ถึงคิวงบท้องถิ่น คสช.สกัดขุมทรัพย์หัวคิว
ในที่สุด คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ออกมาตรการควบคุมเงินอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์
ในที่สุด คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ออกมาตรการควบคุมเงินอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยส่ง พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสธ.ทหาร เข้ามาเป็นประธานในคณะกรรมการพิจารณาความเหมาะสมการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ 2558 จากเดิมที่ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการกระจายอำนาจ ซึ่งในห้วงเวลาปกตินายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รวมถึงมีตัวแทนจาก อปท.เป็นคณะกรรมการ
ที่ผ่านมางบประมาณก้อนนี้ถือเป็นเงินก้อนโต โดยกฎหมายกำหนดให้ 25% ของงบประมาณแผ่นดิน เป็นงบอุดหนุนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล ฯลฯ เพื่อให้ผู้บริหารสูงสุดของแต่ละท้องถิ่นนำไปบริหารจัดการตามที่เสนอมา
กฎหมายยังระบุเป้าหมายไว้อีกว่า ในอนาคตสัดส่วนของงบประมาณอุดหนุน อปท.จะต้องสูงเกิน 35% เพื่อให้การกระจายอำนาจสัมฤทธิผล ทว่าผ่านมา 15 ปีของการกระจายอำนาจ ยังสามารถกระจายเงินลงไปได้ในสัดส่วนเพียง 27% เท่านั้น
สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งก็เนื่องจากงบประมาณของ อปท.ถูกตั้งคำถามจากสังคมพอสมควรในแง่ของการเป็น “ขุมทรัพย์” ของนักการเมืองท้องถิ่น ทั้งนายก อบจ. นายกเทศบาล หรือนายก อบต. ในการจัดซื้อจัดจ้าง โครงการแต่ละครั้ง เพื่อให้มี “เงินทอน” เข้ากระเป๋าตัวเองในที่สุด
ในมุมมองของ คสช.ก็เช่นกัน อปท.ถูกมองว่าเป็นฐานสำหรับการเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งการเมืองสีเสื้อ และการเมืองระดับชาติ จนสร้างปัญหาความขัดแย้งวุ่นวายตามมา ขณะเดียวกันงบประมาณจาก อปท.ก็ถูกมองว่าเป็นกระเป๋าสตางค์สำหรับการชุมนุมเคลื่อนไหวทุกครั้งเช่นเดียวกัน
ข้อมูลที่ถูกส่งผ่านมายัง คสช.ระบุว่า ในงบประมาณอุดหนุนฯ อปท.ทั่วประเทศปีละ 2 แสนล้านบาทนั้น กว่า 30% หรือคิดเป็นเงิน 6 หมื่นล้านบาท ถูกหักเป็นค่าหัวคิวให้กับนักการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
ด้วยเหตุนี้เอง การจัดสรรคณะกรรมการพิจารณาเงินอุดหนุนใหม่ โดยให้เฉพาะทหารและตัวแทนข้าราชการเข้าไปนั่งเป็นกรรมการเพียงอย่างเดียว โดยไร้ตัวแทนจาก อปท.ที่เคยมีบทบาทสำคัญในการเสนองบประมาณก่อนหน้านี้ จึงสะท้อนความไม่ไว้วางใจของ คสช.ที่มีต่อ อปท.ได้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ ความไม่ไว้วางใจยังสะท้อนผ่านการ “แช่แข็ง” การเลือกตั้งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่ง คสช.สั่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งหยุดดำเนินการมานานกว่า 2 เดือนแล้ว ทั้งที่มีตำแหน่งผู้บริหาร อปท.ว่างนับ 100 ตำแหน่ง
อีกหนึ่งประเด็นการกระจายอำนาจที่ถูก คสช.เขี่ยทิ้ง ได้แก่ การยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค หรือยกเลิกแขนขาของกระทรวงมหาดไทยทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศและสมัชชาปฏิรูปประเทศ ชุดที่มี อานันท์ ปันยารชุน และ นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน เคยเสนอไว้ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ตอนที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังเป็นนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า การให้ประชาชนมีส่วนร่วมบริหารจัดการท้องถิ่นของตัวเองจะทำให้ความเหลื่อมล้ำในแต่ละพื้นที่ลดลง และจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการให้กระทรวงมหาดไทยเป็น “คุณพ่อรู้ดี” อยู่เพียงคนเดียว
ข้อเสนอนี้ยังสอดคล้องกับที่ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เคยเสนอ “จังหวัดจัดการตนเอง” มาโดยตลอด และยังตรงกับข้อเสนอของ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ที่ต้องการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ที่พูดไว้ตั้งแต่ 13 มิ.ย. นั้นชัดเจนว่าคัดค้านการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด โดยระบุว่ากลไกที่มีผู้ว่าฯ ถูกแต่งตั้งไปจากกระทรวงมหาดไทยนั้นเหมาะสมอยู่แล้ว เช่นเดียวกับความคิดเห็นของมือไม้ คสช.อย่าง ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่คัดค้านการเลือกตั้งผู้ว่าฯ โดยระบุว่าประเทศไทยยังต้องการการปกครองแบบภูมิภาค
สะท้อนให้เห็นว่า ทัศนคติของ คสช.และคนรอบข้างนั้น เห็นว่าการปกครองส่วนภูมิภาคที่นายกฯ สั่งกระทรวงมหาดไทย และมหาดไทยส่งออกผู้ว่าฯ ออกไปทำตามนโยบายส่วนกลาง ยังมีประโยชน์กับการบริหารประเทศมากกว่าการกระจายอำนาจ
ยิ่งในห้วงเวลาที่ คสช.ต้องการกระชับอำนาจของตัวเอง การบริหารราชการจากส่วนกลางลงไปยังพื้นที่ ผ่านผู้ว่าฯนายอำเภอกำนันผู้ใหญ่บ้าน ย่อมได้ผลกว่าการให้นายก อบจ. นายก อบต. มีอำนาจ เพราะฉะนั้นแทบจะปิดประตูไปได้เลยว่าการปฏิรูปที่จะผ่านกลไกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาปฏิรูป จะไม่มีการลดอำนาจส่วนกลางลง และเพิ่มอำนาจให้กับท้องถิ่นแน่นอน
ในแง่หนึ่ง อาจเป็นเรื่องดีที่ คสช.จะจัดการเงินอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้าที่เข้าทาง ไม่ตกเป็นเครื่องมือของทุนท้องถิ่นผูกขาด สืบทอดอำนาจรุ่นต่อรุ่น จนสร้างหายนะให้กับประชาชนชาวไทยต่อไป แต่ถ้าจะให้ดี ก็ควรรื้อโครงสร้างอำนาจที่ผูกขาดอยู่ที่กระทรวงมหาดไทยด้วย
หากมัวแต่สาละวนอยู่กับการจัดการรัฐธรรมนูญ และเพิ่มอำนาจให้ส่วนราชการมากขึ้น ก็จะเป็นการยึดอำนาจอีกครั้งหนึ่งที่ “เสียของ” เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่าอำนาจ ก็ยังคงตกอยู่กับหน่วยงานราชการส่วนกลาง ซึ่งผลัดเปลี่ยนเวียนตัวผู้ว่าฯนายอำเภอ 23 ปีครั้ง ตามนักการเมือง และขึ้นอยู่กับว่าเป็นคน “ของใคร”
ต้องถามกลับไปยัง คสช.ว่าการปฏิรูปที่กำลังผลักดันให้เกิดขึ้นนั้น ต้องการให้อำนาจอยู่กับประชาชน หรือต้องการให้อำนาจอยู่กับคนไม่กี่กลุ่มเหมือนเดิม