posttoday

วัวควายซูบผอมขาดอาหาร-แหล่งน้ำ

01 เมษายน 2557

บุรีรัมย์-เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวควายครวญสัตว์เลี้ยงซูบผอมแหล่งอาหารและน้ำขาดแคลนหนัก

บุรีรัมย์-เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวควายครวญสัตว์เลี้ยงซูบผอมแหล่งอาหารและน้ำขาดแคลนหนัก

เมื่อวันที่ 1 เม.ย.สถานการณ์ภัยแล้งยังคุกคามอย่างต่อเนื่องซ้ำเกษตรกรยังจุดไฟเผาตอซังในหลายพื้นที่อีกด้วย ทำให้ส่งกระทบกับวัวควายของเกษตรกรบ้านหนองไผ่น้อย  ต.ชุมเห็ด  อ.เมือง  จ.บุรีรัมย์ ที่มีอาชีพเลี้ยงวัวควายกว่า 30 หลังคาเรือน เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำและอาหารแล้ว โดยเฉพาะหญ้าสดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติก็มีสภาพเหี่ยวแห้งตาย ส่วนแหล่งน้ำตามธรรมชาติก็เหือดแห้งเหลือเพียงสภาพพื้นดินที่แตกระแหง ทำให้เกษตรกรต้องจูงวัวควายออกไปหาแทะเล็มตอซังข้าว หรือหญ้าแห้งที่ยังหลงเหลืออยู่ตามทุ่งนา และแหล่งน้ำที่อยู่ห่างจากหมู่บ้าน 3 - 4 กิโลเมตร

ส่วนบางรายที่เลี้ยงวัวควายปริมาณมากก็ต้องลงทุนควักเงินในกระเป๋าซื้อฟางฟ่อน  กักตุนไว้ให้วัวควายกินในช่วงหน้าแล้งนี้  เพราะเกรงว่าหากในเดือนเม.ย.นี้จะประสบปัญหาแล้งอย่างหนัก ขณะที่หลายรายก็ตัดสินใจขายทิ้งแม้จะได้ราคาถูกก็ตามปัจจุบันเหลือชาวบ้านที่ยังเลี้ยงอยู่ไม่ถึง 10 ราย หลังต้องประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซากต่อเนื่องมาหลายปีแต่หากยังฝืนเลี้ยงต่อไปก็เกรงจะทำให้ขาดทุน
 
นายไชยา  สินปรุ  เกษตรกรบ้านหนองไผ่น้อย  ต.ชุมเห็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์  ซึ่งเลี้ยงวัวอยู่เกือบ 100 ตัว  กล่าวว่า ในช่วงนี้ต้องประสบปัญหาเดือดร้อนเนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำและสถานที่เลี้ยงวัวควายในหมู่บ้านเลย แต่ละวันจะต้องจูงวัวควายออกไปกินหญ้าแห้งตามทุ่งนาซึ่งอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้าน3 - 4 กิโลเมตร  แต่ก็คาดว่าในเดือนเม.ย.นี้ จะประสบปัญหาแห้งแล้งมากกว่านี้จึงยอมลงทุนซื้อฟางฟ่อนกักตุนไว้ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงนี้  ยังส่งผลให้วัว ควายกินอาหารน้อยลง บางตัวมีสภาพซูบผอมไม่สมบูรณ์ทำให้ขายไม่ได้ราคาอีกด้วย

ด้านนายพจน์ภิรัตน์ เนียมจุ้ย ปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์  กล่าวว่า หากเกษตรกรรายใดประสบปัญหาขาดแคลนหญ้าฟางที่เป็นอาหารโค-กระบือให้ติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่เกษตรกรอำเภอ เกษตรจังหวัดศูนย์เสบียงสัตว์ที่อ.สตึก หรือสถานีพัฒนาอาหารสัตว์ที่อ.ปะคำได้เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้นำฟางอัดฟ่อนที่เตรียมสำรองไว้ในปีนี้กว่า 20 ตัน ไปแจกจ่ายให้กับเกษตรกรเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนต่อไป แต่หากไม่เพียงพอก็จะขอสนับสนุนฟางจากกรมปศุสัตว์หรือสถานีพัฒนาอาหารสัตว์จังหวัดใกล้เคียงเพื่อมาแจกจ่ายให้กับเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างเพียงพอ ซึ่งจากข้อมูลพบว่าปัจจุบันจ.บุรีรัมย์ มีโคอยู่ประมาณ 150,000 ตัวและกระบืออีกกว่า 60,000 ตัว พร้อมกันนี้ยังได้ขอให้เกษตรกรหยุดเผาตอซังข้าวหลังเก็บเกี่ยวให้เก็บสำรองไว้เป็นอาหารสัตว์ ทั้งการเผาตอซังข้าวอาจจะลุกลามไหม้ป่าหรือหญ้าที่สามารถเกี่ยวมาเก็บสำรองไว้เป็นอาหารของโค-กระบือได้ หากเกิดวิกฤตขาดแคลนอาหารสัตว์เพราะคาดการณ์ว่าปีนี้สถานการณ์ภัยแล้งจะรุนแรงและยาวนานกว่าทุกปี