เลือกตั้งสว.สำเร็จนายกฯม.7สะดุด
หาก สว.เลือกตั้งชุดใหม่เข้าสภามาเมื่อไหร่ เกมการต่อสู้ของ กปปส.เพื่อปูทางสู่นายกรัฐมนตรีมาตรา 7 จะลำบากมากขึ้น
โดย...ทีมข่าวการเมือง
คำปราศรัยของสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เมื่อวันที่ 5 มี.ค. เป็นอีกครั้งที่มีความน่าสนใจเพราะแฝงด้วยนัยทางการเมืองที่สำคัญ
“หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่ายิ่งลักษณ์พ้นสภาพจะต้องใช้มาตรา 7 โดยวุฒิสภาจะเสนอชื่อนายกฯ นำความกราบบังคมทูลฯ เพราะฉะนั้น ขออย่าได้บิดเบือนข้อเท็จจริงว่าการปฏิบัติตามมาตรา 7 เป็นการรบกวนเบื้องพระยุคลบาท ไม่มีเรื่องแบบนี้ เป็นเรื่ององค์กรตามรัฐธรรมนูญได้ทำหน้าที่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้” คำปราศรัยของเลขาธิการ กปปส.บนเวทีสวนลุมพินี
จากคำปราศรัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ากำนันสุเทพ กำลังเดินหมากสองตาสำคัญ
หมากตาแรก เริ่มจากการพยายามหาช่องกฎหมายเพื่อให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุที่ว่าไม่สามารถเปิดประชุมรัฐสภาได้ทันภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง
หมากตานี้ กปปส.ได้วางแนวทางการต่อสู้ไว้อย่างเป็นรูปธรรมแล้วภายหลัง ถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส.เตรียมยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาในวันนี้ ซึ่ง กปปส.จะชนะรัฐบาลด้วยหมากตานี้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ถ้าศาลเห็นว่าเรื่องนี้ไม่เข้าข่ายที่ศาลจะพิจารณาหรือรับไว้พิจารณาแต่วินิจฉัยว่ารัฐบาลยังทำหน้าที่ต่อไปได้ ก็เท่ากับว่า กปปส.ต้องใช้การต่อสู้ท้องถนนเพื่อปะฉะดะกับรัฐบาลต่อไปโดยที่ไม่รู้ว่าแสงสว่างแห่งชัยชนะจะมาเมื่อไหร่
แต่หากเป็นในทางตรงกันข้าม คือ ศาลรับไว้พิจารณาและวินิจฉัยในเวลาต่อมาว่าคณะรัฐมนตรีได้สิ้นสภาพไปเป็นที่เรียบร้อยนับตั้งแต่วันที่ไม่สามารถเปิดประชุมรัฐสภาได้ทันตามกฎหมาย จะเป็นผลให้ กกปส.เดินหมากตาต่อไปได้ทันที
หมากตาที่สอง หมากตานี้จะเป็นการต่อสู้กันในวุฒิสภาหลังจากรัฐบาลตกเก้าอี้
กปปส.ตั้งความหวังว่าเมื่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกคนในรัฐบาลพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว วุฒิสภาจะเข้ามาเป็นผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนกลาง เนื่องจากปัจจุบันไม่อาจมีสภาผู้แทนราษฎรมาทำหน้าที่เลือกนายกฯ ได้ ก็ย่อมต้องเป็นหน้าที่ของวุฒิสภาในฐานะองค์กรนิติบัญญัติที่เหลืออยู่ โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7
เพียงแต่หมากตานี้ไม่ได้เดินง่ายๆ อย่างที่ กปปส.คิด เพราะมีอุปสรรคสำคัญ คือ นิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา
กล่าวคือ หากในอนาคตจะเกิดการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยอำนาจของวุฒิสภาก็น่าจะดำเนินการได้ภายในแนวทางหนึ่งแนวทางใดดังนี้
1.ให้ประธานวุฒิสภา เป็นผู้เสนอชื่อเองเหมือนกับกรณีที่ อาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เสนอชื่อ อานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกฯ เมื่อปี 2535
2.ให้ประธานวุฒิสภาเปิดประชุมร่วมกันเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี อย่างน้อยเพื่อให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้มีส่วนเชื่อมโยงกับประชาชน แม้จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังมาจากการเลือกของที่ประชุมวุฒิสภา ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่เป็นตัวแทนของประชาชน
เรื่องนี้มีปัญหาอยู่ว่า ประธานวุฒิสภาจะยอมเล่นเกมนี้หรือไม่ ถ้าเล่นด้วย กปปส.ก็อาจจะพอใจในระดับหนึ่ง แม้จะมีความแคลงใจอยู่บ้างก็ตาม
แต่ถ้านิคมไม่เอาด้วยเท่ากับว่าปิดประตูของการมีนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7 ไปได้เลย
อย่าลืมว่าปัจจุบันนิคมถือเป็นประมุขสูงสุดของฝ่ายนิติบัญญัติในฐานะ “ประธานวุฒิสภาและรองประธานรัฐสภาที่ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา” ทำให้การเปิดประชุมวุฒิสภาอยู่ที่การตัดสินใจของนิคมเพียงคนเดียว
จึงเป็นคำตอบว่าทำไมเวลานี้ถึงได้ปรากฏความเคลื่อนไหวของกลุ่ม สว.สายสรรหา โดยเฉพาะกลุ่ม 40 สว.ที่แสดงท่าทีกดดันให้นิคมออกจากตำแหน่งประธานวุฒิสภาผ่านสื่อมวลชน
โดยยกเหตุผลว่าในเมื่อนิคมในฐานะ สว.ฉะเชิงเทรา ได้ดำรงตำแหน่งมาครบ 6 ปีแล้วจะสามารถทำหน้าที่ได้เพียงรักษาการ สว.ฉะเชิงเทรา เพียงตำแหน่งเดียวโดยไม่อาจทำหน้าที่ประธานวุฒิสภาต่อไปได้ แต่กระนั้นดูเหมือนการกดดันที่ผ่านมาก็ยังไม่สามารถสร้างความระคายเคืองให้นิคมได้เท่าไหร่
ดังนั้น การจะให้นิคมพ้นออกจากเส้นทางการตั้งนายกรัฐมนตรีมาตรา 7 จึงไปอยู่ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หมายความว่า ถ้า ป.ป.ช.มติชี้มูลความผิดนิคม ในคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ สว. จะเป็นผลให้ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวทันที และ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา จะขึ้นมาทำหน้าที่ประธานวุฒิสภาชั่วคราว
ตรงนี้เองเป็นโอกาสสำคัญที่ช่วยให้การตั้งนายกรัฐมนตรีมาตรา 7 มีความเป็นไปได้มากขึ้น เพราะสุรชัยนับเป็นคนที่สุเทพยกย่องระหว่างการชุมนุมมาตลอดว่าเป็นคนดีและจะเป็นคนทำหน้าที่เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีมาตรา 7 เหมือนกับ “ทวี แรงขำ” รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติในฐานะปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสภา ซึ่งเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2516 หลังจาก จอมพลถนอม กิตติขจร ลาออก
ที่สุดแล้ว กปปส.เองตั้งเป้ากระบวนการเหล่านี้จะแล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค.นี้ก่อนการเลือกตั้ง สว. เพราะหาก สว.เลือกตั้งชุดใหม่เข้าสภามาเมื่อไหร่ เกมการต่อสู้ของ กปปส.เพื่อปูทางสู่นายกรัฐมนตรีมาตรา 7 จะลำบากมากขึ้น เนื่องจาก สว.เลือกตั้งชุดใหม่จำนวนไม่น้อยเป็นคนของฝ่ายการเมือง
ทั้งหมดนี้กลายเป็นสถานการณ์บีบคั้นให้กำนันสุเทพต้องปิดเกมให้ได้ภายในเดือน มี.ค.