posttoday

ฉากทัศน์การปฏิรูปประเทศ

23 มีนาคม 2557

“ฉากทัศน์” มาจากคำว่า “Scenario” แปลว่า “ภาพจำลองเหตุการณ์”

“ฉากทัศน์” มาจากคำว่า “Scenario” แปลว่า “ภาพจำลองเหตุการณ์”

ความจริงคำว่า “ภาพจำลองเหตุการณ์” ก็ใช้เป็นคำแปลภาษาไทยของคำว่า Scenario มานานแล้ว แต่อาจจะมีหลายคนอยากย่อให้สั้นหรือเป็นคำที่ดูกระชับ อย่างคำว่า “ฉากทัศน์” นี้ผู้เขียนก็เพิ่งได้เห็นจากบทความของท่านอาจารย์ ดร.โคทม อารียา เมื่อสัก 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้คำว่า “ภาพจำลองเหตุการณ์” จะมีความชัดเจนอยู่ในตัวโดยไม่ต้องแปลอะไรให้มากความ แต่ผู้เขียนก็อยากจะใช้คำว่า “ฉากทัศน์” เพราะมันได้อารมณ์ของคำว่า Scenario ที่พวกสร้างหนังสร้างละครชอบเอามาใช้ เพื่อให้ตื่นเต้นและชวนติดตามว่า “อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป”

คนสร้างหนังสร้างละคร (ของไทยก็มีตั้งเป็นชื่อบริษัทที่มีเจ้าของชื่อคุณบอย ถกลเกียรติ วีรวรรณ นั่นไง) ใช้คำว่า Scenario ในความหมายที่จะอธิบายให้ผู้ชมเตรียมพบกับความตื่นตาตื่นใจ (คนเก่าๆ อาจจะนึกถึง “การออกแขก” ของลิเก ที่จะมีคนแต่งกายเป็นแขกออกมาเล่าเรื่องย่อในตอนเริ่มการแสดง หรือบางทีก็ออกมา “ต่อเรื่อง” คือบรรยายความเป็นฉากๆ แทรกไปตลอดการแสดงนั้น) แต่ว่าในหลายๆ ปีที่ผ่านมานี้ Scenario ได้ถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์เหตุการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ถึงขั้นเป็นหลักสูตรในมหาวิทยาลัย และมีการนำไปใช้ในวงการอื่นๆ แม้กระทั่งในทางโหราศาสตร์ ที่บางคนเรียกตัวเองว่า Scenario Master

ฉากทัศน์ศึกษา (Scenario Study) ที่มีการศึกษาในมหาวิทยาลัย จะเป็นการศึกษาในแนวสหวิทยาการ (Interdisciplinary) คือต้องอาศัยความรู้จากวิทยาการหลายๆ แขนงมา “พยากรณ์” หรือการมองอนาคต (ฉากต่อไป : อะไรจะเกิดขึ้น) เริ่มจากการศึกษาของกลุ่มนักวิชาการด้านการต่างประเทศที่วิเคราะห์สภาพความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในวิกฤตการณ์ทางการเมืองของนานาชาติ โดยมีพื้นฐานแนวคิดมาจากทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เรียกว่า Linkage Theory ที่ผู้เขียนขอแปลเป็นไทยว่า “ทฤษฎีสถานะและประโยชน์สัมพันธ์” เพราะในการเมืองระหว่างประเทศ การที่ประเทศต่างๆ จะมามีความสัมพันธ์ต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นมิตรหรือศัตรู ล้วนจะต้องพิจารณาผลประโยชน์ของแต่ละประเทศเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน โดยมุ่งหวังที่จะให้เกิดผลที่เป็น “ผลดีที่สุด” ต่อสถานะและอนาคตของแต่ละประเทศต่างๆ เหล่านั้น

ฉากทัศน์จึงเป็นเรื่องของ “ความรู้ร่วมด้วยความหวัง”

เพื่อให้เข้าเรื่องกับเรื่องที่ตั้งใจเขียนคือ “ฉากทัศน์การปฏิรูปประเทศ” จึงขอนำปรากฏการณ์สำคัญของการเมืองไทยที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ คือ “กระบวนการการปฏิรูปประเทศ” เฉพาะในส่วนที่ผู้เขียนเข้าไปเกี่ยวข้องในการทำงานของ กปปส. ในนามของกลุ่มนักวิชาการที่ชื่อ “สยามประชาภิวัฒน์” เพื่อจะได้อธิบายฉากทัศน์ ซึ่งก็คือ “สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป” สำหรับประเทศไทยทั้งในระยะใกล้และไกล เพื่อให้สังคมมี “ความรู้” และ “มีความหวัง” ร่วมกันว่า “สิ่งดีๆ กำลังจะเกิดขึ้นในเมืองไทย อะไร อย่างไร และเมื่อใด”

กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ได้ใช้กระบวนการทางวิชาการ 2 ส่วน เพื่อสร้างฉากทัศน์การปฏิรูปประเทศ กระบวนการแรกคือการ “วิเคราะห์” หรือการแยกให้เห็นรายละเอียดในปัญหาต่างๆ ในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ทั้งตัวสภาพปัญหา สาเหตุของปัญหา ผลกระทบและแนวโน้มของปัญหา จากนั้นก็ใช้การ “สังเคราะห์” หรือการประมวลรวมข้อมูลกับแนวคิดต่างๆ ให้ตกผลึกจนออกมาเป็น “ทางแก้” หรือกระบวนการที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ที่ได้วิเคราะห์ไว้นั้น ซึ่งในบทความนี้จะนำเสนอเฉพาะในส่วนที่เป็นทางแก้ ซึ่งจะอธิบายด้วย “ฉากทัศน์” ดังต่อไปนี้

ฉากที่ 1 ให้ภาพสมมติว่า “รัฐบาลและนายกฯ พ้นตำแหน่งไป” ทั้งที่ลาออกเองหรือออกไปเพราะถูกพิพากษาในคดีความต่างๆ ถ้าเหตุการณ์เป็นไปง่ายๆ อย่างนี้ การปฏิรูปประเทศก็ดำเนินไปได้โดยสะดวก โดยการกำกับประสานงานของ กปปส. ตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาล สภาประชาชน และองค์กรปฏิรูปประเทศ (ซึ่งองค์กรปฏิรูปประเทศนี้เป็นข้อเสนอของกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ที่จะมาปรับโครงสร้างการเมือง) แม้ว่าจะมีกลุ่มคนที่รักทักษิณออกมาต่อต้าน แต่คงไม่รุนแรง เพราะคนไทยผ่านประสบการณ์ความวุ่นวายนี้มานาน ขึ้นอยู่กับฝีมือของรัฐบาลใหม่ที่จะ “ประสานประโยชน์” และ “ประสานแผล” ให้สังคมลืมอดีตและลดความเมามัวในความขัดแย้ง

ฉากที่ 2 ให้ภาพสมมติว่า “รัฐบาลไม่ลาออก รอให้มีการเลือกตั้งจนสำเร็จ” ซึ่งก็มีความเป็นไปได้สูง แม้นายกฯ และรัฐมนตรีหลายคนอาจจะเจอคำพิพากษาทั้งของศาลและองค์กรอิสระอีกคนละหลายดอก ก็คงจะ “ด้านทน” อยู่ได้ไปเรื่อยๆ เพราะแม้จะมีการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 เป็นโมฆะ ก็สามารถจัดการเลือกตั้งใหม่ได้ และคงจะพยายามจัดตั้งรัฐบาลเพื่อมาปกป้องประโยชน์ของพวกคน “เลวๆ” เหล่านั้นต่อไปกปปส.คงจะต้องมีมาตรการ “ขั้นสุดท้าย” ใน 2 เรื่อง คือหนึ่ง ลงสู้ในการเลือกตั้งในรูปแบบ “สหพันธมิตร” ร่วมชูนโยบายไม่เอาระบอบทักษิณและขี้ข้า หรือสอง ระดมประชาชนขับไล่นักการเมืองในระบอบทักษิณออกนอกประเทศ คล้ายๆ กับที่อิหร่าน หรือใช้ “โคไมนี่โมเดล”

ฉากที่ 3 ให้ภาพสมมติว่า “มีตาอยู่หรือพระสยามเทวาธิราชมาแก้ปัญหา” ตาอยู่ในที่นี้ก็คือฝ่ายที่ 3 ซึ่งในสายตาคนทั้งหลายก็จะมองไปที่ “ทหาร” เพราะแม้ว่าทหารในยุคปัจจุบันจะไม่เป็นเอกภาพ ด้วยมีทั้ง “ทหารรับจ้าง” และทหารอาชีพ แต่ถ้ามีผลประโยชน์บางอย่างร่วมกัน ทหารที่อยู่ฝ่ายเหล่านั้นก็อาจจะมาร่วมกันเป็น “ผู้พิทักษ์ระบอบ” หรือเกิดปรากฏการณ์ “ตกกระไดพลอยโจน” เช่นเมื่อครั้งวันที่ 19 ก.ย. 2549 นั้นก็ได้ ทั้งนี้มีทั้งคนที่เชื่อว่า ทหารกระโจนเข้าไปเอง และทั้งที่เชื่อว่ามี “พระสยามฯ” ดลบันดาลใจ ซึ่งประเทศไทยก็มีกรณีของ “พระสยามฯ กู้ชาติ” นี้มาหลายครั้ง อย่างที่มีคำกล่าว “กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี”

ในความเชื่อส่วนตัวของผู้เขียนเห็นว่า “ฉากที่ 2” มีความเป็นไปได้มากที่สุด โดยเป็นไปในแนวของฉากย่อยที่ 1 ที่จะมีการต่อสู้ในการเลือกตั้งระหว่างคู่ขัดแย้งทั้งสอง ซึ่งอาจจะต้องมีการแก้ไขกติกาในการเลือกตั้งบางอย่างเสียก่อน โดยเฉพาะการเพิ่มบทบาทของภาคประชาชนในการควบคุมตรวจสอบการเลือกตั้ง เช่น การฟ้องคดีโกงเลือกตั้งได้เองของประชาชน รวมทั้งการทำสัญญาประชาคมและพิธีแช่งน้ำสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้ง และมีการเอาผิดแก่ผู้ชนะการเลือกตั้งที่ทำไม่ได้ตามนโยบายที่หาเสียงไว้ หรือที่ “ขี้โม้” หาเสียงเกินความจริงและหลอกลวงประชาชน

อนึ่ง ฉากทัศน์ศึกษาก็ยังเป็นแค่เรื่องของ “การจำลองเหตุการณ์” ที่มักจะมีเรื่องของ “จินตนาการ” หรือ “ความฝัน” ร่วมอยู่ด้วย จึงขึ้นอยู่กับว่าเราชอบ “ฝันดี” หรือ “ฝันร้าย”