จีวรสีพระราชนิยม สีแห่งความสามัคคี

23 กุมภาพันธ์ 2557

โดย...สมาน สุดโต

โดย...สมาน สุดโต

คณะสงฆ์ธรรมยุตประกาศให้จีวรสีพระราชนิยม เป็นสีประจำคณะธรรมยุต โดยให้มีผลบังคับใช้วันที่ 13 พ.ค. 2557 อันเป็นวันวิสาขบูชา

วิพากษ์

เมื่อคณะธรรมยุตออกประกาศ สร้างความสั่นสะเทือนในวงการคณะสงฆ์ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2557 เป็นต้นมา ถ้าเปิดเว็บไซต์ alittlebuddha.com ที่พระเถระทุกระดับติดตามจะพบข้อความวิพากษ์ที่รุนแรง โดยอ้างตั้งแต่การเริ่มการก่อตัวของคณะธรรมยุต ที่พระภิกษุวชิรญาณ (รัชกาลที่ 4 ในเวลาต่อมา) ทรงเลื่อมใสการปฏิบัติของพระรามัญ จึงหันไปครองจีวรแบบมอญ แต่ไม่ถูกพระราชหฤทัยรัชกาลที่ 3 จึงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามั่ง กรมพระยาเดชาดิศร (พระนามหลังการสิ้นพระชนม์สถาปนาในรัชกาลที่ 6) ที่ทรงกำกับกรมอาลักษณ์ ไปว่ากล่าวตักเตือน พร้อมทั้งโปรดให้นำผ้าไตร “สีพระไทย” ไปถวายพระภิกษุวชิรญาณ 1 ไตร พระภิกษุวชิรญาณ ครั้นทรงทราบแล้วก็หันมานุ่งห่มแบบพระสงฆ์ไทยตามเดิม

เมื่อเปลี่ยนรัชกาลจากรัชกาลที่ 3 เป็นรัชกาลที่ 4 คณะสงฆ์ธรรมยุตขอพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องครองจีวร พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ตรัสว่าเป็นเรื่องของพระ โยมไม่เกี่ยว พระธรรมยุตจึง “ประกาศอิสรภาพ” หันไปครองผ้าแบบมอญนับตั้งแต่บัดนั้น

พระป่าไม่ยอม

ปัจจุบันเมื่อสมเด็จพระวันรัต รักษาการเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต ประกาศเอาสีพระราชนิยมเป็นสีของคณะธรรมยุต และให้วันที่ 13 พ.ค. 2557 เป็นวันดีเดย์ นอกจากเป็นที่วิพากษ์แล้ว พระสายวิปัสสนากรรมฐาน หรือสายพระป่า ยืนยันจะไม่เปลี่ยนสีและจะห่มตามที่เคยปฏิบัติมา คือสีกรัก หรือแก่นขนุน ตามที่เคยปฏิบัติตามธรรมเนียม ของพ่อแม่ ครูอาจารย์ สายกรรมฐานสอนไว้

คำแก้ตัว

เมื่อเจอแรงต้านจากพระป่า สมเด็จพระวันรัต ในฐานะรักษาการเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์แก่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง(18 ก.พ. 2557) โดยแก้ตัวว่าประกาศดังกล่าวจะเน้นในส่วนของพระสงฆ์คามวาสี หรือพระที่อยู่ในเมือง ที่จะต้องครองจีวรไปในสีเดียวกัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการรับกิจนิมนต์ต่างๆ เพราะที่ผ่านมาพระสงฆ์คณะธรรมยุตมีการครองจีวรคนละสี ทำให้พุทธศาสนิกชนบางส่วนขาดศรัทธาเพราะความเรียบร้อย

ส่วนพระอรัญวาสีหรือพระสงฆ์ที่อยู่นอกเมือง หรือพระป่านั้น ได้มีหมายเหตุในประกาศดังกล่าวไว้แล้วว่า ยังให้ครองจีวรเช่นเดิม ตามแนวปฏิบัติของครูบาอาจารย์ แม้ว่าจะรับกิจนิมนต์เข้ามาในเมืองก็ไม่ต้องเปลี่ยนจีวรเป็นสีพระราชนิยม นอกจากจะได้รับกิจนิมนต์เข้าร่วมในงานพระราชพิธี(ให้อ่านประกาศตามต้นฉบับ ที่แนบไว้จะไม่พบหมายเหตุที่ว่า)

สมเด็จพระวันรัต กล่าวต่อไปว่า ส่วนที่มีหลายฝ่ายมองว่าการเปลี่ยนสีจีวรของคณะธรรมยุตเป็นสีพระราชนิยมเป็นเรื่องเกี่ยวการเมืองของคณะสงฆ์นั้น ยืนยันว่าไม่มีเรื่องการเมืองในวงการคณะสงฆ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่อยากให้คิดไปเช่นนั้น เพราะการเปลี่ยนสีจีวรของคณะธรรมยุต เพื่อมุ่งเน้นถึงเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในคณะธรรมยุตเท่านั้น

สีตามพระวินัย

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงอธิบายเรื่องจีวร ว่ามีขนาดและแบบอย่างไร รวมทั้งสีย้อม ในหนังสือวินัยมุขเล่ม 2 หลักสูตรนักธรรมชั้นโท กล่าวคือผ้าที่ใช้ทำจีวรได้นั้นมี 6 ชนิด 1 โขมะ ผ้าทำด้วยเปลือกไม้ 2 กัปปาสิกะ ผ้าทำด้วยฝ้าย 3 โกเสยยะ ผ้าทำด้วยไหม 4กัมพละ ผ้าทำด้วยขนสัตว์ 5 สาณะ ผ้าทำด้วยเปลือกป่าน 6 ภังคะ ผ้าทำด้วยของ 5 อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งเอามาปนกัน

เมื่อได้ผ้าแล้วให้ตัดเป็นขันฑ์ หรือแบบคันนาของชาวมคธ เป็นกระทงมีเส้นคั่น และให้มีไม่น้อยกว่า 5 ขันฑ์ เกินกว่านั้นคือ 7–9 และ 11 ขันฑ์ก็ได้

เมื่อได้จีวรแล้วให้ย้อมด้วยของ 6 คือ รากหรือเง่า 1 ต้นไม้ 1 เปลือกไม้ 1 ใบไม้ 1 ดอกไม้ 1 ผลไม้ 1 ให้เอาของเหล่านี้แช่น้ำไปเคี่ยวไฟ ได้สีแบบไหน บาลีไม่ได้บอก แต่เรียกว่ากาสายะบ้าง กาสาวะบ้าง ที่แปลว่าย้อมด้วยน้ำฝาด

ในขณะเดียวกันได้ห้ามสีบางอย่างไว้ คือ สีคราม สีเหลือง สีแดง สีบานเย็น (แดงฝาง) สีแสด สีชมพู สีดำ โดยนัยนี้ต้องเป็นของพ้นจากสีเหล่านี้แต่สีที่รับรองกันเป็นสีเหลือง เจือแดงเข้ม หรือ สีเหลืองหม่น พึงเห็นเช่นสีที่ย้อมแก่นขนุน อันเรียกว่าสีกรัก

ความเป็นมาของสีพระราชนิยม

พระพรหมเมธี (จำนงค์ ธมฺมจารี) กรรมการและโฆษกมหาเถรสมาคม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ นำภาพเอกซ์คลูซีฟที่เก็บไว้นานแล้วมาให้ผู้เขียนดู ว่าเป็นภาพประวัติศาสตร์ ที่เกี่ยวกับที่มาของจีวรสีพระราชนิยม

ภาพดังกล่าวนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกำลังทรงพระราชปฏิสันถารเป็นการส่วนพระองค์กับคณะสงฆ์ ที่มีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นประธาน โดยมีคณะสงฆ์จำนวนหนึ่ง รวมทั้งพระพรหมเมธี ซึ่งขณะนั้นเป็นพระราชคณะชั้นราชที่พระราชธรรมาภรณ์เข้าเฝ้าอยู่ด้วย

วันนั้นทรงมีพระราชปรารภเรื่องสีจีวรของพระที่นุ่งห่มว่ามีหลายสี บางสีเหมือนสีลูกกวาดเมื่อมีฝรั่งหรือผู้สนใจซักถามก็หาคำตอบยาก จึงมีพระประสงค์จะให้พระสงฆ์ครองจีวรสีเหมือนกัน โดยนำจีวร 3 สี เป็นจีวรสีกรัก สีเหลืองขมิ้น และสีเหลืองทอง มาวางให้สมเด็จพระสังฆราช ทรงวินิจฉัยว่าจะโปรดสีไหน

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชทรงชี้ไปที่จีวรที่วางไว้ตรงกลาง ซึ่งเป็นสีเหลืองแก่ ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงโปรดว่าควรใช้สีนี้

เมื่อได้ตามพระราชประสงค์แล้ว สมเด็จพระสังฆราชประทานนามสีจีวรว่า สีพระราชนิยม

คณะสงฆ์โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช โปรดให้นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมมหาเถรสมาคม เพื่อประกาศให้ทราบทั่วกันว่า พระสงฆ์ทั้งธรรมยุตและมหานิกาย ต้องนุ่งห่มจีวรสีพระราชนิยมในงานพระราชพิธี และปฏิบัติติดต่อเป็นประเพณีนิยมนับสิบปีมาแล้ว

นี่คือที่มาแห่งสีพระราชนิยม สีแห่งความสามัคคีของหมู่สงฆ์

Thailand Web Stat