครั้งแรกไม่นาน ในปัจจุบันรถทุกชนิดแล่นได้ถึงท่าข้ามพระแสงภายใน 20 นาที แทนที่จะเป็น 6 ชั่วโมงอย่างเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ถ้าเป็นหน้าฝนก็นานขึ้นอีกนิดหนึ่ง แต่ก็คงไม่ถึงชั่วโมง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเมืองพระแสง กับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ปี 2521 ทำความปลื้มปีติให้แก่ชาวพระแสงหาที่สุดมิได้ เพราะได้ตั้งตาคอยมานาน คืนก่อนเสด็จฯ ฝนตกตลอดคืนจนเช้าก็ยังไม่หาย ราษฎรใจเสียนึกว่าคงเสด็จฯ ไม่ได้เสียแล้วทางเฮลิคอปเตอร์ แต่ก่อนกำหนดเวลาเสด็จฯ ถึงเพียงชั่วโมงเดียว ฟ้าก็โปร่งฝนหายราวกับปิดก๊อก แต่พื้นเฉอะแฉะเป็นโคลนตมไปหมด ราษฎรต้องช่วยกันขนไม้กระดานซึ่งทางกรมอนามัยซื้อมากองไว้สำหรับทำฝาเรือนให้คุณดุสิต (พนักงานอนามัย) เป็นแผ่นๆ มาต่อกันเป็นทางเดินยาวสำหรับให้ทรงพระราชดำเนินจากเฮลิคอปเตอร์ไปที่สถานีอนามัย เพื่อให้ราษฎรมากมายก่ายกองเฝ้าชมพระบารมี พระราชทานยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และชมพระบารมี พระราชทานยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่มและผ้าห่มแก่ผู้ที่ยากจน ทอดพระเนตรโครงการส่งเสริมอาชีพราษฎรของมูลนิธิพัฒนาอนามัยฯ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยอาสาสมัครของมูลนิธิเข้าเฝ้าแล้วก็เสด็จพระราชดำเนินกลับ ครั้นวันที่ 4 ต.ค. ปีที่แล้วก็เสด็จพระราชดำเนินอีกครั้งพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อพระราชทานบุลโดเซอร์ดี 4 แก่ อ.พระแสง เพื่อทำถนนระหว่างตำบลต่างๆ ของอำเภอให้ติดต่อกัน โดยใช้เฮลิคอปเตอร์มหึมาทิ้งบุลโดเซอร์ลงมาทีละชิ้น
เมื่อข้าพเจ้าไปเยี่ยมพระแสงอีกในเดือน มี.ค.ปีนี้เอง ก็ได้เห็นความเจริญเพิ่มขึ้นมาเป็นลำดับ เมื่อข้าพเจ้าเดินทางไปบ้านหมากอีกครั้งหนึ่ง แทนที่จะลงเรือไป 2 วันเช่นครั้งแรก ข้าพเจ้าได้ซ้อนท้ายจักรยานยนต์ไปตามถนนใหม่ ซึ่งรถบุลโดเซอร์พระราชทานกำลังบุกเบิก 3 ชั่วโมงเท่านั้นก็ถึง
ในปัจจุบันพระแสงมีสถานีอนามัยหรือไม่ก็สถานีผดุงครรภ์อยู่ทั่วทุกตำบลและหมู่บ้านข้าพเจ้าไปครั้งไรก็ได้ไปทำพิธีเปิดครั้งละ 34 แห่ง โรงเรียนก็มีทั่วทุกหมู่บ้านแล้ว แม้หมู่บ้านไกลและกันดารเช่นบ้านหมาก ซึ่งเมื่อก่อนไม่มีครูคนใดยอมไปอยู่ ทางจังหวัดมีผู้ว่าราชการคนใหม่เป็นหัวหน้าก็ได้จัดให้มีทุนเพิ่มเงินเดือนให้แก่ครูที่ไปอยู่ที่ทุรกันดารเหล่านั้น ก.ร.ป.กลางที่เข้าไปช่วยพัฒนา...”
การเสด็จแทนพระองค์ไปทรงเยี่ยมราษฎร และสอดส่องสุขทุกข์ราษฎรของพระองค์หญิงวิภาวดีรังสิต ได้นำความเจริญก้าวหน้าไปสู่ถิ่นหมู่บ้านที่ทุรกันดารห่างไกลในจังหวัดภาคใต้มากขึ้นเป็นลำดับ แม้ในห้วงเวลาดังกล่าวนั้น บ้านเมืองจะมีปัญหาการรุกรานของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์และหลายหมู่บ้านหลายอำเภอใน จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง จะเต็มไปด้วยผู้ที่นิยมเลื่อมใสฝักใฝ่กับลัทธิคอมมิวนิสต์อาศัยปะปนอยู่กับประชาชนเป็นอันมาก แต่เมื่อเขาเหล่านั้นคือประชาชนเป็นพสกนิกรในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสมอกับทุกคน การเสด็จไปบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ราษฎรของพระองค์หญิง จึงไม่ทรงเลือกที่รักมักที่ชัง หน่วยพระราชทานความช่วยเหลือราษฎรของพระองค์ จึงเข้าไปช่วยเหลือราษฎรทุกคนในหมู่บ้านที่ต้องการความช่วยเหลือ ผู้ใดเจ็บป่วยก็ได้รับการรักษา ผู้ใดขาดแคลนก็ได้รับพระราชทานความช่วยเหลือทั้งในด้านชีวิตความเป็นอยู่และการพัฒนาอาชีพ การพระราชทานความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความยากลำบากเดือดร้อนจึงไปถึงราษฎรไทยทุกคนที่เป็นคนไทยในผืนแผ่นดินไทยโดยทั่วหน้า ในขณะเดียวกันก็ได้นำสิ่งของพระราชทานไปเยี่ยมบำรุงขวัญเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร พลเรือน สมาชิกกองอาสาสมัครรักษาดินแดนในเขตที่มีผู้ก่อการอย่างรุนแรงก็ยังทรงพระอุตสาหะเสด็จไปให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ถึงแนวหน้าด้วย
จนกระทั่งวันที่ 16 ก.พ. ปี 2520 ระหว่างทางเสด็จโดยเฮลิคอปเตอร์ เพื่อปฏิบัติภารกิจแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการไปเยี่ยมบำรุงขวัญทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทรงทราบจากวิทยุว่ามีตำรวจตระเวนชายแดนได้รับบาดเจ็บจากกับระเบิด 2 นาย ด้วยความที่ทรงห่วงใยผู้บาดเจ็บเกรงว่าจะได้รับการรักษาพยาบาลไม่ทันท่วงที จึงรับสั่งให้นักบินเฮลิคอปเตอร์ร่อนลงเพื่อรับเจ้าหน้าที่ที่บาดเจ็บ 2 นายนั้นไปส่งโรงพยาบาล ขณะนักบินนำเครื่องร่อนลงต่ำใกล้บ้านเหนือคลอง อ.เวียงสระจ.สุราษฎร์ธานี ผู้ก่อการร้ายได้ระดมยิงเฮลิคอปเตอร์กระสุนทะลุเข้ามาถูกพระองค์หญิง ทรงได้รับบาดเจ็บสาหัสและสิ้นพระชนม์ก่อนเสด็จถึงโรงพยาบาล
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนาหม่อมเจ้าวิภาวดีรังสิต เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ปี 2520 และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์และประถมาภรณ์ช้างเผือก