posttoday

ที่1ประเทศติดบัญชีจุฬาฯ

02 กรกฎาคม 2557

เด็กคริสเตียนแชมป์แอดมิชชั่น90.3คะแนนท่องเที่ยวม.เกษตรรับ15แห่สมัคร1,437

เด็กคริสเตียนแชมป์แอดมิชชั่น90.3คะแนนท่องเที่ยวม.เกษตรรับ15แห่สมัคร1,437

ผลสอบแอดมิชชั่น 2557 เด็กคะแนน 8 อันดับสูงสุด เข้าจุฬาฯ หมด

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน นายกสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศ เปิดเผยว่า การสอบแอดมิชชั่นปีการศึกษา 2557 มีนักเรียนสมัครสอบ 9.97 หมื่นคน สอบผ่าน 8.08 หมื่นคน โดยนักเรียนที่ได้คะแนนสูงสุดของปีนี้ คือนายฉัตรมงคล ปิ่นทอง จากโรงเรียน (รร.) กรุงเทพคริสเตียน ได้ 90.30 คะแนน สอบติดคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อันดับ 2 น.ส.สุดารัตน์ วิรุฬห์ทรัพย์ จาก รร.เซนต์โยเซฟคอนแวนต์ 88.59 คะแนน สอบติดคณะรัฐศาสตร์ จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันดับ 3 นายวิวัฒน์ เที่ยงธรรม จาก รร.โยธินบูรณะ 87.72 คะแนน สอบติดคณะนิติศาสตร์ จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อันดับ 4 น.ส.ปภาวดี นิมิตรกมลเลิศ จาก รร.เตรียมอุดมศึกษา 87.21 คะแนน สอบติดคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันดับ 5 น.ส.กมลวรรณ สาระวารี จาก รร.อำมาตย์พานิชนุกูล 85.14 คะแนน สอบติดคณะศิลปศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันดับ 6 น.ส.สุวีรยา พีรัชต์ชัยกูล จาก รร.โพธิสารพิทยากร 84.36 คะแนน สอบติดคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อันดับ 7 นายวิริยะ เธียรทนุกิจ จาก รร.เตรียมอุดมศึกษา 84.14 คะแนน สอบติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอันดับ 8 นายชากร ไชยกูล จาก รร.สาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฝ่ายมัธยม) 83.58 คะแนน สอบติดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขณะเดียวกัน คณะและสาขาวิชาที่มีเด็กสอบแข่งขันมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 สาขาการท่องเที่ยว คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รับ 15 คน สมัคร 1,437 คน คิดเป็นสัดส่วน 1:96

อันดับ 2 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รับ 15 คน สมัคร 947 คน คิดเป็นสัดส่วน 1:13 อันดับ 3 วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ รับ 40 สมัคร 2,004 คน คิดเป็นสัดส่วน 1:50

วันเดียวกัน ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือกรุงเทพโพลล์ เปิดผลสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “ชีวิตเด็ก ม.ปลาย สู่รั้วมหาวิทยาลัย” พบว่านักเรียนมัธยมปลาย 60.2% นิยมเรียนพิเศษ เพราะเรียนในห้องเรียนไม่ค่อยเข้าใจ และเนื้อหาที่เรียนไม่ตรงกับที่จะใช้สอบเข้ามหาวิทยาลัย ส่วนอีก 39.8% ไม่ได้เรียนพิเศษ ด้วยเหตุผลว่าฐานะไม่ดี ตั้งใจเรียนในห้อง และเอาเวลาไปทำกิจกรรมอย่างอื่นดีกว่า

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่าง 64.4% ยังเห็นว่า ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐในปัจจุบันเหมาะสมและควรมีต่อไป ส่วนอีก 35.6% เห็นว่าไม่เหมาะสม ควรยกเลิก

Thailand Web Stat