อนุสรณ์แห่งความรักของรัชกาลที่ 5
เป็นที่ทราบกันดีว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทรงเป็นพระอัครมเหสีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เป็นที่ทราบกันดีว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทรงเป็นพระอัครมเหสีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนิทเสน่หาเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตด้วยอุบัติเหตุเรือล่ม ณ ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี พร้อมด้วยสมเด็จพระราชธิดาพระองค์หนึ่ง ในตอนเช้าตรู่ของวันจันทร์ แรม 8 ค่ำ เดือน 7 ปีมะโรง จุลศักราช 1242 ตรงกับวันที่ 31 พ.ค. 2423 ดังปรากฏในบันทึกจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ความว่า ณ เวลาสองโมงเช้า ของวันที่ 31 พ.ค. สมเด็จพุทธเจ้าหลวงทรงมีหมายกำหนดการจะเสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยบรรดา พระมเหสีและพระบรมวงศานุวงศ์ ไปยังพระราชวังบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา การเสด็จฯ ในครั้งนั้นทรงจัดเรือเก๋งที่ประทับสำหรับพระมเหสีและเจ้านายผู้ใหญ่พระองค์ละหนึ่งลำ โดยใช้เรือไฟลากจูงนำหน้า แล้วพ่วงท้ายด้วยเรือเสบียงบรรทุกอาหาร ลักษณะการเดินเรือเป็นรูปแบบเรียงแถวหน้ากระดาน
เมื่อเรือของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ เกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำลงกลางแม่น้ำเจ้าพระยาอันเชี่ยวกราก แม้พระองค์จะทรงว่ายน้ำแข็ง เมื่อไม่มีผู้ใดกล้าเข้าไปช่วยเหลือด้วยเกรงกลัวกฎมณเฑียรบาล ห้ามมิให้บุคคลใด แตะเนื้อต้องตัวพระมเหสี หากฝ่าฝืนโทษถึงตายสถานเดียว พระองค์จึงเสด็จสวรรคตพร้อมพระราชธิดาพระองค์หนึ่งคือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขกฎมณเฑียรบาลดังกล่าวในเวลาต่อมา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชหัตถเลขา ตรัสเล่าเหตุการณ์อันวิปโยคนี้ พระราชทานแก่พระยาเทพประชุน (พุ่ม ศรีไชยยันต์) ความตอนหนึ่งว่า
“เรื่องเรือล่มนั้นนึกจะบอกให้พระยาเทพ ประชุนทราบแต่แรก แต่ไม่มีแรงจะบอก ทีหลังมาก็มีการมากเสียจนไม่มีเวลาจะเขียน พระยาเทพประชุนก็ทราบอยู่แล้ว เรือโสรวารซึ่งนายอ่ำไปแล่นริมฝั่งตะวันออก เรือกรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูรแล่นริมฝั่งตะวันตก เรือปานมารุตซึ่งลากเรือสุนันทาแล่นไปทีหลัง ได้ขึ้นไปในระหว่างกลางระยะห่างๆ กัน ฝั่งตะวันออกว่าน้ำตื้น พอเรือปานมารุตแล่นขึ้นไปเกือบจะเสมอเรือโสรวาร เรือโสรวารเบนหัวเรือมาข้างตะวันตก เรือปานมรุตก็เบนหัวเรือหนีไปข้างตะวันตกบ้าง แต่เรือที่สุนันทาไป คนถือท้ายกลับคัดท้ายเฉหัวเรือไปตะวันออกทวนคลื่นเข้าอยู่ในระหว่างเรือไฟทั้งสองลำ จนเชือกถอนหลักแจวที่ผูกเรือโสรวารก็ไม่หยุด แล่นมาจนหัวเรือปิกนิกและเรือโสรวารโดนกัน เรือก็แอบเข้าข้างกัน คนที่อยู่บนดาดฟ้าโสรวารจับเพดานเรือผลักดันออกมา เรือเพียบเปลี้ยอยู่แล้วก็คว่ำกันลอยลงไปห่างเรือโสรวารลิบ เพราะนายอ่ำยังเรียกเรือสำปั้นที่จะลงไปช่วย แต่บ่าวที่ลงเรือครัว (เสบียง) กระโดดลงน้ำไปช่วยก่อนคนหนึ่ง เรือนั้นไม่ได้พลิกขึ้นเลยจนรับคนที่ว่ายน้ำขึ้นหมดแล้ว และบ่าวไปงมเอาศพเจ้าขึ้นมาได้แล้วจึงได้พลิกเรือ
...ในเวลานั้นเราไปถึงกลางทาง จมื่นทิพเสนาลงเรือไฟกลับมาบอกเมื่อไปพ้นปากเกร็ดหน่อยว่าเรือล่ม เราถามว่าใครเป็นอันตรายอย่างไรบ้าง บอกแต่ว่าลูกตายคนเดียว นอกนั้นดีหมด ครั้น ไปถึงบางพูดคิดว่าลูกเล็กนักคงจะตายแล้วก็ไม่รีบร้อนเข้าไปดู รอไล่เลียงความอยู่ประมาณ 15 นิมิต นายอ่ำแจ้งความว่าตายแต่ลูกคนเดียว ตัวเองได้โดดน้ำลงไปรับขึ้นมาก็หมายว่าเป็นจริงทั้งนั้น ต่อเมื่อเทวัญ (พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงษ์) ขึ้นไป เห็นจึงได้ลงมาบอกว่าหญิงใหญ่ (พระนางเจ้า สุนันทาฯ) ก็เต็มทีเหมือนกัน รีบขึ้นไปแก้ไขอยู่ถึงสามชั่วโมง แต่เปล่าแก้ไขคนตายแล้วทั้งนั้น ตายเสียแต่เมื่อเอาขึ้นมาจากน้ำแล้วจนเขาไม่แก้ไข กันแล้ว การเป็นดังนี้เพราะไว้ใจคนผิด เข้าใจว่าบุญคุณคงจะลบล้างความริษยาเกลียดชังกันได้ แต่กาลกลับเป็นอย่างอื่นก็เป็นอันจนใจอยู่ เราไม่ว่าเป็นการแกล้งฆ่า ที่คิดไว้ว่าจะฆ่าด้วยอย่างนี้แล้วสมประสงค์เห็นว่าเป็นเหตุที่เผอิญจะเกิดขึ้นให้เป็นช่องที่จะให้อคติเดินได้สะดวกตามประสงค์
...หญิงใหญ่นั้นเป็นคนว่ายน้ำแข็ง แจวเรือพายเรือได้แข็ง ที่ตายครั้งนี้เห็นจะเป็นเพราะห่วงลูก เพราะพี่เลี้ยงของลูกว่ายน้ำไม่เป็น คนที่อยู่ในเก๋งเรือถึง 67 คนด้วยกัน นอกนั้นรอดหมด ตายแต่พี่เลี้ยงของลูกที่ว่ายน้ำไม่เป็นคนหนึ่งกับแม่ลูกเท่านั้น เก๋งเรือนั้นปิดฝาเกล็ดแลเอาม่านลงข้างตะวันออกตลอดเพราะแดดร้อน ข้างแถบตะวันตกเปิดฝาเกล็ดอยู่สองช่อง ช่องนั้นเฉพาะพอตัวลอดออกมาได้ เมื่อได้หญิงใหญ่นั้น ได้ที่ช่องหน้าต่างนั้น จะว่าเพราะติดท้อง (ขณะทรงพระครรภ์) ก็จะไม่ติด กลัวว่าจะพาลูกออกมาด้วยแต่สิ้นกำลังออกมาไม่ได้จึงได้ค้างอยู่ การซึ่งเป็นครั้งนี้ทำให้ได้ทุกข์โทมนัสเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งไม่ได้เคยพบเลยตั้งแต่เกิดมา”
ความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ที่กระทบกระเทือนพระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว อย่างรุนแรงนี้ พระองค์ทรงมีพระราชหัตถเลขาไปยังเจ้าพระยาภาณุวงษ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ความตอนหนึ่งว่า
“การซึ่งเป็นครั้งนี้เพราะฉันเชื่อผิดคิดผิด มีความโทมนัสเสียใจยิ่งนักแทบจะถึงกับชีวิต จึงได้จดหมายถึงเธอช้าไป แต่เห็นว่าชีวิตฉันในเวลานั้น ถ้าจะให้ตายไม่สู้ยากนัก จะบอกอะไรอีกไม่ได้แล้ว ไม่มีเสียงจะพูด”
ด้วยความรักความอาลัยในสมเด็จพระอัครมเหสี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อเป็นที่ระลึกถึงไว้ ในสถานที่ทั้งสองพระองค์โปรด และเคยเสด็จ ประพาสด้วยกัน เช่น พระราชวังบางปะอิน น้ำตกพลิ้วที่ จ.จันทบุรี พระราชอุทยานสราญรมย์ที่กรุงเทพฯ สุสานหลวงที่วัดราชบพิธ และที่ ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
โดยพระราชานุสาวรีย์แต่ละแห่งดังที่กล่าวมา ล้วนเป็นที่ประจักษ์พยานถึงความรักความอาลัยจากส่วนลึกในพระราชหฤทัยของพระองค์ คำ จารึกที่ทรงเรียงร้อย ทุกตัวอักษรล้วนมีความหมายบ่งบอกถึงความรักและความผูกพันของทั้งสองพระองค์ ซึ่งยากที่จะลืมเลือนไปจากความทรงจำ ทุกถ้อยคำล้วนเป็นที่ซาบซึ้งจับใจแก่ผู้อ่านยิ่งนัก ดังเช่น พระราชานุสาวรีย์ที่ประดิษฐาน ณ พระราชวังบางปะอิน สร้างขึ้นด้วยหินอ่อนสีขาวเป็นรูปทรงสามเหลี่ยม ภายในบรรจุพระอังคารของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ ซึ่งครั้งหนึ่งทั้งสองพระองค์ได้เคยเสด็จฯ มาประทับอยู่ด้วยกัน ณ ที่นี้อย่างมีความสุข ดังมีข้อความจารึกปรากฏดังนี้
ที่รฤกถึงความรัก แห่ง สมเดจพระนางเจ้า สุนันทากุมารีรตน์ พระบรมราชเทวี อรรคมเหษี อันเสดจทิวงคตแล้ว ซึ่งเธอเคยมาอยู่ในสวนนี้โดยความศุขสบายแลเปนที่เบิกบานใจพร้อมด้วยผู้ซึ่งเปนที่รัก แลที่สนิทอย่างยิ่งของเธอ อนุสาวรีนี้สร้างขึ้นโดยจุฬาลงกรณ์บรมราช ผู้เปนสวามีอันได้รับความเศร้าโศกเพราะความทุกข์อันแรงกล้าในเวลานั้น แทบจะถึงแก่ชีวิตร์ ถึงกระนั้นยังมิได้หักหาย จุลศักราช 1243
นอกจากนี้ยังมีพระราชานุสาวรีย์อีกแห่งหนึ่งภายในบริเวณน้ำตกพลิ้ว จ.จันทบุรี เนื่องจาก น้ำตกแห่งนี้เป็นที่โปรดปรานของทั้งสองพระองค์เพราะเคยเสด็จมาประพาสจันทบุรีหลายคราวและทุกครั้งที่เสด็จฯ มาถึงก็มักทรงแวะไปที่ น้ำตกพลิ้วเสมอ ดังหลักฐานที่ปรากฏ เช่น ในปี 2417 และ 2419 การเสด็จประพาสน้ำตกพลิ้วในครั้งนั้น ได้ประทับเรือยนต์พระที่นั่งจากตัวเมืองจันทบุรี เสด็จฯ ไปขึ้นท่าเรือที่วัดคลองยายดำ แล้วเสด็จฯ ไปประทับ ณ พลับพลา ซึ่งห่างจากตัววัดเพียงเล็กน้อย ชาวบ้านเรียกว่า “ศาลาหลวง” มีข้าราชการและชาวบ้านทำพิธีต้อนรับอย่างเอิกเกริกและสมพระเกียรติยิ่ง จากนั้นทั้งสองพระองค์ขึ้นประทับบนพระเสลี่ยงเสด็จฯ ถึงน้ำตกพลิ้ว ซึ่งเป็นที่พอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงกับทรงมีพระดำรัสว่า
“เราได้เห็นน้ำตกอย่างนี้มาสองแห่งสามแห่งแล้ว คือ ปีนัง เกาะช้าง และศรีพญา เห็นไม่มีที่ไหนจะงามกว่าที่นี่เลย ถ้าจะให้เรานั่งดูอยู่ยังค่ำก็แทบจะได้ ด้วยเย็นสบายจริงๆ”
ภายหลังเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ ได้เสด็จสวรรคตแล้วในปี 2423 อีกหนึ่งปีต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์แห่งความรัก เป็นรูปพีระมิดประดิษฐานเคียงคู่กับอลังกรณ์เจดีย์ภายในบริเวณน้ำตกพลิ้ว เพื่อทรงอาลัยรำลึกถึงสมเด็จพระอัครมเหสี ภายในพระราชานุสาวรีย์ได้บรรจุพระอังคารส่วนหนึ่งไว้ด้วย และโปรดให้ จารึกถ้อยคำดังนี้
ที่รฤกถึงความรักแห่งสมเด็จพระนางเจ้า สุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีอรรคมเหษี ซึ่งเสด็จทิวงคตแล้ว ด้วยเธอได้มาถึงที่นี่เมื่อจุลศักราช 1236 โดยความยินดีชอบใจมากอนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้นโดยจุฬาลงกรณ์บรมราช ผู้เปนพระราชสวามีอันมีความทุกข์เพราะเธอ เป็นอย่างยิ่งในจุลศักราช 1243
อนุสาวรีย์แห่งความรักอีกสถานที่หนึ่งที่โปรดให้สร้างขึ้น ณ พระราชอุทยานสราญรมย์ หรือที่เรียกว่า “สวนหลวง” ในสมัยนั้นมีลักษณะเป็นรูปปราสาทห้ายอด สร้างด้วยหินอ่อนสีขาว ด้านหนึ่งทรงจารึกเป็นอักษรไทย อีกด้านหนึ่งภาษาอังกฤษ ส่วนอีกสองด้านโปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ทรงจารึกคำฉันท์กล่าวถึงพระประวัติของสมเด็จพระอัครมเหสี และพระราชธิดาที่ล่วงลับไป และพระราชานุสาวรีย์แห่งนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหา วชิรุณหิศฯ เสด็จฯ เป็นองค์ประธานทรงเปิดพระราชาอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 27 และ 28 มิ.ย. 2426