posttoday

"ศาลทหาร"รวมศูนย์ปราบใต้ดิน

27 พฤษภาคม 2557

“ศาลทหาร” เป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจขึ้นมาทันที หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกประกาศฉบับที่ 37/2557

โดย...ทีมข่าวการเมือง

"ศาลทหาร"กลายเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจขึ้นมาทันที หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกประกาศฉบับที่37/2557 เรื่องความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ซึ่งตามประกาศกำหนดให้คดีที่มีความผิด 3 ประการมาอยู่ในอำนาจการพิจารณาคดีของศาลทหาร ประกอบด้วย

1.ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตั้งแต่มาตรา 107 ถึงมาตรา112 ของประมวลกฎหมายอาญา

2.ความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรตั้งแต่มาตรา 113ถึงมาตรา118 ยกเว้นซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรพ.ศ.2551 หรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ.2548

3.ความผิดตามประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

สำหรับศาลทหารเป็นศาลที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารพ.ศ2498 ตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยให้เป็นหน่วยงานสังกัดในกระทรวงกลาโหม

ศาลทหารจะแบ่งออกมาเป็น 3 ชั้น ได้แก่ ศาลทหารชั้นต้น ศาลทหารกลาง และ ศาลทหารสูงสุด โดยมีอำนาจพิจารณาพิพากษาวางบทลงโทษผู้กระทำผิดต่อกฎหมายทหารหรือกฎหมายอื่นในทางอาญา

ถ้าเป็นในสถานการณ์ปกติบุคคลที่อยู่ในขอบเขตที่ศาลทหารสามารถไต่สวนได้ คือ บุคคลที่อยู่ในสังกัดของหน่วยงานราชการทหารและเชลยศึก แต่ถ้าในช่วงสถานการณ์ไม่ปกติ อย่างกรณีสงครามหรือการใช้ประกาศกฎอัยการศึก มาตรา 36 ของกฎหมายศาลทหารกำหนดให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาตามประกาศของผู้มีอำนาจตามกฎหมายอัยการศึกได้ นอกจากนี้ศาลทหารยังมีอำนาจควบคุมตัวได้ไม่เกิน 90 วัน

ทั้งนี้ ในสถานการณ์ปกติภายหลังศาลทหารได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งออกมา โจทก์หรือจำเลยสามารถอุทธรณ์หรือฎีกาได้ภายใน 15 วัน แต่หากเป็นสถานการณ์ไม่ปกติกฎหมายศาลทหารมาตรา 61 กำหนดห้ามไม่ให้มีการอุทธรณ์หรือฎีกา

ขณะที่ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นมีประเด็นของศาลทหารที่น่าสนใจ คือ ประกาศคสช.ฉบับที่ 38/2557 เรื่อง คดีที่ประกอบด้วยด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ซึ่งมีสาระสำคัญว่า “บรรดาความผิดที่ในอำนาจศาลทหารพิจารณาพิพากษาตามคำสั่งของคสช.ฉบับที่ 37/2557 และคำสั่งของคสช.ฉบับอื่น ถ้าคดีใดประกอบด้วย การกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกัน แม้แต่ละอย่างจะเป็นความผิดได้ในตัวเองและไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารก็ให้อยู่ในอำนาจศาลทหารที่จะพิจารณาพิพากษาด้วย”

จากสาระสำคัญของประกาศคสช.ดังกล่าวทำให้มองได้ว่าเป็นการพยายามจะรวมศูนย์อำนาจเกี่ยวกับการพิจารณาคดีความมั่นคงให้มาอยู่กับทหารโดยสมบูรณ์ เนื่องจากอาจมีผู้กระทำความผิดในคดีความมั่นคงได้ทำผิดในข้อหาอื่นๆตามมาด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่สร้างสถานการณ์ความไม่สงบอาจมีอาวุธปืนไว้ครอบครอง ซึ่งการครอบครองอาวุธปืนโดยไม่ถูกต้อง จะต้องมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490ด้วย หรือกรณีที่บุคคลฝ่าฝืนคำสั่งต่างๆของคสช.ก็อาจมีการกระทำที่มีลักษณะดูหมิ่นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136 เป็นต้น ซึ่งความผิดตามกฎหมายดังกล่าวตามปกติแล้วศาลทหารจะไม่มีอำนาจการพิจารณา ดังนั้น เมื่อคสช.ได้มีประกาศฉบับที่ 38/2557 ออกมา ย่อมมีผลให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีได้อย่างเต็มที่

พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ อดีตสว.สรรหา และ อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้ทัศนะถึงการให้ศาลทหารมาพิจารณาคดีความมั่นคงของคสช.ว่า เป็นการใช้กฎหมายในลักษณะป้องปรามและต้องการให้บุคคลให้ความร่วมมือกับคสช.มากกว่า จึงไม่มีคิดว่าประกาศของคสช.ในครั้งนี้จะเป็นไปเพื่อทำร้ายใคร เพราะเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ใช้กฎหมายเพื่อให้ประเทศเกิดความสงบเพื่อนำไปสู่การสร้างเสถียรภาพในระยะยาว

“เมื่อมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกก็มีความจำเป็นที่ต้องมีมาตรการในทางปฎิบัติเพื่อให้ทุกคนอยู่ในกรอบของกฎหมายเพื่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ เรียกได้ว่าเป็นมาตรการป้องปราม โดยไม่คิดว่าจะมีเจตนาใช้กฎหมายทำร้ายบุคคลใด แต่หากใครที่เข้าข่ายกระทำความผิดก็ต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย” พล.อ.อ.วีรวิท กล่าว

ขณะที่ในมุมมองของนักวิชาการกลับเห็นว่าการใช้ศาลทหารเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน โดย ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ศาลทหารได้รับการออกแบบโดยจารีตการปกครอง โดยรูปแบบศาลในเมืองไทย ถูกแบ่งออกเป็น 3 ศาลคือ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร โดยหลักการสำคัญของศาลทหารคือไม่ดำเนินคดีพลเรือน และบุคคลทั่วไป สามารถดำเนินคดีได้เฉพาะทหารเท่านั้น

ส่วนกระบวนการพิจารณาคดีนั้น ทศพลบอกว่า ศาลทหารมีตำแหน่งเช่นเดียวกับกระบวนการยุติธรรมปกติ โดยมีทั้ง อัยการ ทนาย และ ผู้พิพากษา ต่างกันตรงที่ผู้ทำหน้าที่ทั้งหมดเป็นทหาร โดยตามกระบวนการพิจารณาปกติ ผู้พิพากษาทหารจะมียศสูงกว่าโจทก์และจำเลย นอกจากนี้ ศาลทหารมีการพิจารณา 3 ลำดับ คือศาลชั้นต้น ศาลชั้นกลาง และศาลสูงสุด ส่วนกฎหมายที่ใช้นั้นจะใช้กฎหมายอาญาในการพิจารณาคดี ไม่สามารถเพิ่มโทษได้ ซึ่งโทษตามประกาศคสช.ที่ให้อำนาจศาลทหารพิจารณาคดีเพิ่มเติม ส่วนใหญ่เป็นหมวดความมั่นคง ซึ่งมีโทษหนักอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ทศพลบอกว่า หลักสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง คือ ในการพิจารณาคดีตามปกติ ทั้งสองฝ่าย จะต้องมีความเท่าเทียมกัน ไม่มีใครเหนือกว่าใคร แต่การให้ขึ้นศาลทหาร อาจมีปัญหา เนื่องจากการควบคุมตัว การพิจารณาคดี มีการปิดเป็นความลับ รวมถึงสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว ก็ยังอยู่ในสถานะคลุมเครือว่าสามารถทำได้หรือไม่ และแม้จะขอใช้ทนายภายนอกแทนทหารพระธรรมนูญได้ ก็มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ผู้บริหารสูงสุดของประเทศเป็นทหาร

“ที่น่ากังวลคือหลักการให้พลเรือนขึ้นศาลทหารนั้น ขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 4  ซึ่งสามารถเลี่ยงพันธกรณีนี้เฉพาะในภาวะฉุกเฉินสาธารณะซึ่งคุกคามความอยู่รอดของชาติ และทำตามความฉุกเฉินของสถานการณ์ แต่ขณะนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีข้อบ่งชี้ว่าเกิดความไม่สงบ หรือเกิดสงคราม ทำให้ต้องประกาศกฎอัยการศึก เพราะสถานการณ์ขณะนี้คือการประกาศกฎอัยการศึก อันเป็นผลพวงจากการรัฐประหารเท่านั้น” ทศพลระบุ

ทศพล ยังระบุอีกว่า  กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ยังระบุอีกด้วยว่า การประกาศกฎอัยการศึก จำเป็นต้องมีระยะเวลากำหนดชัดเจนว่า ประกาศใช้ถึงเมื่อใด ซึ่งหลักปฏิบัติที่ผ่านมา การประกาศกฎอัยการศึกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีประกาศในพระราชกฤษฎีกา แต่ครั้งนี้กลับน่าสังเกตว่าไม่มีการประกาศ แต่มีการระบุว่าจนกว่าเหตุการณ์จะสงบเท่านั้น