11 ดาวเคราะห์น้อยชื่อไทย

20 กรกฎาคม 2557

เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ผู้เขียนได้เคยเขียนถึงดาวเคราะห์น้อย 6 ดวง ที่มีชื่อตามเยาวชนไทย 6 คน

เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ผู้เขียนได้เคยเขียนถึงดาวเคราะห์น้อย 6 ดวง ที่มีชื่อตามเยาวชนไทย 6 คน ที่ได้รับรางวัลจากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ในงานอินเทลไอเซฟ ซึ่งจัดขึ้นในสหรัฐ ต่อมาใน พ.ศ. 2554 มีนักเรียนอีก 3 คน ที่ได้รับรางวัลจากงานเดียวกัน จึงได้ชื่อเป็นดาวเคราะห์น้อยอีก 3 ดวง นอกจากนั้นก่อนหน้านี้ก็เคยมีดาวเคราะห์น้อยที่ตั้งชื่อตามคนไทยมาแล้ว 2 คน

ดาวเคราะห์น้อยเป็นวัตถุที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ มีลักษณะปรากฏเป็นจุดแสงคล้ายดาว ซีรีสเป็นดาวเคราะห์น้อยที่ค้นพบเป็นดวงแรกเมื่อ ค.ศ. 1801 บัญชีดาวเคราะห์น้อยในปัจจุบัน นอกจากชื่อสามัญที่ใช้เรียกกันทั่วไปแล้ว ยังมีตัวเลขบอกถึงลำดับในบัญชีดาวเคราะห์น้อยด้วย

ชื่อสามัญของดาวเคราะห์น้อยที่ค้นพบในช่วงแรกๆ มักตั้งตามเทพเจ้าหรือตัวละครในเทพนิยาย เช่น ซีรีส (1 Ceres), พัลลาส (2 Pallas), จูโน (3 Juno), เวสตา (4 Vesta) เป็นต้น ต่อมาเมื่อพบดาวเคราะห์น้อยมากขึ้น จึงมีการตั้งชื่อตามผู้ค้นพบ บุคคลที่มีความสำคัญต่อผู้ค้นพบ เมืองอันเป็นที่ตั้งของหอดูดาวที่ค้นพบ ตัวละครในนิยายที่มีชื่อเสียง เช่น ศกุนตลา (1166 Sakuntala), บิลโบ (2991 Bilbo), ฮาล (9000 Hal) เป็นต้น

นักวิทยาศาสตร์และบุคคลที่มีชื่อเสียงทั้งในและนอกวงการดาราศาสตร์ก็ถูกนำไปตั้งชื่อดาวเคราะห์น้อย เช่น เคปเลอร์ (1134 Kepler), ไอน์สไตน์ (2001 Einstein), เลนนอน (4147 Lennon), ปีกัสโซ (4221 Picasso) ฯลฯ

ภายในระยะเวลา 10 ปี นับจากวันที่ค้นพบ ผู้ค้นพบมีสิทธิเสนอชื่อสามัญให้กับดาวเคราะห์น้อยที่ตัวเองพบ โดยส่งชื่อและเหตุผลของการตั้งชื่อไปให้คณะกรรมการตั้งชื่อวัตถุขนาดเล็กของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล อันประกอบด้วยนักดาราศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านดาวเคราะห์น้อยและดาวหางจากทั่วโลก เป็นผู้ตัดสินและอนุมัติ

11 ดาวเคราะห์น้อยชื่อไทย

 

นับถึงวันที่ 12 ก.ค. 2557 มีดาวเคราะห์น้อยที่พบแล้ว 645,148 ดวง มีชื่อเป็นตัวเลขในบัญชีดาวเคราะห์น้อยแล้ว 401,810 ดวง ในจำนวนนี้เป็นดาวเคราะห์น้อยที่ได้รับการตั้งชื่อสามัญแล้ว 18,702 ดวง

สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือเอ็มไอที ในสหรัฐ มีโครงการสำรวจท้องฟ้าเพื่อค้นหาวัตถุที่อาจเป็นภัยคุกคามโลกในชื่อโครงการลีเนียร์ สนับสนุนโดยกองทัพอากาศสหรัฐ และองค์การนาซา ทำให้ค้นพบดาวเคราะห์น้อยและดาวหางจำนวนมาก

เอ็มไอทีจึงก่อตั้งโครงการซีรีสคอนเนกชั่น (Ceres Connection) มีเป้าหมายส่งเสริมการศึกษาวิทยาศาสตร์ โดยคัดเลือกอาจารย์และนักเรียนในระดับเกรด 5-12 ซึ่งมีผลงานเด่นด้านวิทยาศาสตร์ตามที่โครงการกำหนด แล้วนำชื่อหรือนามสกุลของผู้ที่ได้รับเลือกไปเป็นชื่อของดาวเคราะห์น้อยดวงที่โครงการลีเนียร์ค้นพบ

อินเทลไอเซฟ (Intel International Science and Engineering Fair : Intel ISEF) เป็นงานประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในสหรัฐ มีนักเรียนจากทั่วโลกเข้าร่วม นอกจากเงินรางวัลที่มอบให้เป็นทุนการศึกษาแล้ว เอ็มไอทีจะเสนอชื่อของผู้ที่ได้รับรางวัลที่ 1 และที่ 2 ในระดับแกรนด์อวอร์ดไปยังสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล เพื่อนำไปตั้งเป็นชื่อดาวเคราะห์น้อย

ที่ผ่านมามีเยาวชนไทยได้รับรางวัลที่ 1 หรือที่ 2 จากงานอินเทลไอเซฟ และได้รับการเสนอชื่อไปตั้งเป็นชื่อดาวเคราะห์น้อยมาแล้ว 3 ครั้ง

พ.ศ. 2549 คณะนักเรียนจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ประกอบด้วย นายทนงศักร ชินอรุณชัย นายสุขสันต์ อิทธิปัญญานันท์ และนายครองรัฐ สุวรรณศรี ได้รับรางวัลที่ 2 สาขาพฤกษศาสตร์ จากโครงงานการแตกของฝักต้อยติ่ง

พ.ศ. 2550 คณะนักเรียนจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ประกอบด้วย นายกรวิชญ์ นิยมเสถียร น.ส.ณัฐนรี ศิริวัน และนายณฐพล สุโภไควณิช ได้รับรางวัลที่ 1 สาขาพฤกษศาสตร์ จากการศึกษารูปแบบการหุบของใบไมยราบ

พ.ศ. 2554 คณะนักเรียนจากโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จ.สุราษฎร์ธานี ประกอบด้วย นายพรวสุ พงศ์ธีระวรรณ น.ส.ธัญพิชชา พงศ์ชัยไพบูลย์ และ น.ส.อารดา สังขนิตย์ ได้รับรางวัลที่ 1 สาขาการจัดการสิ่งแวดล้อม จากการศึกษาการสกัดเจลาตินจากเกล็ดปลาและนำมาผลิตพลาสติกบรรจุอาหาร

นักเรียนทั้ง 9 คน จึงมีชื่อเป็นดาวเคราะห์น้อย ได้แก่ ชินอรุณชัย (21464 Chinaroonchai), อิทธิปัญญานันท์ (21540 Itthipanyanan), สุวรรณศรี (21632 Suwanasri), นิยมเสถียร (23308 Niyomsatian), ศิริวัน (23310 Siriwon), สุโภไควณิช (23313 Supokaivanich), พรวสุ (28418 Pornwasu), ธัญพิชชา (28419 Tanpitcha) และสังขนิตย์ (28425 Sungkanit)

นอกจากนี้ ยังมีคนไทยที่มีชื่อเป็นดาวเคราะห์น้อยมาแล้วก่อนหน้านั้น คือ นางกฤษฎาพร ฤทธิ์สมิตชัย เธอและสามีทำงานที่หอดูดาวไซดิงสปริงในออสเตรเลีย คุณกฤษฎาพรถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2547 จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ต่อมา โรเบิร์ต แมกนอต ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงาน จึงตั้งชื่อดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งที่เขาพบเพื่อระลึกถึงเธอ นั่นคือดาวเคราะห์น้อยกฤษฎาพร (7604 Kridsadaporn)

วาเนสซาเม (วาเนสซา วรรณกร นิโคลสัน) ลูกครึ่งไทยสิงคโปร์ ซึ่งเป็นนักไวโอลิน และนักกีฬาตัวแทนประเทศไทยในกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2014 ก็ได้รับเกียรติไปตั้งเป็นชื่อดาวเคราะห์น้อยวาเนสซาเม (10313 VanessaMae)

ดาวเคราะห์น้อย 9 ดวง ที่ตั้งชื่อตามเยาวชนไทย และดาวเคราะห์น้อยวาเนสซาเม โคจรอยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี ส่วนดาวเคราะห์น้อยกฤษฎาพร มีวงโคจรต่างออกไป จัดอยู่ในกลุ่มของวัตถุใกล้ดาวอังคาร คือมีส่วนหนึ่งของวงโคจรผ่านใกล้วงโคจรของดาวอังคาร และวงโคจรมีความรีสูงคล้ายดาวหาง เชื่อว่าเคยเป็นนิวเคลียสของดาวหางมาก่อน

ทั้งนี้ การค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตไม่พบชื่อและนามสกุลเป็นภาษาไทยของคุณกฤษฎาพรอยู่ด้วยกัน พบแต่นามสกุลที่สามารถอ่านออกเสียงได้ตรงกับอักษรโรมันที่แสดงในบัญชีดาวเคราะห์น้อย ผู้เขียนจึงสะกดชื่อตามคำที่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน และนามสกุลตามที่พบในอินเทอร์เน็ต หากคลาดเคลื่อน ผู้เขียนต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้

การตั้งชื่อดาวเคราะห์น้อยเป็นสิทธิของผู้ค้นพบ ดังนั้นหากองค์กรหรือหน่วยงานทางดาราศาสตร์ของไทยให้ความสำคัญ และพัฒนาศักยภาพจนสามารถค้นพบดาวเคราะห์น้อยดวงใหม่ได้ด้วยตัวเอง ก็มีความเป็นไปได้ที่ในอนาคตอาจมีดาวเคราะห์น้อยที่ตั้งชื่อเป็นภาษาไทยเพิ่มขึ้นอีก

ปรากฏการณ์ท้องฟ้า (2027 ก.ค.)

เวลาหัวค่ำมีดาวอังคารกับดาวเสาร์อยู่สูงบนท้องฟ้าด้านทิศใต้ ดาวอังคารอยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว ค่อนไปทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ดาวเสาร์อยู่ทางซ้ายมือของดาวอังคารในกลุ่มดาวคันชั่ง ดาวอังคารตกลับขอบฟ้าไปก่อนในเวลา 5 ทุ่มครึ่ง ดาวเสาร์ตกในเวลาตี 1

เวลาเช้ามืดมีดาวพุธกับดาวศุกร์อยู่ใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออก ตี 4 ครึ่ง เริ่มเห็นดาวศุกร์ขึ้นมาอยู่เหนือขอบฟ้า ดาวพุธตามขึ้นมาหลังจากนั้นไม่เกินครึ่งชั่วโมง โดยอยู่ในทิศเดียวกับดาวศุกร์ แต่อยู่ใกล้ขอบฟ้าและสว่างน้อยกว่าจนอาจสังเกตได้ยากกว่า

สัปดาห์นี้เป็นครึ่งหลังของข้างแรม จันทร์เสี้ยวอยู่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืด วันที่ 22 ก.ค. ดวงจันทร์ผ่านใกล้ดาวอัลเดบารันและกระจุกดาวลูกไก่ จากนั้นเช้ามืดวันที่ 25 ก.ค. จะเห็นจันทร์เสี้ยว ดาวศุกร์ และดาวพุธ เรียงกันเป็นสามเหลี่ยม ก่อนจันทร์ดับในวันที่ 27 ก.ค.

Thailand Web Stat