น้ำตาบางกลอย

15 มิถุนายน 2557

การหายตัวไปอย่างลึกลับของ "บิลลี่" พอละจี รักจงเจริญ ชาวบ้านบางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

การหายตัวไปอย่างลึกลับของ "บิลลี่" พอละจี รักจงเจริญ ชาวบ้านบางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เร้าให้เกิดการตื่นตัวในประเด็นสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ยังทำให้ "บางกลอย" กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

ไม่เฉพาะพฤติกรรมอุกอาจท้ากฎหมายที่เกิดขึ้นกับ "บิลลี่" หากแต่ "บางกลอย" ยังมีความซับซ้อนของปัญหาอย่างฝังลึกลงรากมาอย่างยาวนาน

นับตั้งแต่ปี 2539 ที่กรมอุทยานฯ เริ่มอพยพ ชนกะเหรี่ยงจากบางกลอยบนมายังพื้นที่บางกลอยล่าง ทั้งที่ยังไม่มี "ความพร้อม" ไม่ว่าจะเป็นที่ดินทำกิน สาธารณูปโภคพื้นฐาน และสุขอนามัยที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต

แน่นอนว่าชาวบ้านไม่อาจปรับตัวได้

ด.ต.สุชิน ฤกษ์งาม ผู้เป็นทั้งครูประจำโรงเรียนบ้านโป่งลึกและแพทย์หมู่บ้านคอยรักษาการเจ็บป่วยของชาวบ้านเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนตั้งแต่ปี 2549 สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของบางกลอยอย่างชัดเจน

เริ่มจากเรื่องสาธารณูปโภคโดยเฉพาะน้ำดื่มน้ำ ใช้ที่ยังไม่เพียงพอ ชาวบ้านต้องลงไปหาบน้ำจาก ห้วยน้ำเพรียงที่ไหลผ่านหมู่บ้าน ไม่ผ่านการกรองหรือการต้ม ทำให้บางฤดูกาลมีชาวบ้านท้องร่วงจำนวนมาก กอปรกับพื้นที่แน่นหนาด้วยป่าไม้ จึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงชั้นดี พยาธิวิทยาอย่างมาลาเรียที่คุกคามชีวิตคนเสมอ นอกจากนั้นเรื่องสุขอนามัยยังคงเป็นปัญหา โดยเฉพาะห้องสุขาของชาวบ้านที่บางหลังยังเป็นส้วมหลุม

สาหัสกว่านั้นคือ ชาวบ้านยังไม่สามารถหาอาชีพหลักที่เพียงพอต่อการกินอยู่ ผู้หญิงทอผ้า ผู้ชาย ออกไปรับจ้าง บางครอบครัวมีรายได้ไม่ถึง 1,000 บาท/เดือน แต่ปัญหาที่สะเทือนใจยิ่งกว่าคือความพร้อมด้านสาธารณสุข ทั้งอนามัยและโรงพยาบาล อยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านกว่า 50 กิโลเมตร โดย ความคดเคี้ยวของขุนเขาต้องใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง ซึ่งต้องมีเงินติดตัวอย่างน้อย 2,000 บาท สำหรับ การเดินทางและการรักษา แล้วชาวบ้านจะเอาเงิน มาจากไหน ในเมื่อรายได้บางครอบครัวยังไม่ถึง 1,000 บาท

"เปอตาจุ๊" แปลว่า งานศพ-พบหญิงวัย 52 ปี เสียชีวิต 1 ราย จากอาการหัวใจล้มเหลวฉับพลัน โดยแรกเริ่มมีอาการปวดหัว เจ้าตัวคิดว่าทนได้ แต่ ซ้ำร้ายเข้าเวลาค่ำอาการทรุดลงและถึงแก่ชีวิตในที่สุด

พิธีกรรมของชาวกะเหรี่ยงเริ่มขึ้น ร่างผู้เสียชีวิตวางอยู่กลางบ้าน สามีนั่งร่ำไห้ ผู้เฒ่าบริกรรมคาถา วอนญาติพี่น้องส่งข่าวลูกหลานที่ไปหากินในเมืองใหญ่ ปัญหาของบางกลอยเชื่อมร้อยอย่างเป็นรูปธรรม

"การดำเนินงานของอุทยานฯ ที่ผ่านมาคือ ความล้มเหลว จะประกาศบางกลอยบนเป็นเขตอุทยานฯ ได้อย่างไร ในเมื่อมีผู้คนและชนเผ่าอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นตั้งแต่บรรพบุรุษ" เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ รองประธานคณะอนุกรรมการด้านที่ดินและป่า ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) วิพากษ์อีกว่า การใช้กำลังอพยพเคลื่อนย้ายเป็นการทำลายสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการอยู่อาศัยและใช้ชีวิต

แนวทางแก้ไขในเบื้องต้นจะต้อง "คืนสิทธิให้กับชาวบ้านก่อน" โดยเฉพาะสิทธิในการตัดสินใจว่าจะอยู่บางกลอยบน (แผ่นดินเดิม) หรือเลือกจะอยู่บางกลอยล่าง ถ้าเลือกอยู่บางกลอยล่างจะต้องมีการจัดสรร ที่ดินทำกินให้เพียงพอต่อประชาชน สร้างระบบสาธารณูปโภคที่ปลอดภัย เพื่อเอื้อต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา การหารือระหว่าง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ อุทยานฯ และชาวบ้านเริ่มขึ้น เสียงทักท้วงทวง "สัญญา" จากอุทยานฯ ในการจัดสรรที่ดินทำกิน เนื่องจาก สรัชชา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี เคยรับปากจะเร่งจัดสรรพื้นที่ให้กับชาวบ้าน

ส่วนผลการดำเนินงานจะเป็นไปได้จริงแค่ไหนคงต้องติดตาม

ทุกวันนี้ชาวบ้านยังคงหวาดกลัวการคุกคาม จากอำนาจรัฐ ในขณะที่ต้องก้มหน้าก้มตาต่อสู้กับชะตากรรมที่ตัวเองไม่ได้เป็นผู้กำหนด

การหายตัวไปของ "บิลลี่" เปรียบดังบาดแผล ที่ฝังลึกในใจชาวบางกลอย แต่หากวันใดที่ "บ้าน บางกลอย" ถูกลบออกไปจากผืนแผ่นดินไทย

นั่นคือตราบาปของมวลมนุษยชาติ

ใช่ว่าจะไม่มีความน่าจะเป็น? "ฌุงมาโบโย่-หวังท่านอยู่เย็นเป็นสุข"

Thailand Web Stat