posttoday

ครม.ให้ทุกกระทรวงสำรวจความเสียหายจ่อฟ้องม็อบ

25 กุมภาพันธ์ 2557

ครม.ให้ทุกกระทรวงสำรวจความเสียหาย เตรียมฟ้องร้องผู้ชุมนุมปิดล้อม นายกฯเสียใจเหตุความไม่สงบ สั่งพม.ดูแลผู้บาดเจ็บ-เสียชีวิต

ครม.ให้ทุกกระทรวงสำรวจความเสียหาย เตรียมฟ้องร้องผู้ชุมนุมปิดล้อม นายกฯเสียใจเหตุความไม่สงบ สั่งพม.ดูแลผู้บาดเจ็บ-เสียชีวิต

เมื่อวันที่ 25 ก.พ. นายภักดีหาญ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)  ว่า ก่อนการประชุม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น พร้อมได้กำชับให้นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกฯและรมว.การต่างประเทศเร่งหาผู้ก่อเหตุ รวมถึงวางมาตรการดูแลความสงบในพื้นที่เพิ่มเติม  และมอบหมายให้กระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ ไปดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุชุมนุมทางการเมือง 738 ราย และเสียชีวิต 21 ราย

นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณา ถึงคำแถลงการณ์ขององค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ที่ห้ามไม่ให้เด็กเข้าไปในพื้นที่ชุมนุม และมอบให้รัฐมนตรีทุกกระทรวง ไปสำรวจความเสียหายในกรณีที่ต้องย้ายสถานที่ทำงาน เพราะผู้ชุมุนมไปปิดล้อม ซึ่งจำเป็นที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม และเป็นการสูญเสียงบประมาณ จึงจำเป็นต้องดำเนินคดีความ และฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ต่อไป

ด้าน ร.ท.หญิง สุนิสา เลิศภควัต รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายให้กับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ในฐานะ ผอ.ศรส. ให้มีการประเมินภาพรวมการแก้ไขสถานการณ์ที่ผ่านมา พร้อมทั้งกำชับให้ประเมินหลังจากที่มีคำสั่งศาลแพ่งออกมา โดย ศรส.มีแนวทางจะแก้ไขปัญหาอย่างไร และนายกรัฐมนตรียังฝากให้ ศรส. ให้ความสำคัญในการประเมินงานในภาพรวม และช่วยประหยัดงบประมาณอย่างสูงสุด ซึ่งหากมีกำลังพล ที่มีการดึงมาช่วยงาน และไม่ปฎิบัติงานได้จริง ก็ให้ส่งกลับหน่วยงานเดิม

สำหรับกรณีข้อเสนอของ กกต. ที่ส่งกลับมาให้รัฐบาลพิจารณา การออกพระราชกฤษฎีกาใหม่ ใน 28 เขตเลือกตั้ง ภาคใต้ นั้น คณะรัฐมนตรีได้หารืออย่างกว้างขวาง และได้ข้อสรุปว่า ครม.รับทราบหนังสือที่เป็นความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เท่านั้น โดยไม่มีความเห็นจาก ครม.โดยตรง ซึ่งจะส่งเรื่องนี้ไปยัง กกต.

ทั้งนี้ความเห็นจากกฤษฎีกา ยังยืนยันว่า รัฐบาลไม่สามารถที่จะตราพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่ได้ และหน้าที่จัดการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ กกต.ดำเนินการอยู่แล้ว และที่ประชุม ได้นำคำวินิจฉัยรัฐธรรมนูญที่เคยวินิจฉัยไว้ว่า การแก้ปัญหาเรื่องการเลือกตั้ง เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีและประธาน กกต.ต้องหารือกัน ซึ่งไม่มีส่วนไหนที่จะต้องให้เป็นมติ ครม.