"ศรีศักร"วิพากษ์เดือด!สงกรานต์มั่ว
มองเทศกาลสงกรานต์ผ่านสายตานักประวัติศาสตร์ "ศรีศักร วัลลิโภดม" ในยุคที่สังคมเผชิญวิกฤตศีลธรรม
มองเทศกาลสงกรานต์ผ่านสายตานักประวัติศาสตร์ "ศรีศักร วัลลิโภดม" ในยุคที่สังคมเผชิญวิกฤตศีลธรรม
"สงกรานต์คือเทศกาลที่เห็นแต่สัตว์เดรัจฉานวิ่งพล่านไปตามท้องถนน"
ประโยคอันเจ็บแสบประโยคนี้ รศ.ดร.ศรีศักร วัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์ เคยกล่าวไว้ในการให้สัมภาษณ์นิตยสารฉบับหนึ่ง เมื่อสิบปีที่แล้ว
วันนี้ พ.ศ. 2557 สิบปีผ่านไป อาจารย์ศรีศักรยังยืนยันคำเดิม
"ก็กินเหล้าเมา แล้วก็เต้นกันบ้าๆบอๆ สาดน้ำกันสกปรกแบบนั้น มันใช่คนซะเมื่อไหร่"
วันสงกรานต์ ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี ถือว่าเป็น "วันขึ้นปีใหม่" ตามธรรมเนียมไทย คำว่า "สงกรานต์" มาจากภาษาสันสกฤต หมายถึง การเคลื่อนย้ายของดวงอาทิตย์จากราศีหนึ่งเข้าไปอีกราศีหนึ่ง เหตุการณ์เช่นนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทุก ๆ เดือน แต่ในช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนย้ายจากราศีมีน เพื่อเข้าสู่ราศีเมษนั้น จะมีชื่อเรียกช่วงเวลาดังกล่าวว่า "มหาสงกรานต์" เนื่องจากเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามคติพราหมณ์ แต่เราจะเรียกกันเพียงสั้น ๆ ว่า "สงกรานต์" เท่านั้น และเมื่อนับทางสุริยคติ "วันสงกรานต์" จะอยู่ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายนของทุก ๆ ปี
วันมหาสงกรานต์ หมายถึง การก้าวขึ้นหรือย่างขึ้นครั้งใหม่ หรือที่เรียกว่า "ปีใหม่" และได้มีการกำหนดให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปี เป็น "วันมหาสงกรานต์"
วันเนา หมายถึง วันที่ดวงอาทิตย์เข้ามาอยู่ในราศีเมษ ซึ่งถือว่าเป็นการตั้งต้นปีใหม่ หรือ เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ได้เข้าประจำที่แล้ว โดยมีการกำหนดให้วันที่ 14 เมษายนของทุกปี เป็น "วันเนา"
วันเถลิงศก หมายถึง วันขึ้นศก ซึ่งเป็นวันที่มีการเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ โดยวันขึ้นศกใหม่นั้น ได้กำหนดให้เป็นวันที่ 3 ถัดจากวันมหาสงกรานต์ ก็เพื่อให้หมดปัญหาว่าการก้าวขึ้นต้นปีนั้นเรียบร้อยดีไม่มีปัญหา
"แรกเริ่มเดิมที เทศกาลสงกรานต์คืองานบุญ ปนไปด้วยความสนุกสนานเฮฮา แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ มันกลายเป็นสงครามน้ำ ฝรั่งเรียก water festival ไปสาดน้ำกันอย่างบ้าคลั่งบนถนน ในอดีตสงกรานต์เกิดขึ้นที่วัด เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากปีเก่าสู่ปีใหม่ ทุกคนก็ไปชุมนุมกันที่วัด ทำบุญ สรงน้ำพระสงฆ์ พระพุทธรูป แล้วค่อยเอาน้ำนั้นมารดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ พอเสร็จแล้วไอ้พวกอายุไล่เลี่ยกันก็มาเล่นสาดน้ำประแป้งกัน มันมีกาลเทศะอย่างเด่นชัดว่าเวลาไหนเป็นงานบุญ เวลาไหนที่สนุกสนานรื่นเริง"
อาจารย์ศรีศักร กล่าวต่อว่า วันมหาสงกรานต์ (13เม.ย.) ถือเป็นการสิ้นสุดปีเก่าเข้าสู่ปีใหม่ ต่อมาคือวันเนา (14เม.ย.) คนโบราณนิยมอยู่เฉยๆกับบ้าน ทำจิตใจให้สบาย เข้าวัดเข้าวา ไหว้พระสวดมนต์ บ้างก็ทำความสะอาดศาลพระภูมิ ห้องพระ พอวันเฉลิมศก (15 เม.ย.) ก็ค่อยสนุกสนานเฮฮา มีการละเล่น มีเทศกาลรื่นเริง
"สงกรานต์จริงๆมันมีแค่ 3 วัน นี่เล่นกัน 7 วัน มั่วไปหมด ที่เป็นแบบนี้ เพราะมันไม่มีวัด ไม่มีชุมชน ไอ้ถนนข้าวทั้งหลาย ข้าวสาร ข้าวเหนียว ข้าวจี่ ข้าวเปลือก กลายเป็นแหล่งสงกรานต์ เปิดเพลงเสียงดัง ส่ายอกส่ายเอว บ้าบอคอแตก"
นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า 'สงกรานต์ม็อบ สงกรานต์มั่ว สงกรานต์ถ่อย'
“ช่วง 7 วันอันตราย เอาจริงๆแล้วช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน เขาไม่พูดถึงสิ่งอัปมงคลกันนะ ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไม่รู้ รัฐบาลมาตั้งโต๊ะแถลงคาดคะเนนับศพเลยว่าปีนี้คนจะตายกี่คน ข่าวก็รายงานแต่อุบัติเหตุสงกรานต์ จะอยากรู้ไปทำไม ว่าใครประสบอุบัติเหตุ ช่วงเปลี่ยนผ่าน ให้เอาทุกข์โศกหายไป เอาสิ่งดีๆคืนมา ทำบุญทำทาน ขานรับสิ่งที่เป็นมงคล เขาไม่มาทำบ้าๆบอๆอย่างนี้หรอก แต่ช่วงสงกรานต์เดี๋ยวนี้ ถนนยิ่งกว่านรก อันตรายมาก ผมไม่กล้าออกจากบ้านเลยนะ"
ทั้งนี้ทั้งนั้น รศ.ดร.ศรีศักร วัลลิโภดม ฝากไว้ด้วยความห่วงใยว่าต้องเร่งฟื้นฟูสิ่งที่เป็นศาสนา ศีลธรรมกลับมา
"อย่ามาพูดถึงเรื่องความตาย เรื่องอัปมงคลเลย อยู่กับบ้าน ไม่ต้องออกไปเที่ยวสาดน้ำ แต่ไปทำบุญ ฟื้นฟูสิ่งที่เป็นศาสนา ศีลธรรมอันดีงามกลับมาดีกว่า บ้านเมืองกำลังวิบัติขนาดนี้ สังคมไทยกำลังวิกฤตในเรื่องศีลธรรม วิกฤตความเป็นมนุษย์ มันถึงฆ่ากันตายแหลก
คุณธรรมที่ขาดมากๆในคนรุ่นนี้คือกตัญญูกตเวที สมัยก่อน สงกรานต์ ต้องไปไหว้ทำบุญกระดูกบรรพบุรุษ รดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ ล้างเท้าบิดามารดา แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มี เพราะรับอิทธิพลจากตะวันตกเต็มที่เลย ผมยังสงสัยว่าสงกรานต์ที วัยรุ่นมันพากันไปย้อมหัวทอง จะทำไปทำไมวะ"