ดวงดาว...บนธงชาติ
ธงชาติของหลายประเทศมีสัญลักษณ์ทางดาราศาสตร์อยู่บนผืนธง ไม่ว่าจะเป็นดวงอาทิตย์
ธงชาติของหลายประเทศมีสัญลักษณ์ทางดาราศาสตร์อยู่บนผืนธง ไม่ว่าจะเป็นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว บางประเทศมีดาวหลายดวง วางตัวเรียงกันเป็นกลุ่มดาวหลายกลุ่ม ตามที่ปรากฏบนท้องฟ้าจริง
ประเทศที่ใช้ดวงอาทิตย์เป็นสัญลักษณ์โดดเด่นบนธงชาติมีหลายประเทศ ที่เราคุ้นเคยมากที่สุดน่าจะเป็นญี่ปุ่น มีดวงอาทิตย์สีแดงบนพื้นสีขาว นอกจากนี้ เช่น ฟิลิปปินส์ อาร์เจนตินา บังกลาเทศ แอนติกาและบาร์บูดา คาซัคสถาน คิริบาตี คีร์กีซสถาน มาซิโดเนีย มาลาวี นามิเบีย เนปาล ไนเจอร์ อุรุกวัย กรีนแลนด์ ฯลฯ
ประเทศที่ใช้จันทร์เพ็ญเป็นสัญลักษณ์โดดเด่นบนธงชาติที่อยู่ใกล้เราที่สุดก็คือประเทศลาว ธงชาติลาวมีวงกลมสีขาวอยู่พื้นสีน้ำเงิน ขนาบด้วยแถบสีแดง ซึ่งแทนความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และอาจหมายถึงดวงจันทร์เต็มดวงขึ้นกลางแม่น้ำโขง นอกจากลาวแล้ว ประเทศที่ใช้จันทร์เพ็ญบนธงชาติคือปาเลา ใช้วงกลมสีเหลืองแทนดวงจันทร์บนส่วนพื้นสีฟ้าแทนมหาสมุทรแปซิฟิก
ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ใช้เสี้ยวดวงจันทร์กับดาวอยู่บนธงชาติ อย่างไรก็ตามสัญลักษณ์ดังกล่าวเริ่มมีใช้มาก่อนกำเนิดศาสนาอิสลาม แพร่หลายแถบตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เปอร์เซีย และเอเชียกลาง ประเทศที่ใช้จันทร์เสี้ยวคู่กับดาวห้าแฉก (มีทั้งดาวดวงเดียวและหลายดวง) พบได้ในหลายชาติ เช่น แอลจีเรีย อาร์เซอร์ไบจาน ลิเบีย มาเลเซีย มอริเตเนีย ปากีสถาน สิงคโปร์ ตูนิเซีย ตุรกี เติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน เป็นต้น
ประเทศที่ใช้ดาวดวงเดียวเป็นสัญลักษณ์เด่นบนธงชาติมีหลายประเทศ เวียดนามมีดาวห้าแฉกสีเหลืองอยู่บนพื้นสีแดง ธงชาติเมียนมาร์มีดาวสีขาวอยู่บนพื้น 3 สี ประเทศอื่นๆ เช่น อารูบา บูร์กินาฟาร์โซ แคเมอรูน เอธิโอเปีย กานา โมร็อกโก เกาหลีเหนือ โซมาเลีย ซูรินาเม โตโก เป็นต้น ส่วนประเทศที่ใช้ดาวมากกว่าหนึ่งดวง เป็นสัญลักษณ์โดดเด่นบนธงชาติ เช่น จีน ฮอนดูรัส ไมโครนีเซีย ปานามา สหรัฐอเมริกา ฯลฯ
กลุ่มดาวกางเขนใต้ ที่มีดาวสว่าง 4 ดวง เรียงกันเป็นรูปไม้กางเขน กับอีกหนึ่งดวงเล็ก เป็นกลุ่มดาวเด่นในซีกฟ้าใต้ และเห็นได้ชัดในประเทศซีกโลกใต้ ธงชาติออสเตรเลียมีกลุ่มดาวกางเขนใต้อยู่บนพื้นสีน้ำเงิน มุมซ้ายด้านบนมีธงสหภาพ (ธงยูเนียนแจ็ก) ด้านล่างมีดาว 7 แฉก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเครือจักรภพ
บราซิลเป็นประเทศเดียวที่มีกลุ่มดาวหลายกลุ่มอยู่บนผืนธง ธงชาติมีพื้นสีเขียว แทนพื้นที่ป่าไม้กว้างใหญ่ในประเทศ ตรงกลางมีสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนสีเหลือง น่าจะแทนเหมืองทองที่มีอยู่จำนวนมาก ภายในมีวงกลมสีน้ำเงิน แทนทรงกลมของท้องฟ้า แต่งแต้มด้วยดาวสีขาวหลายดวง แถบที่คาดบนทรงกลมฟ้ามีข้อความเขียนเป็นอักษรโรมัน “Ordem e Progresso” ซึ่งหมายถึงความเป็นระเบียบและความก้าวหน้า (Order and Progress)
เมื่อเริ่มใช้ใน ค.ศ. 1889 (พ.ศ. 2432) ดาวในทรงกลมฟ้ามีจำนวน 20 ดวง แทนจำนวนรัฐในบราซิล กับดาวอีกหนึ่งดวงที่อยู่ใกล้ขั้วฟ้าใต้มากที่สุด แทนที่ตั้งของเมืองหลวง วาดตามตำแหน่งดาวบนท้องฟ้าที่เห็นได้จากเมืองรีโอเดจาเนโร ซึ่งเป็นเมืองหลวงในขณะนั้น ณ วันที่ 15 พ.ย.ปี ค.ศ. 1889 เวลา 08.30 น. ซึ่งเป็นวันสถาปนาสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล และเป็นเวลาที่กลุ่มดาวกางเขนใต้อยู่สูงสุด (เวลาที่ถูกต้องคือ 08.37 น.)
ธงชาติบราซิลในปัจจุบันได้เพิ่มดาวเป็น 27 ดวง ดาวทั้งหมดมาจากกลุ่มดาว 9 กลุ่ม (เฉพาะดาวดวงสว่าง) ดาวสว่างที่อยู่ในธง ได้แก่ ดาวโพรซิออนในกลุ่มดาวหมาเล็ก ดาวซิริอัสในกลุ่มดาวหมาใหญ่ ดาวคาโนปัสในกลุ่มดาวกระดูกงูเรือ ดาวรวงข้าวในกลุ่มดาวหญิงสาว ดาว 2 ดวง ในกลุ่มดาวงูไฮดรา ดาว 5 ดวง ในกลุ่มดาวกางเขนใต้ ดาวซิกมาออกแทนต์ในกลุ่มดาวออกแทนต์ ดาว 3 ดวง ในกลุ่มดาวสามเหลี่ยมใต้ และดาวแอนทาเรส หรือดาวปาริชาตในกลุ่มดาวแมงป่อง ดาวเหล่านี้ประเทศไทยเห็นได้เกือบทั้งหมด ยกเว้นดาวซิกมาออกแทนต์บริเวณขั้วฟ้าใต้ ซึ่งอยู่ใต้ขอบฟ้าตลอดเวลาเมื่อสังเกตจากประเทศไทย
กลุ่มดาวในธงชาติบราซิลกลับด้านกับท้องฟ้าจริง เนื่องจากสมมติให้มองทรงกลมฟ้าจากด้านนอก ซึ่งนิยมวาดให้เป็นเช่นนั้นในคริสต์ศตวรรษที่ 1618 ตำแหน่งดาวต่างๆ จึงกลับซ้ายขวา เช่น บนท้องฟ้าจริง ดาวซิริอัสอยู่ทางทิศตะวันตกด้านขวามือ ดาวแอนทาเรสอยู่ทางทิศตะวันออกด้านซ้ายมือ แต่ในธงชาติ ดาวซิริอัสอยู่ทางซ้ายมือ ดาวแอนทาเรสอยู่ทางขวามือ
ช่วงนี้ของปี ประเทศไทยสามารถเห็นกลุ่มดาวกางเขนใต้ได้ในเวลาหัวค่ำ โดยปรากฏอยู่ทางทิศใต้ เยื้องไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ และจะสังเกตได้จนถึงราว 3 ทุ่ม กลุ่มดาวนี้จึงเริ่มตกลับขอบฟ้า หรือถ้าจะดูให้ชัดต้องรอให้กลุ่มดาวกางเขนใต้อยู่สูงสุดบนท้องฟ้า ตรงกับช่วงเช้ามืดของฤดูหนาว หรือช่วงหัวค่ำของฤดูร้อนในประเทศไทย
ปรากฏการณ์ท้องฟ้า (613 ก.ค.)
ดาวพฤหัสบดีเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นจนสังเกตได้ยาก เวลาหัวค่ำจึงเหลือดาวอังคารกับดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์สว่างอยู่บนท้องฟ้า ดาวอังคารอยู่ทางทิศใต้ในกลุ่มดาวหญิงสาว ตกลับขอบฟ้าในเวลาเที่ยงคืน ดาวเสาร์อยู่ในกลุ่มดาวคันชั่ง ซึ่งอยู่ถัดจากกลุ่มดาวหญิงสาวไปทางทิศตะวันออก ดาวเสาร์ผ่านจุดสูงสุดบนท้องฟ้าทิศใต้ในเวลา 2 ทุ่ม และตกลับขอบฟ้าในเวลาตี 2
ดาวพุธกับดาวศุกร์อยู่บนท้องฟ้าทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืด ดาวศุกร์ขึ้นเวลาตี 4 ดาวพุธตามขึ้นมาในเวลาประมาณตี 4 ครึ่ง แต่อาจเริ่มสังเกตได้ราวตี 5 เมื่อดาวพุธเคลื่อนสูงห่างจากขอบฟ้ามากขึ้น อยู่ในทิศเดียวกับดาวศุกร์ แต่อยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้ามากกว่า วันที่ 13 ก.ค. ดาวพุธจะทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุด
สัปดาห์นี้เป็นครึ่งหลังของข้างขึ้น ดวงจันทร์มีส่วนสว่างเพิ่มขึ้นจนเต็มดวงในวันที่ 12 ก.ค. คืนวันที่ 6 ก.ค. ดวงจันทร์อยู่ใกล้ดาวอังคารและดาวรวงข้าว ห่างดาวอังคาร 6 องศา ห่างดาวรวงข้าว 3 องศา คืนวันที่ 7 และ 8 ก.ค. จะเห็นดวงจันทร์อยู่ใกล้ดาวเสาร์ ห่างกัน 57 องศา
เช้ามืดวันพฤหัสบดีที่ 10 ก.ค. สถานีอวกาศนานาชาติจะโคจรผ่านเหนือประเทศไทย เห็นเป็นดาวสว่างเคลื่อนที่บนท้องฟ้า กรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียงเริ่มเห็นเวลา 04.46 น. เมื่อสถานีอวกาศออกจากเงามืดของโลกที่มุมเงย 30 องศา ทางทิศใต้ จากนั้นเคลื่อนสูงขึ้นไปทางซ้าย ถึงจุดสูงสุดทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ในเวลา 04.47 น. ที่มุมเงย 60 องศา แล้วเคลื่อนต่ำลง สิ้นสุดทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือในเวลา 04.51 น.