ผลสำรวจพบวัยรุ่น12% เตรียมแทงบอลโลก
ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันฯ เผย ผลสำรวจพฤติกรรมวัยรุ่น 12% เตรียมเล่นพนันบอลโลก ขณะที่เครือข่ายรณรงค์หยุดพนันเสนอ 3 วิธีแก้ไข
ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันฯ เผย ผลสำรวจพฤติกรรมวัยรุ่น 12% เตรียมเล่นพนันบอลโลก ขณะที่เครือข่ายรณรงค์หยุดพนันเสนอ 3 วิธีแก้ไข
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. เวลา 10.00 น. ณ โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน โครงการเสริมสร้างสื่อมวลชนศึกษา และโครงการขับเคลื่อนสังคมและนโยบายสาธารณะเพื่อลดปัญหาจากการพนัน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ จัดแถลงผลการสำรวจ “พฤติกรรมการรับชมและการเล่นพนันทายผลฟุตบอลโลก 2014 กลุ่มนักพนันมัธยมปลายและอาชีวศึกษา ครั้งที่ 1”
รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผอ.ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน กล่าวว่า ผลการสำรวจกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4 - ม.6) และอาชีวศึกษา (ปวช.1 - ปวช.3) รอบแรก ระหว่าง 30 พ.ค. - 8 มิ.ย. 2557 ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา และชลบุรี รวม 3,050 ตัวอย่าง เกี่ยวกับทัศนคติในการเล่นพนันบอล พบว่า เกือบครึ่งเห็นว่าเหมาะสม หากจะเล่นกับเพื่อน โดยที่ไม่เดิมพันด้วยเงิน ขณะที่ 21% เห็นว่าเหมาะสมที่จะเดิมพันกับเพื่อนด้วยเงินเพราะช่วยเพิ่มสีสัน และราว 20% เห็นว่าเหมาะสมที่จะพนันผ่านโต๊ะบอลหรือเว็บไซต์
สำหรับข้อมูลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจเล่นพนันบอล 6 อันดับแรก คือสถิติการแข่งขันที่ผ่านมา ข้อมูลอัตราต่อรอง ข้อมูลความพร้อมของทีมที่จะแข่งขันเป็นแฟนบอลทีมนั้นๆ ข้อมูลจากการวิเคราะห์ฟันธงผลแข่งขันล่วงหน้า และข้อมูลจากคอลัมน์วิจารณ์ต่างๆ ส่วนช่องทางสำคัญที่ใช้รับข้อมูลข่าวสารในการเล่นพนันฟุตบอล 5 อันดับแรก คือ เว็บไซต์ โทรทัศน์ฟรีทีวี หนังสือพิมพ์กีฬา หนังสือพิมพ์วิเคราะห์อัตราต่อรอง และทีวีดาวเทียมหรือเคเบิ้ลทีวี
ทั้งนี้พฤติกรรมการเล่นพนันบอลที่นำไปสู่ปัญหา พบว่า 37% เคยเล่นเพราะอยากได้เงินที่เสียไปคืนมา 28% เคยเล่นเกินความตั้งใจที่ต้องการเล่น 18% เคยเล่นแล้วเสียเงินแต่ไม่มีจ่าย 56% คิดที่จะลดหรือเลิกเล่น และ 45% รู้สึกผิดกับการเล่นของตนเอง ทั้งนี้มีกลุ่มตัวอย่างกว่า 36% เคยได้รับผลกระทบจากการเล่นพนัน เริ่มตั้งแต่เสียการเรียน ทะเลาะวิวาทกับคู่พนัน ถูกโกง ถูกขู่กรรโชก/ทำร้ายร่างกาย ต้องเลิกหรือแยกทางกับแฟน มีปัญหาในครอบครัว ตลอดจนหาเงินมาเล่น หรือใช้หนี้ด้วยวิธีที่ผิดกฎหมาย/ศีลธรรม แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ 14% ระบุว่า มีความเครียดจนต้องเข้ารับการบำบัดหรือคิดสั้น
นอกจากนั้นเมื่อถามถึงความตั้งใจที่จะเล่นพนันทายผลฟุตบอลโลก 2014 พบว่า 12% ตั้งใจจะเล่น ขณะที่ 21% ยังไม่แน่ใจ โดยกลุ่มตัวอย่างที่ตั้งใจจะเล่นพนันด้วยคือ เพื่อน รองลงมาคือพี่น้อง สิ่งสำคัญคือกลุ่มที่ระบุว่า ตั้งใจจะเล่นพนันบอล 21% ตั้งใจเล่นกับโต๊ะบอลโดยตรง 16% ตั้งใจเล่นผ่านทางเว็บไซต์ และ 12% ตั้งใจเล่นผ่านคนรับแทงหรือคนเดินโพย
ส่วนผู้ที่เคยเล่นพนันบอลมาก่อน 42.5% ตั้งใจจะเล่นพนันทายผลฟุตบอลโลก 2014 ส่วน 35.5% ยังไม่แน่ใจว่าจะเล่น และ 22% จะไม่เล่น
รศ.ดร.นวลน้อย กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในโรงเรียน/วิทยาลัยที่มีครูเล่นพนันบอล หรือมีเพื่อนสนิท พี่น้อง พ่อแม่ผู้ปกครองที่เล่นการพนันฟุตบอล ตั้งใจจะเล่นพนันฟุตบอลโลกครั้งนี้ในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มที่ไม่อยู่ในสภาพแวดล้อมดังกล่าว โดยวงเงินที่จะใช้เล่น เริ่มตั้งแต่ไม่เกิน 50 บาท จนถึงมากกว่า 1,000 บาท โดยเฉลี่ยจะเล่นต่อคู่ อยู่ที่ 492 บาท โดยเงินที่นำมาใช้เล่น 53% ระบุว่า มาจากเงินเก็บ รองลงมา 37% จะใช้เงินที่ได้จากทางบ้าน
นายธนากร คมกฤส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า แนวทางสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ โรงเรียน ผู้ปกครอง เพื่อระวังการเล่นพนันฟุตบอล คือ "ขจัดร้าย ขยายดี และมีภูมิคุ้มกัน" ซึ่งภาครัฐคงต้องรับผิดชอบเรื่องขจัดร้าย การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ปราบพนันทุกประเภท น่าจะทำให้โต๊ะพนันบอลปิดตัวลง แต่เกรงว่าอาจเปิดในช่องทางอื่น เช่น พนันผ่านเว็บไซต์
นอกจากนั้นบทบาทของโรงเรียนและชุมชนน่าจะเน้นที่การขยายดี โดยช่วยกันสนับสนุนกิจกรรมทางเลือกที่สร้างสรรค์ เพื่อทดแทนหรือเบี่ยงเบนเด็กและเยาวชนจากการเล่นพนัน
ส่วนครอบครัวควรช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็กวัยช่วงประถมปลายถึงมัธยมต้น อายุ 10-14 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่เริ่มสนใจฟุตบอล และจะถูกชักชวนให้เล่นพนันบอลเป็นครั้งแรก
นายพงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะเพื่อลดปัญหาจากการพนัน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) เสนอคุมปัญหาการพนันฟุตบอลโลกต่อหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องบังคับใช้กฎหมายการพนันอย่างเคร่งครัด จับกุมร้านเกมส์ที่เปิดให้เล่นพนันฟุตบอล ดำเนินคดีกับสื่อที่นำเสนอข้อมูลชักชวนให้เกิดการเล่นพนัน กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ควรจัดตั้งคณะทำงานเฝ้าระวังการพนันผ่านสื่อออนไลน์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต้องไม่ให้สถานีวิทยุโทรทัศน์นำเสนอข้อมูล แนะนำช่องทาง หรือโฆษณาเว็บไซต์ ที่มีส่วนสนับสนุนการพนันฟุตบอล กระทรวงศึกษาธิการ ควรมีคำสั่งให้สถานศึกษาทั่วประเทศจัดระบบเฝ้าระวังนักเรียนเล่นการพนันฟุตบอล และรณรงค์เพื่อสร้างการรู้เท่าทัน ฯลฯ