อินไซด์คสช.ถกสื่อ"ทีวีการเมือง"ขอกลับใจ
การนัดพบปะ ผู้บริหาร บรรณาธิการสื่อสิ่งพิมพ์ ทีวี ของคสช.ในช่วงสายวันที่ 27 มิ.ย.ถือเป็นครั้งที่สองหลัง คสช.เข้ายึดอำนาจ
โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม
การนัดพบปะ ผู้บริหาร บรรณาธิการสื่อสิ่งพิมพ์ ทีวี ของคสช.ในช่วงสายวันที่ 27 มิ.ย.ถือเป็นครั้งที่สองหลัง คสช.เข้ายึดอำนาจ ท่ามกลางการขอความร่วมมือการเสนอข่าวของสื่อมวลชน งดข่าวความขัดแย้ง เพื่อสร้างบรรยากาศปรองดอง ตามประกาศคสช.ที่ออกมาก่อนหน้านี้
ครั้งนี้ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาพร้อมด้วย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติหน้าที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และ คณะนายทหารทีมประชาสัมพันธ์ของคสช. ครบครัน โดยมี ผู้บริหาร บรรณาธิการสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ 46 สำนักเข้าร่วมพร้อมเพรียง
คำถามของสื่อครั้งนี้ พุ่งไปที่ความอึดอัดในการทำงานที่ดูเหมือน คสช. เข้าควบคุมสื่อมากขึ้น จากกรณี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้า คสช.ตั้งคณะทำงานติดตามการทำหน้าที่ของสื่อ 5 ชุด รวมถึงกรณีทหารบุกเข้าไปยัง นสพ.คมชัดลึกเพื่อขอไม่ให้นำเสนอข่าวการจัดตั้งองค์กรเสรีไทยของ จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
เวทีครั้งนี้จัดขึ้นที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดีรังสิต ภายในห้องจัดเตรียมที่นั่งเป็นรูปตัวยู สื่อสิ่งพิมพ์นั่งด้านขวา สื่อทีวี เคเบิลทั้งหลาย ด้านซ้าย ฟากเดียวกันแถวหลังเป็นกลุ่มทีวีการเมือง เช่น เอเชียอัพเดท ทีนิวส์ บลูสกาย
พล.อ.อุดมเดช กล่าวต้อนรับอย่างเป็นทางการ โดยขอบคุณสื่อที่ให้ความร่วมมือกับคสช.ด้วยดี ก่อนจะเล่าถึง ความจำเป็นที่เข้ามาควบคุมอำนาจ จนขณะนี้ผ่านมา1 เดือน ประชาชนเข้าใจและเห็นความตั้งใจของ คสช.
สะท้อนผ่านโพลต่างๆ เพราะหากไม่เข้ามา ประเทศก็ยังจะขัดแย้ง แตกแยกทางความคิด จากการชุมนุมของม็อบยาวนาน มีการใช้อาวุธสงครามทำให้คนเจ็บ เสียชีวิต ประเทศไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ พร้อมกับยืนยันในโรดแมปของหัวหน้าคณะคสช. 3 ขั้นตอน โดยจะพยายามใช้เวลาบริหารประเทศให้สั้นที่สุดคือ 1 ปี ถ้าทุกคนเข้าใจ เกิดการปฏิรูป ไม่มีความขัดแย้ง ก็เข้าสู่การเลือกตั้งได้ในไม่ช้า
พล.อ.อุดมเดช ระบุว่า ทราบว่า สื่อไม่สบายใจที่ พล.ต.อ.อดุลย์ได้ตั้งคณะทำงาน 5 ชุด เพราะดูเหมือนเป็นการจำกัดกรอบ การทำงานของสื่อ ทำให้สื่ออึดอัด แต่ยืนยัน คสช.ไม่ได้ปิดกั้น ตรงกันข้ามเป็นการเสริมการทำงานกับสื่อด้วยซ้ำ ช่วยกันดูแล เพราะบางครั้งเราต้องตรวจสอบความถูกต้อง ไม่ให้เกิดภาพเสียหาย สิ่งใดไม่เหมาะสมเราก็อาจขอความกรุณาจากสื่อ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับการตอบรับด้วยดี เหตุการณ์ทุกอย่างราบรื่น
“บางสื่อวันนี้ยังไม่ได้ออกอากาศ ผมรู้ ท่านเตรียมจะถามผม แต่ผมก็ขอย้ำว่า มันมีความจำเป็นอยู่ซักระยะเพราะมันเป็นภาพสัญลักษณ์การแบ่งระหว่างฝ่าย ก็ขอความกรุณาให้ท่านชะลอไว้ก่อน ถ้าถึงโอกาสที่เหมาะสมก็จะเป็นพิจารณาต่อไป”
พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า ส่วนวิทยุชุมชนเราไม่ได้ปิดกั้น แต่บางแห่งออกอากาศแล้ว บางแห่งยังมีปัญหาก็ขอให้ชะลอออกไปก่อน อีกทั้งบางรายก็ผิดเงื่อนไขของ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์การตั้งสถานี
“ความสำเร็จของเรา ถ้าไม่ได้ถูกเผยแพร่กระจายโดยสื่อ มันก็เกิดขึ้นไม่ได้ ผมคิดว่า ถ้าสถานีใดสถานีหนึ่ง เอาแต่โจมตี ไม่เข้าใจเรา ผมว่า เราก็ไปไม่รอด แม้เพียงสถาน 1 แห่ง เราก็ไม่รอด เพราะมันจะเป็นปัญหาอุปสรรค ดังนั้น เราต้องอาศัยความร่วมมือจากท่าน”
จากนั้น พล.อ.อุดมเดช แนะนำรู้จักทีมประชาสัมพันธ์ของ คสช.ที่ทำหน้าที่มอนิเตอร์สื่อต่างๆในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งทุกคนต่างขอบคุณสื่อที่ให้ความร่วมมือกับ คสช.ด้วยดี
พล.ท.ภานุวัชร นาควงษม์ ผู้ช่วยเสนาธิการฝ่ายกิจการพลเรือน รับผิดชอบด้านข้อมูลข่าวสาร บอกว่า ผลโพลที่คนให้คะแนน คสช. ทำให้ ท่านหัวหน้าคสช.พอใจ ก็มาจากการสื่อสารของพวกท่าน เพราะประชาชนไม่ได้มาทำงานกับ คสช. แต่รู้ข้อมูลผลงานจากการสื่อสารของสื่อ
พล.ท.ภานุวัชร เล่าด้วยว่า เราประเมินสื่อทุกฉบับ ทีวี รวมถึง สื่อออนไลน์ ไม่ได้เป็นการจับผิด แต่ดูว่า ท่านเสนอข่าวในทางไหน อย่างไร เราจะได้จะปรับการทำงานถูก ขณะนี้ถือว่า อยู่ในโหมดการบริหารราชการแผ่นดิน จึงมีทีมงานของสำนักนายกรัฐมนตรีมาช่วย สำหรับตนเองให้คะแนนสื่อ ดีทุกคน เพราะลงถูกต้อง
ทั้งนี้ ยอมรับว่าขณะนี้ คสช. ดูสื่อไม่ไหว จึงต้องตั้งคณะทำงาน 5 ชุดขึ้นมา เพื่อดูทิศทาง การวิเคราะห์ เป็นประโยชน์กับเรา อย่างไรก็ตาม สื่อบางส่วน ได้ข้อมูลไม่ถูกต้อง เราก็ต้องโทรศัพท์ไปคุยโดยเฉพาะทีวี ขอความร่วมมือ ประเด็นไหนไม่ตรง ก็ได้ตักเตือนก็ขอให้สบายใจได้ อย่างล่าสุด มีข่าวสหรัฐลดระดับไทย มีการเสนอข่าวครึกโครม ก็มีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งพาดหัวว่า “ถีบหัวส่ง” อยากถามว่า ในเมื่อเราเป็นสื่อไทย ทำไมไม่เข้าข้างคนไทยบ้าง
พล.ต.สุชาติ ผ่องพุฒิ รองเจ้ากรมทหารสื่อสาร และ หัวหน้าคณะทำงานติดตามสื่อ คสช. กล่าวว่า การทำงานได้ยึดประกาศ คสช.ฉบับที่ 14 และ 18 เป็นคัมภีร์ เวลาพบใครก็จะแจกคัมภีร์นี้ เพราะไม่อยากให้ออกนอกคัมภีร์กัน
“บางสื่ออาจจะหลุดกรอบบ้าง ผมก็โทรไปหาท่าน ก็บอกว่า พี่ครับ ตรงนี้มันเกินกรอบ เปลี่ยนเนื้อหาหน่อยได้ไหม ท่านอาจจะผิดกฎหมาย ก็ได้รับความร่วมมืออย่างดี โดยเฉพาะ ฟรีทีวี และเคเบิลทีวี ไม่ว่า ช่อง 3 หรือ เอ็นบีที ขอให้ท่านแก้ข่าว ก็ทำให้ตลอด ส่วนทีวีดาวเทียมตอนนี้เปิดไปแล้ว 300 จาก 500 สถานี ที่ยังไม่ได้ออกเพราะท่านอาจทำไม่ถูกหลักเกณฑ์ของ กสทช. เราได้ประสาน กสทช. ให้ช่วยเร่งเปิดโดยเฉพาะเคเบิลทีวีที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง อย่างบันเทิง ศาสนา อะไรที่เป็นความสุขของประชาชนต้องรีบเปิด
หลังทีมงานด้านสื่อของ คสช. ชี้แจงเสร็จ พล.อ.อุดมเดช เปิดโอกาสให้สื่อซักถาม ค่ายคมชัดลึกเป็นผู้ถามคำถามแรก บรรยากาศเริ่มเข้มข้น
บรรยง อินทนา บรรณาธิการบริหารคมชัดลึก เล่าเหตุการณ์ที่มีทหารขึ้นไปสำนักงาน โดยขอไม่ให้เสนอข่าวจารุพงศ์ ตั้งกลุ่มเสรีไทยคัดค้านการทำรัฐประหาร โดยระบุว่า ทหารกลุ่มนั้นที่มา ก็ไม่ชัดว่า มาจากคำสั่งใครและก็มาพบกับเจ้าหน้าที่ระดับล่างของหนังสือพิมพ์ สิ่งที่เกิดขึ้นเชื่อว่า สื่อส่วนใหญ่ไม่สบายใจในการปฏิบัติอย่างนี้ ส่วนข่าวจารุพงศ์ อยากบอกว่า จริงๆแล้วสื่อส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ราคาจารุพงศ์เท่าไร ยิ่งวันนั้น ทราบว่า ทหาร ตำรวจ จะดำเนินการกับจารุพงศ์ด้วยแล้ว ดังนั้น ก็ขอให้ คสช.ดูแลตรงนี้ด้วย
พล.อ.อุดมเดช ชี้แจงว่า มั่นใจว่า ทหารเข้าไปไม่มีเจตนาอย่างอื่น คงอยากไปพูดคุยกับผู้ที่รับผิดชอบ แต่ต่อไปถ้าสิ่งไหนไม่สบายใจก็ขอให้บอกเพราะเราเองก็ต้องการให้เกิดภาพพจน์ที่ดี เป็นที่ยอมรับ เราก็ต้องให้เกียรติกัน แต่ในเมื่อท่านเข้าใจแล้ว ต่อไปเราก็ต้องติดต่อกับผู้บริหารโดยตรง ประสานให้ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม บก.คมชัดลึกบอกว่า จริงๆ ก็ประสานทางโทรศัพท์จะดีกว่า เจ้าหน้าที่หนังสือพิมพ์จะได้ไม่กังวล ซึ่ง พล.อ.อุดมเดช ตอบว่า ต่อไปก็จะปรับความเข้าใจไม่ให้ตกใจเกินไป
กรณี จารุพงศ์ เลขาธิการ คสช.ชี้แจงว่า “ผมขอให้ท่านใช้ดุลยพินิจในการนำเสนอ เราจะให้ภาพเก่าๆ ที่นำไปสู่ความแตกแยก เกิดขึ้นอีกหรือ มันก็จะไม่ปรองดองขึ้นมานะ ท่านก็ดูตามความเหมาะสมว่าจะเสนออย่างไร คิดว่าทุกท่านเข้าใจ”
ประชาไท ธนณรงค์ บก.ข่าวนสพ.แนวหน้า สำทับว่า ถ้าคสช.จะคุมสื่อจริง ก็ควรมีคำสั่งออกมา เพราะคำพูดของท่านที่ว่า ให้ใช้ดุลยพินิจ อย่าสนับสนุน ส่งเสริม มันเป็นนามธรรม ความจริง สื่อจำเป็นต้องนำเสนอข่าวกลุ่มต่อต้านคสช. เช่น จารุพงศ์ หรือ นายจักรภพ เพ็ญแข เพื่อให้ประชาชนรู้สิ่งที่เกิดขึ้น
พล.อ.อุดมเดช ตอบว่า “ผมเข้าใจ ผมไม่ห้าม ไม่ปิดกั้น แต่ท่านควรใช้วิจารญาณว่า ต้องการให้มีผู้เห็นต่างอย่างนี้ เกิดขึ้นในสังคมหรือ แต่ถ้าให้ผ
พูดตรงๆนะ ก็คือ ไม่ควรนำเสนอ เพราะมันเป็นกลุ่มเดิมๆ เสนอไปแล้วก็เกิดปัญหาขึ้นอีก แต่ก็เห็นด้วยว่า ควรเสนอให้ประชาชนรู้ได้บ้าง แต่ไม่ใช้ลงเต็มเนื้อหนัง มิฉะนั้น ปัญหาความขัดแย้งก็จะไม่จบอีก”
สมชัย สุวรรณบรรณ ผอ.ทีวีไทย เสริมว่า ไม่ควรปิดกั้นสื่อ เพราะถ้าปิด ก็จะมีสื่อจากโซเชียลมิเดียนำเสนอข้อมูลอีกด้านอีก ซึ่งจะทำให้สับสนเข้าไปอีก เพราะเดี๋ยวนี้ใครก็เป็นข่าวได้ แต่ไม่ใช่มืออาชีพ เกิดความเสียหายมาเยอะแล้ว ดังนั้น ควรให้สื่อมืออาชีพเสนอข่าวดีกว่า และ ขณะนี้ คสช.มีคณะทำงานหลายชุดคุมสื่อ ค่อนข้างสับสน ไม่รู้ใครมีอำนาจอะไร ทับซ้อนกันอย่างไร แต่ความจริง ถ้าคสช.ทำสิ่งมีประโยชน์ ประชาชนก็จะให้ความร่วมมือเอง
ประเด็นนี้ เลขาธิการ คสช.แจงว่า ต่อไปนี้ให้ยึดเอาคณะทำงานของพล.ต.อ.อดุลย์ เป็นหลัก จะได้ไม่สับสน
“ผมยืนยันไม่ปิดกั้น และไม่อยากให้พวกท่านรู้สึกไม่ดี แต่ถ้าเสนอเรื่องเดิมๆ มันก็ขัดแย้ง บานปลาย ก็อยู่ที่วิจารญาณของท่าน ส่วนเรื่องเปิดเคเบิลทีวีที่ยังถูกปิดอยู่ ผมยืนยัน ยังมีความจำเป็นต้องปิด เพราะบางช่องยังมีภาพพจน์เดิมๆ คสช. รู้ว่า บุคลากรในช่องนั้นเดือดร้อนเพราะถูกปิด เดี๋ยวเราก็ดูจุดที่เหมาะสม หาโอกาสปรับเปลี่ยน จนเหลือช่องสุดท้ายที่เป็นช่องสีชัดเจน ตอนนี้ก็ต้องงดทั้งคู่ก่อน”
พิชาย ชื่นสุขสวัสดิ์ บรรณาธิการนสพ.บางกอกโพสต์ กล่าวว่า เรื่องการนำเสนอข่าว คนเป็นบรรณาธิการควรใช้ดุลพินิจงว่า อะไรควรเป็นข่าวนำ ข่าวรอง อยากถาม คสช.ว่า จะมีบทบาทปฏิรูปเรื่องอะไรในระยะยาว
พล.อ.อุดมเดช ชี้แจง การตั้งสภาปฏิรูปว่า คสช.ไม่ได้เลือกคนมาเป็นสภาปฏิรูปเอง แต่จะให้โอกาสกลุ่มต่างๆ เสนอรายชื่อมา จากนั้น รายชื่อจะถูกตีแผ่ ซึ่งเป็นช่วงระยะที่สอง เมื่อมีการทำเรื่องปฏิรูป เราก็จะให้ทุกพรรคการเมืองลงสัตยาบรรณให้รัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้งต้องรับเรื่องปฏิรูปไปดำเนินการต่อ
ขณะที่ ตัวแทนจาก สถานีโทรทัศน์เอเชียอัพเดทจากช่องเสื้อแดง ถามบ้างว่า ฟังเลขาธิการ คสช.พูดแล้ว ทางเอเชียอัพเดท ก็รู้สึกน้อยใจ เพราะกลายเป็นว่า สถานีทำให้สถานการณ์ทุกอย่างเลวร้าย ทั้งที่ปัจจุบัน ทีวีสีเสื้อต่างๆ หายไปหมดแล้ว เราอยากช่วยประเทศชาติเหมือนกัน ขอถามว่า คสช.ประเมินอย่างไรว่า การตั้งกลุ่มเสรีไทยของจารุพงศ์ มีผลกระทบกับ คสช.แค่ไหน
“เอเชียอัพเดท กับ ดีเอ็นเอ็น มีคนดูรากหญ้าจำนวนมาก เราก็อยากมีส่วนร่วม เสริมสร้างความปรองดอง ให้ประเทศชาติเผยแพร่งานของ คสช.สื่อสารให้รากหญ้า ผมเสนอจะสถานีว่า อยากให้สถานีเป็นส่วนร่วมของโครงการนี้”
สิ้นเสียงของ ตัวแทน เอเชียอัพเดท มีเสียงฮือออกมา พล.อ.อุดมเดช ตอบว่า สบายใจที่เอเชียอัพเดทคิดอย่างนี้ พร้อมร่วมมือให้เกิดความสร้างสรรค์ในเชิงบวก ก็จะไปนำเรียนหัวหน้า คสช. แต่ขอชี้แจงว่า ทางบลูสกาย กับ เอเชียอัพเดท ควรชะลอการเปิดไว้ก่อน เพราะต้นเหตุแห่งความขัดแย้งคืออะไร เราก็รู้อยู่ แต่เราให้ออกอากาศแน่ ซึ่งก็ต้องคุยกับให้ชัด ต้องไม่เอาภาพเก่าๆ กลับมา
ส่วนเรื่องจารุพงศ์ มันไม่เหมาะแน่ที่จะนำเสนอ เราไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้มาผูกความคิดคนเป็นลูกโซ่อีก ส่วนผลกระทบของจารุพงศ์ คงไม่มี
“ทหารพูดคำไหน คำนั้น คำพูดเป็นนาย เรื่องโรดแมปยังไงก็ยังงั้น ตอนนี้เราอยากให้ทุกอย่างนิ่งเงียบกันก่อน ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามนั้น ก็จะเข้าระยะที่สามเร็ว แต่ถ้ายังขัดแย้ง เราก็สามารถยืดเวลาได้อีก” เถกิง สมทรัพย์ ผอ.สถานีบลูสกาย ซึ่งถูกปิดอยู่ ถามว่า คสช.ควรมาดูผังที่จะให้ปรับใหม่ และ ควรมีวิธีปฏิบัติกับช่องทีวีการเมืองต่างๆ แบบเดียวกัน เราก็พร้อมเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอเป็นแบบ สปริงนิวส์ หรือ เนชั่น
“ทั้งสองสถานี (เอเชียอัพเดท บลูสกาย) มีคนดูหลายล้านคน แน่นอนว่า ส่วนหนึ่งมีฮาร์ดคอร์ แต่จำนวนมากเขาสนใจข่าวสารบ้านเมือง ถ้าเราได้คุยกัน ข่าวสารก็จะเป็นบวกมากขึ้น ตรงนี้จะช่วยได้ คสช.ก็ไปดูได้ จะเอาพีธีกรคนไหนมาออก ก็น่าเป็นประโยชน์”
ขณะที่ ตัวแทนเอเอสทีวี ซึ่งยังถูกปิด กล่าวว่า เรามีพลังสร้างสรรค์ที่จะช่วยบ้านเมือง ดังนั้น คสช. ไม่ควรแยกสี
ภัทระ คำพิทักษ์ บรรณาธิการบริหาร นสพ.โพสต์ทูเดย์ กล่าวว่า สื่อไม่สบายใจที่ คสช.ตั้งคณะทำงาน 5 ชุดมาดูแลสื่อ ขอถามว่า ประกาศ คสช. ที่ควบคุมสื่อ ซึ่งถือเป็นกฎหมายแล้ว จะใช้ยาวนานแค่ไหน เพราะกว่าที่ประกาศจะถูกยกเลิกก็อาจใช้เวลานาน เหมือนในอดีตกว่าที่ สื่อจะก่อกระแสยกเลิก ปว. 42 หรือ พรบ.การพิมพ์ก็ใช้เวลา60ปี
พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า คสช. พยายามใช้ในช่วงจำเป็นและก็ต้องดูสถานการณ์บ้านเมืองให้เรียบร้อยก่อน ถ้าหมดความจำเป็นก็ถึงจะปลดล็อคประกาศเหล่านี้
เลขาธิการ คสช. กล่าวในช่วงท้ายว่า ดีใจที่ได้พบ สื่อตัวจริง และก็เป็นแฟนรายการบางท่านด้วย และดีใจมีโอกาสที่ให้เกียรติ คสช. คสช.ก็ให้เกียรติทุกคน ท่านเป็นฐานันดรพิเศษ ที่เราต้องให้ความสำคัญ แต่ด้วยความจำเป็นขณะนี้ เราต้องออกกฎระเบียบเพื่อขอความร่วมมือ สื่อไม่ต้องยืนข้างเรา แต่ขอให้ยืนข้างประเทศไทย เราทำเพื่อประเทศ และเราก็เคารพในจรรยาบรรณสื่อที่ทำหน้าที่เสนอข้อเท็จจริง คสช.อยากให้ท่านเป็น เกทคีพเปอร์ เลือกข่าวที่สร้างสรรค์ เสนอข้อเท็จจริงให้กับคนไทยและชาวโลก